xs
xsm
sm
md
lg

เซเลนสกีเย้ยทัพรัสเซียล้มละลายต้องหันพึ่งโดรนอิหร่าน UN เตรียมถกเตหะรานละเมิดคว่ำบาตรหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การที่รัสเซียต้องพึ่งพิงโดรนที่ผลิตโดยอิหร่าน สำหรับโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในรัสเซีย เผยให้เห็นว่ามอสโกกำลังสิ้นเนื้อประดาตัวทั้งในแง่การเมืองและการทหาร จากความเห็นของโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนในวันอังคาร (18 ต.ค.) ในขณะเดียวกัน ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เตรียมหยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าหารือว่าอิหร่านละเมิดมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่ ท่ามกลางคำกล่าวหาพวกเขาจัดหาโดรนมอบให้แก่รัสเซีย

เซเลนสกี กล่าวว่า การใช้อาวุธของอิหร่านเท่ากับเป็นการยอมรับความล้มเหลวของมอสโก หลังทุ่มงบประมาณในภาคอุตสาหกรรมกลาโหมมานานหลายทศวรรษ ทั้งในยุคสหภาพโซเวียต และหลังสหภาพโซเวียต

ยูเครนอ้างว่าการโจมตีรอบล่าสุดของรัสเซียต่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของพวกเขา เป็นการใช้โดรนกามิกาเซ ชาเฮด-136 (Shahed-136) ที่ผลิตโดยอิหร่าน

อิหร่านปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้จัดหาอากาศยานไร้คนขับแก่รัสเซีย คำกล่าวอ้างที่ทางวอชิงตันตอบโต้ว่าไม่เป็นความจริง ในขณะที่ทางเครมลินระบุในวันอังคาร (18 ต.ค.) ไม่มีข้อมูลว่ามีการใช้โดรนกามิกาเซของอิหร่านหรือไม่

"เรามองว่า ข้อเท็จริงที่ว่ารัสเซียร้องขอความช่วยเหลือจากอิหร่าน คือการยอมรับสารภาพของเครมลิน ว่า พวกเขากำลังล้มละลายทั้งในแง่การทหารและการเมือง" เซเลนสกีกล่าวปราศรัยผ่านวิดีโอในช่วงค่ำ "นานหลายทศวรรษ พวกเขาทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในอุตสาหกรรมด้านการทหารของพวกเขาเอง และในท้ายที่สุด พวกเขาต้องก้มโค้งให้เตหะราน เพื่อให้ได้มาซึ่งโดรนและขีปนาวุธธรรมดาๆ"

เซเลนสกี ระบุว่า การใช้อาวุธดังกล่าวอาจก่อความหวังและภาพลวงตาแก่บรรดาผู้นำรัสเซีย แต่มันจะยังคงไม่ช่วยอะไร แม้ก่อนหน้านี้เผยว่าปฏิบัติการโจมตีเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้สถานีไฟฟ้าของยูเครนราวๆ 30% ต้องหยุดปฏิบัติการ "มันจะโชว์ให้โลกเห็นอีกครั้งว่ารัสเซียมุ่งหน้าสู่ความพ่ายแพ้และพยายามลากอีกหนึ่งผู้สมคบคิดของพวกเขาเข้าสู่ความสยดสยอง"

คำกล่าวเตือนของ เซเลนสกี มีขึ้นในขณะที่ทางสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส มีแผนหยิบยกข้อกล่าวหาอิหร่านโอนย้ายอาวุธแก่รัสเซีย เข้าพูดคุยหารือในที่ประชุมลับของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันพุธ (19 ต.ค.) จากการเปิดเผยของคณะผู้แทนทูต หลังจากยูเครนระบุว่าการครอบครองโดรนอิหร่านของรัสเซียเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ผู้แทนทูตซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามระบุว่าทั้ง 3 ชาติ ซึ่งเชื่อว่าการจัดหาดังกล่าวเป็นการละเมิดมติ 2231 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แจ้งกับเพื่อนร่วมสมาชิกคณะมนตรีฯ ว่าพวกเขาจะขอให้เจ้าหน้าที่สหประชาชาติรายงานสรุปให้ชาติสมาชิกรับฟังในประเด็นดังกล่าว

อีกด้านหนึ่ง ยูเครนได้เชิญคณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติเข้าตรวจสอบในสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าซากที่ถูกยิงตกโดรนที่มีแหล่งที่มาจากอิหร่าน ที่ทางรัสเซียใช้โจมตีเป้าหมายต่างๆ ของยูเครน ซึ่งถือเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ

รัสเซียส่งโดรนกามิกาเซหลายสิบลำโจมตีเป้าหมายโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของยูเครนเมื่อวันจันทร์ (17 ต.ค.) และเข่นฆ่าชีวิตผู้คนไป 5 รายในกรุงเคียฟ

ยูเครนอ้างว่าโดรนเหล่านั้นคือโดรนโจมตี ชาเฮด-136 ที่ผลิตโดยอิหร่าน และในวันอังคาร (18 ต.ค.) เคียฟประกาศตัดความสัมพันธ์กับเตหะราน สืบเนื่องจากกรณีนี้

อิหร่านปฏิเสธว่าไม่ได้จัดหาโดรนให้แก่รัสเซีย ส่วนเครมลินไม่ขอแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม ทางวอชิงตันบอกว่าคำปฏิเสธของทางเตหะรานนั้นเป็นการโกหก

"เราอยากเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นเดินทางเยือนยูเครน เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อตรวจสอบอากาศยานไร้คนขับที่มีแหล่งที่มาจากอิหร่านที่เราเก็บกู้มาได้ เพื่อส่งเสริมการบังคับใช้มติ 2231 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ" ผู้แทนทูตยูเครนประจำสหประชาชาติระบุในจดหมายที่แจกจ่ายถึงชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันอังคาร (18 ต.ค.)

จดหมายลงวันที่ 14 ตุลาคม อ้างว่าในช่วงปลายเดือนสิงหาคม โดรนชาเฮดและโดรนโมฮาเญร์ ถูกส่งมอบไปยังอิหร่าน ในสิ่งที่ทางยูเครนและบรรดามหาอำนาจตะวันตกมองว่าเป็นการละเมิดมติ 2231 ซึ่งให้การรับรองข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015

ข้อตกลงระหว่างอิหร่านกับ 6 ชาติมหาอำนาจ จำกัดกิจกรรมเสริมสมรรถนะยูเรเนียมของเตหะราน ทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นที่อิหร่านจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ภายใต้มติดังกล่าว ได้กำหนดมาตรการปิดล้อมด้านอาวุธทั่วไป (conventional arms embargo) กับอิหร่าน จนถึงเดือนธันวาคม 2020 แม้มีความพยายามของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนำวอชิงตันถอนตัวจากข้อตกลงในปี 2018 ในการขยายกรอบเวลามาตรการปิดล้อมทางอาวุธ แต่ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติปฏิเสธ และอนุญาตให้อิหร่านกลับมาส่งออกอาวุธได้

อย่างไรก็ตาม ทางยูเครน เช่นเดียวกับสหรัฐฯ โต้แย้งว่ามติดังกล่าวยังประกอบด้วยข้อจำกัดต่อขีปนาวุธและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะไม่หมดอายุจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคม 2023 และยังคงสามารถปิดล้อมการส่งออกและการจัดซื้อระบบอาวุธล้ำสมัย อย่างเช่นโดรน

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น