(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
How Biden is and isn’t responding to Putin’s nuclear threat
By CHRISTOPH BLUTH
08/10/2022
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ แถลงว่า เขาไม่ต้องการเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมาจากกรณีของยูเครน แต่พร้อมกันนั้นเขาก็แสดงการรับรู้ว่า ภัยอันตรายของความวิบัติหายนะจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์อาจจะกำลังขยับใกล้เข้ามาแล้ว
โจ ไบเดน เพิ่งกล่าวเตือนว่าหากรัสเซียใช้พวกอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (tactical nuclear weapons) ใดๆ ก็ตามในยูเครน มันก็อาจนำไปสู่ “วันสิ้นโลก” (Armageddon) [1] ขณะไปพูดในงานปราศรัยหาเงินทุนสนับสนุนพรรคเดโมแครตงานหนึ่งซึ่งจัดขึ้นในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า วิกฤตในเวลานี้คือการที่โลกเข้าไปใกล้ความวิบัติหายนะทางนิวเคลียร์อย่างที่สุดในรอบระยะเวลา 60 ปี
“เราไม่ได้เคยเผชิญกับลู่ทางโอกาสที่จะเกิดวันโลกาวินาศเช่นนี้เลย นับตั้งแต่ยุคเคนเนดีและวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาเป็นต้นมา” เขากล่าว ขณะพูดถึงเรื่องที่ ปูติน ข่มขู่ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะหันไปพึ่งพิงคลังแสงนิวเคลียร์ของรัสเซีย ถ้าเขารู้สึกว่ารัสเซียตกอยู่ใต้การคุกคาม ไบเดน ระบุว่า “เรากำลังเจอกับชายคนหนึ่งที่ผมรู้จักเป็นอย่างดีทีเดียว เขาไม่ได้กำลังล้อเล่นเมื่อเขาพูดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี หรืออาวุธชีวภาพหรืออาวุธเคมี เนื่องจากฝ่ายทหารของเขานั้น คุณอาจจะพูดได้ว่า กำลังมีผลงานซึ่งต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมากๆ”
ความเป็นไปได้ที่รัสเซียนำเอาพวกอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงมาใช้ เป็นเงาดำทะมึนลอยอยู่เหนือการสู้รบขัดแย้งคราวนี้เรื่อยมา นับตั้งแต่ที่กองทหารรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ [2] หลายๆ ครั้งทีเดียว –ครั้งหลังสุดคือหลังจากรัสเซียผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครน และประกาศว่าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย— คณะผู้นำเครมลินได้แสดงท่าทีอย่างอ้อมๆ แต่หนักแน่นมากว่า พวกเขาจะใช้ “เครื่องมือทุกอย่างที่สามารถนำมาใช้ได้” ซึ่งอยู่ในการครอบครองของพวกเขา เพื่อการพิทักษ์ปกป้องพวกเขาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อคัดค้านต่อต้านการเข้าแทรกแซงใดๆ จากนาโต้
การแสดงท่าทีเช่นนี้สอดคล้องกับส่วนประกอบหลักประการหนึ่งของทฤษฎีว่าด้วยการป้องปรามทางนิวเคลียร์ (nuclear deterrence) [3] –นั่นคือ การใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อเป็นเครื่องมือข่มขู่ โดยในกรณีนี้ก็คือการทำให้นาโต้เบี่ยงเบนหันเหออกไปจากการเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันด้วย ทั้งนี้ เมื่อตอนที่ ไบเดน ประกาศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เขาจะไม่เป็นฝ่ายเริ่มต้น “สงครามโลกครั้งที่ 3” สืบเนื่องจากยูเครน [4] นี่ก็ย่อมเป็นการระบุอ้างอิงอย่างชัดเจนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมา
แต่ถึงแม้รัสเซียสามารถป้องปรามไม่ให้นาโต้ เข้ามาแทรกแซง พวกเขาก็ยังคงไม่สามารถหยุดยั้งบรรดาประเทศตะวันตกให้ประกาศใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอย่างดุเดือดรุนแรง ตลอดจนการจัดหาจัดส่งพวกอาวุธก้าวหน้าทันสมัย การจัดฝึกอบรมทหาร และการจัดหาข่าวรองให้แก่ยูเครน
เวลานี้ จากการที่รัสเซียประสบความเพลี่ยงพล้ำครั้งใหญ่ในสนามรบหลายๆ ครั้งต่อเนื่องกัน จนทำให้ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากประกาศว่ามอสโกกำลังพ่ายแพ้ในสงครามคราวนี้ มันก็ปรากฏสัญญาณต่างๆ หลายหลากซึ่งบ่งชี้ว่ารัสเซียอาจจะนำเอาพวกอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีที่มีฤทธิ์เดชทำลายล้างในระดับต่ำมาใช้ เพื่อพลิกผันการสู้รบขัดแย้งนี้ให้กลับมาอยู่ในทิศทางที่ตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ
แม้กระทั่งขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กำลังลงนามในเอกสารอย่างเป็นทางการเพื่อผนวกเอาแคว้นลูฮันสก์ (Luhansk) โดเนตสก์ (Donetsk) เคียร์ซอน (Kherson) และซาโปนิซเซีย (Zaporizhzhia) เข้าไปอยู่ในสหพันธรัฐรัสเซีย กองทหารยูเครนก็ยังกำลังได้เปรียบเป็นฝ่ายกดดันให้ทหารรัสเซียต้องล่าถอยในการรุกโต้กลับอย่างรวดเร็วในภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งสามารถชิงเอาดินแดนผืนสำคัญๆ กลับมา รวมทั้งจับและสังหารทหารรัสเซียไปหลายพันคน
มีรายงานข่าวเมื่อไม่นานมานี้ [5] ว่า รัสเซียได้เคลื่อนย้ายเอารถไฟขบวนหนึ่งไปที่ชายแดนยูเครน โดยรถไฟขบวนนี้บรรทุกเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ สำหรับกรมหลักที่ 12 (the 12th main directorate) ของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านคลังอาวุธนิวเคลียร์ เวลานี้ยังไม่ปรากฏรายละเอียดที่ระบุอย่างเจาะจงออกมาว่ารถไฟขบวนนี้บรรทุกอะไรบ้าง ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือสะพัดว่ารัสเซียวางแผนจัดการทดสอบทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ [6] –ถึงแม้เรื่องนี้ถูกเครมลินปฏิเสธไปแล้วว่าไม่เป็นความจริง
รัมซัน คาดีรอฟ (Ramzan Kadyrov) ผู้นำชาวเชชเนียซึ่งเป็นคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อเครมลิน ได้ออกมากล่าววิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับการดำเนินสงครามในยูเครนของทางรัสเซีย ซึ่งเขาเชื่อว่ายังไม่ได้ไปไกลเพียงพอ โดยเขาบอกว่า “ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น ควรที่จะต้องใช้มาตรการที่แรงๆ ยิ่งกว่านี้ ตั้งแต่การประกาศใช้กฎอัยการศึกตามพวกพื้นที่ชายแดน ไปจนถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์เกรดต่ำ” พร้อมกับเสนอแนะว่าควรนำเอาอาวุธดังกล่าวออกมาใช้ [7]
วารสาร “The Bulletin of Atomic Scientists” (จดหมายข่าวของนักวิทยาศาสตร์ปรมาณู) ได้เสนอหนทางต่างๆ หลายหลากที่รัสเซียอาจจะนำเอาพวกอาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่ถึงระดับอาวุธทางยุทธศาสตร์ มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในทางสาธิต [8] นี่หมายถึงว่าไม่ได้มีการเล็งเป้าหมายเจาะจงไปยังสิ่งใดๆ และไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายขึ้นมา แต่เพื่อมุ่งก่อผลในทางบีบบังคับให้ ยูเครน และ/หรือฝ่ายตะวันตกต้องยอมรับสถานการณ์ชนิดซึ่งเป็นที่ยอมรับได้แก่ฝ่ายรัสเซีย หรือเพื่อมุ่งหันเหพลิกผันกระแสที่กำลังปรากฏอยู่ในสถานการณ์ทางสมรภูมิ
นี่อาจหมายถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์แบบติดหัวรบหลายหัว แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดความกังวลใจกันมากที่สุดก็คือเรื่องที่วารสารฉบับนี้ชี้เอาไว้เกี่ยวกับระดับความป่าเถื่อนและเจตนารมณ์ในการทำลายล้างพื้นที่ชุมชนเมืองต่างๆ ของทางรัสเซีย โดยวารสารนี้เขียนเอาไว้ดังนี้ “ยังเป็นสิ่งที่สามารถขบคิดได้เช่นกันว่า พวกเขาอาจจะใช้เพื่อเล่นงานตัวเมืองขนาดใหญ่สักแห่งหนึ่ง ในฐานะที่เป็นรูปแบบของการบีบบังคับระดับสูงสุด”
“การฝึกซ้อมเล่นเกมสงคราม” หนทางตอบโต้รับมือประการหนึ่งของสหรัฐฯ
รัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) ของสหรัฐฯ ออกมาแสดงความเห็นเมื่อไม่นานมานี้ว่า ปูตินอาจจะไม่ได้กำลังบลัฟฟ์หรอกนะในการที่เขาข่มขู่จะหันไปพึ่งพิงคลังแสงนิวเคลียร์ของรัสเซีย พร้อมกันนั้นเขาก็เปิดเผยว่าสหรัฐฯ “กำลังฝึกซ้อมเล่นวอร์เกมกันอยู่” ว่าเราควรจะตอบโต้กันอย่างไร “มันไม่มีอะไรทัดทานมิสเตอร์ปูตินเอาเสียเลย” เขาบอกกับโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น “เขาตัดสินใจอย่างไม่มีความรับผิดชอบมาแล้วในการเข้ารุกรานยูเครน เขาน่ะสามารถที่จะตัดสินใจ (อย่างไม่รับผิดชอบ) อีกครั้งหนึ่งก็ได้”
แนวทางอย่างเป็นทางการของทำเนียบขาวมีอยู่ว่า รัสเซียมีความเสี่ยงที่ถ้าพวกเขาใช้อาวุธนิวเคลียร์ใดๆ ก็ตามที ก็จะเจอการตอบโต้ชนิดที่ก่อผลต่อเนื่องอันสร้างความวิบัติหายนะ โดยเป็นที่ขบคิดกันอยู่ทั่วไปว่า การตอบโต้นี้จะไม่ไปถึงขนาดการใช้คลังแสงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ หากแต่เป็นการใช้อาวุธธรรมดา (conventional weapons ซึ่งก็คืออาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์) ทั้งหมดทั้งสิ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเข้าโจมตีเป้าหมายสำคัญๆ ต่างๆ
เดวิด เพเตรอัส (David Petreaus) อดีตผู้บัญชาการกองทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน เสนอแนะเอาไว้ว่า สหรัฐฯ ควรทำลายล้างอย่างเป็นระบบต่อกองกำลังอาวุธแบบธรรมดาทั้งหมดทั้งสิ้นของรัสเซียในยูเครน รวมทั้งจมทำลายกองเรือทะเลดำ (Black Sea fleet) ของแดนหมีขาว [9]
การที่รัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นยังไม่จำเป็นว่าจะถูกถือเป็นการละเมิดมาตรา 5 ของสนธิสัญญาป้องแอตแลนกติกเหนือ (นาโต้) เสมอไป โดยที่มาตราดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า เมื่อมีศัตรูโจมตีใส่รัฐสมาชิกรายหนึ่งรายใด จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นการโจมตีรัฐสมาชิกทั้งหมด และนาโต้ต้องตอบโต้รับมือในลักษณะของการป้องกันทางทหารแบบรวมหมู่ร่วมมือกัน แต่ เพเทรอัส บอกว่าสามารถระบุอ้างอิงว่ามันเข้าข่ายเป็นกรณีละเมิดมาตรา 5 ได้ ถ้าหากการใช้หัวรบนิวเคลียร์ดังกล่าวมีการแผ่รังสีลุกลามออกไปปนเปื้อนรัฐสมาชิกนาโต้รายใดรายหนึ่ง โดยนี่สามารถตีความว่ามันคือการรุกราน
“ขอย้ำอีกครั้งว่า คุณน่ะไม่ได้ต้องการเข้าไปสู่การบานปลายขยายตัวทางนิวเคลียร์หรอกนะ แต่คุณจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่า นี่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้เลยไม่ว่าในหนทางใดๆ ก็ตาม” เพเทรอัส บอก
สำหรับ เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในเวลาที่เขาสนทนากับสื่อมวลชนทั้งของสหรัฐฯ และของระหว่างประเทศ เขาใช้ท่าทีระมัดระวังไม่ระบุออกมาอย่างชัดเจน [10] ว่า “ผลต่อเนื่องในทางวิบัติหายนะ” ที่จะเกิดขึ้นหากรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์จะได้แก่อะไรบ้าง แต่เน้นย้ำว่าในเวลาที่รับมือกับเครมลิน คณะบริหารไบเดนมีความชัดเจนในเรื่องที่ว่าการตอบโต้ของสหรัฐฯ จะเป็นไปอย่างแข็งขันขนาดไหน โดยเขากล่าวเอาไว้ดังนี้:
“เราได้สื่อสารกับฝ่ายรัสเซียว่าผลต่อเนื่องต่างๆ เหล่านี้จะได้แก่อะไร แต่เรายังคงใช้ความระมัดระวังในเวลาที่เราพูดถึงเรื่องนี้ต่อสาธารณชน เพราะจากทัศนะมุมมองของเรานั้น เราต้องการที่จะวางเป็นหลักการเอาไว้ข้อหนึ่งว่า มันจะเป็นผลต่อเนื่องที่ก่อให้เกิดความวิบัติหายนะ แต่ไม่ใช่เป็นการเข้าไปอยู่ในเกมชนิดที่พูดกันเป็นสำนวนโวหารว่า ตาต่อตาฟันต่อฟัน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2022/09/25/us/politics/us-russia-nuclear.html)
สำหรับในตอนนี้ นโยบายของสหรัฐฯ ยังคงเป็นการด้อยค่าความสำคัญของการที่รัสเซียพูดจาข่มขู่คุกคามเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ขณะเดียวกับที่พูดออกมาชัดๆ ว่าจะมีผลต่อเนื่องที่เข้มข้นติดตามมา คณะบริหารไบเดนกำลังมีความมั่นอกมั่นใจว่า “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” เช่นนี้ คือวิธีดีที่สุดในการป้องปรามรัสเซียไม่ให้เดินไปตามเส้นทางแห่งนิวเคลียร์ สำหรับพวกเรานั้นก็ได้แต่หวังว่าพวกเขาคาดคิดได้อย่างถูกต้อง
คริสโตเฟอร์ บลูธ เป็นศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์และความมั่นคงระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด สหราชอาณาจักร
(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/ukraine-war-how-the-biden-administration-is-responding-to-putins-threats-to-go-nuclear-191889)
เชิงอรรถ
[1] https://www.theguardian.com/us-news/2022/oct/07/biden-warns-world-would-face-armageddon-if-putin-uses-a-tactical-nuclear-weapon-in-ukraine
[2] https://theconversation.com/ukraine-war-putin-calls-up-more-troops-and-threatens-nuclear-option-in-a-speech-which-ups-the-ante-but-shows-russias-weakness-191044
[3] https://www.nato.int/docu/review/articles/2020/06/08/nuclear-deterrence-today/index.html
[4] https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-11/biden-says-he-d-fight-world-war-iii-for-nato-but-not-for-ukraine?leadSource=uverify%20wall
[5] https://www.thetimes.co.uk/article/putin-orders-nuclear-military-train-to-ukraine-front-line-tswzv2v50
[6] https://www.reuters.com/world/europe/kremlin-dismisses-uk-media-report-russian-nuclear-test-2022-10-04/
[7] https://www.reuters.com/world/europe/russia-says-its-troops-left-lyman-avoid-encirclement-2022-10-01/
[8] https://thebulletin.org/2022/05/potential-us-responses-to-the-russian-use-of-non-strategic-nuclear-weapons-in-ukraine/
[9] https://www.theguardian.com/world/2022/oct/02/us-russia-putin-ukraine-war-david-petraeus
[10] https://www.nytimes.com/2022/09/25/us/politics/us-russia-nuclear.html