xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน จับมือเอกชนพัฒนาแพลตฟอร์มควบคุมและระบบจัดการจราจรทางอากาศ ให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน จับมือเอกชนพัฒนาแพลตฟอร์มควบคุมและระบบจัดการจราจรทางอากาศ ให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) อย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (18 ต.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานทุกด้าน ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาแพลตฟอร์มควบคุม และระบบจัดการจราจรทางอากาศ โดยกระทรวงคมนาคม (บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนำร่องด้านการจัดการจราจรทางอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท AI and Robotics Ventures จำกัด (ARV) เพื่อพัฒนาและทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบแอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มควบคุมอากาศยานไร้คนขับ (UAS Flight Operations and Fleet Management) เข้ากับระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System Traffic Management: UTM) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของระบบ UTM Ecosystem ให้มีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานของผู้ใช้บริการห้วงอากาศทั้งหมด และมีความปลอดภัย โดยใช้โครงการวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่นำร่องและจะขยายผลการใช้งานไปยังพื้นที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) อย่างต่อเนื่อง และรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาลยังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและมุ่งสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะอีกด้วย เช่น การเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานร่วมอาเซียนด้านดิจิทัล ภายใต้ ADGSOM และ ATRC ประจำปี 2565 โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือการผลักดันผลลัพธ์สำคัญของการประชุมกรอบอาเซียนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการติดตามผลการดำเนินโครงการตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 (ASEAN Digital Master Plan 2025) และการพิจารณารายละเอียดข้อเสนอโครงการสำหรับดำเนินการในปี 2566 ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย เท่าเทียม ทั่วถึง และยั่งยืน การเตรียมพร้อมของภูมิภาคอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่ครอบคลุม ตลอดจนการหารือแผนงานความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาปี 2566 เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น