xs
xsm
sm
md
lg

วอชิงตันปรับเข้าสู่โหมด ‘ควบคุมความเสียหาย’ แล้ว ขณะที่กำลังของยูเครนในการต้านทานรัสเซียอ่อนโทรมลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อูเว พาร์พาร์ต และ เดวิด พี. โกลด์แมน ***

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

DC shifts to damage control as Ukraine defense fades
By UWE PARPART AND DAVID P. GOLDMAN
14/06/2022

ผลลัพธ์ที่อาจเป็นไปได้ประการหนึ่ง ได้แก่ ข้อตกลงสงบศึกในแบบที่ทำกันในเกาหลี กล่าวคือ มีการขีดเส้นสงบศึกแบ่งดินแดนออกเป็นยูเครนตะวันออกและยูเครนตะวันตก ทว่าไม่มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพ

หลังจากป่าวประกาศออกมาหลายครั้งหลายหนว่า รัสเซียจะบอบช้ำทรุดโทรมจนหลุดออกจากการเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งของโลกกันทีเดียวภายหลังสงครามยูเครน มาถึงเวลานี้ทั้งประธานาธิบดีไบเดน และพวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของเขาต้องหันกลับมาโฟกัสกันที่เรื่องการควบคุมความเสียหายที่เกิดขึ้นมา –ด้วยการเตือนยูเครนผ่านพวกตัวแทนทั้งหลายว่า เคียฟจะต้องยอมเสียสละดินแดนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการหยุดยิง

ขณะไปปราศรัย ณ งานระดมทุนของคณะกรรมการแห่งชาติพรรคเดโมแครต (Democratic National Committee fundraiser) งานหนึ่งในลอสแองเจลิส เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ไบเดนได้ประณาม โวโลดีมีร์ เซเลนสกี โดยกล่าวหาว่าไม่ยอมฟังเสียงเตือนหลายๆ ครั้งของฝ่ายอเมริกันเรื่องที่รัสเซียกำลังจะรุกราน ทั้งนี้ ไบเดนพูดเอาไว้อย่างนี้:

แล้วก้อ พี่น้องเพื่อนพ้องทั้งหลาย เรื่องแบบนี้มันไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผมรู้ดีว่าผู้คนเยอะแยะเลยในตอนนั้นที่คิดว่าผมอาจจะเว่อไปหน่อย แต่ผมนะรู้ดี –แล้วเราก็มีข้อมูลที่รองรับยืนยันด้วย –ว่า เขา (ปูติน) กำลังจะบุกเข้าไป ข้ามพรมแดนเข้าไป นี่ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย แต่ เซเลนสกีนั้นไม่ต้องการได้ยินเรื่องนี้ รวมทั้งผู้คนเยอะแยะก็ไม่ต้องการได้ยินเหมือนกัน ผมเข้าใจนะว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ต้องการได้ยินเรื่องนี้ แต่แล้วเขาก็บุกเข้าไปจนได้

(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2022/06/11/remarks-by-president-biden-at-a-reception-for-the-democratic-national-committee/)

พวกเจ้าหน้าที่ยูเครนพากันโต้แย้งอย่างโกรธเกรี้ยวเกี่ยวกับเวอร์ชันเหตุการณ์ที่ไบเดนกล่าวอ้างมานี้ ทว่าความลับที่พยายามเก็บงำกันไว้ได้ถูกเปิดเผยออกมาเสียแล้ว

นี่ช่างตรงกันข้ามกันเลยจากเมื่อวันที่ 25 เมษายน ตอนที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ไปประกาศในกรุงเคียฟว่า สหรัฐฯต้องการที่จะทำลายศักยภาพความสามารถของรัสเซียในการทำสงครามได้ในขนาดขอบเขตเช่นนี้ โดยบอกว่า: “เราต้องการที่จะเห็นรัสเซียอ่อนแอลงจนถึงระดับที่ว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะกระทำสิ่งต่างๆ อย่างชนิดที่พวกเขาได้กระทำไปในการเข้ารุกรานยูเครน ดังนั้น เรื่องจึงมีอยู่ว่า เวลานี้พวกเขาได้สูญเสียสมรรถนะทางทหารไปเยอะแยะแล้ว รวมทั้งกองทหารเยอะแยะด้วย นี่พูดกันตรงๆ เลยนะ และเราก็ต้องการที่จะเห็นต่อไปว่า พวกเขาจะไม่มีสมรรถนะที่จะผลิตซ้ำสมรรถนะเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ได้ในเวลาที่รวดเร็วมากๆ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cnn.com/2022/04/25/politics/blinken-austin-kyiv-ukraine-zelensky-meeting/index.html)

เมื่อสักหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ไบเดนยังทวีตด้วยข้อความว่า “เศรษฐกิจของรัสเซียกำลังอยู่ในเส้นทางที่จะถูกหั่นลดลงไปครึ่งหนึ่ง พวกเขาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 11 ของโลกในช่วงก่อนการรุกรานคราวนี้ – แต่อีกไม่ช้าไม่นาน พวกเขาจะอยู่ไม่ได้แม้กระทั่งในระดับท็อป 20”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/potus/status/1507842574865866763)

แต่พอถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ปืนใหญ่และจรวดของรัสเซียได้เริ่มบดบี้ลดทอนกองกำลังฝ่ายยูเครนในภูมิภาคดอนบาส คุกคามที่จะโอบล้อมกองกำลังยูเครนให้ติดกับอยู่ในพื้นที่รอบๆเมืองซีวีโรโดเนตสก์ –เวลานี้เรียกได้ว่าทั้งหมดอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายรัสเซียแล้ว พวกผู้สังเกตการณ์ของเพนตากอนออกมาชี้ว่า ฝ่ายรัสเซียได้เรียนรู้วิธีการที่จะประสานพลังอำนาจของ พวกอาวุธรัศมีทำการไกลยิ่งขึ้นอย่างปืนใหญ่และจรวด กองทหารราบ กองทหารยานเกราะ และกำลังทางอากาศแล้ว ขณะที่ฝ่ายยูเครนเริ่มยอมรับว่าสูญเสียหนัก มีกำลังทหารถูกสังหารไปในขณะปฏิบัติการสู้รบในอัตรา 100-200 คนต่อวัน

สัญญาณอย่างแรกสุดที่บ่งบอกว่า วอชิงตันปรับเปลี่ยนไปสู่โหมดควบคุมความเสียหาย ออกมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ในรายงานข่าวของนิวยอร์กโพสต์ โดยผู้สื่อข่าว จูเลียน บาร์นส์ (Julian Barnes) ซึ่งอ้างอิงคำพูดของพวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ ที่พากันบ่นพึมว่า “ทางสำนักงานข่าวกรองอเมริกันทั้งหลายมีข้อมูลข่าวสารอย่างที่พวกเขาปรารถนา เกี่ยวกับการปฏิบัติการสู้รบของยูเครน น้อยยิ่งกว่าที่พวกเขาได้ภาพซึ่งชัดเจนยิ่งกว่าเป็นไหนๆ เกี่ยวกับการทหารของรัสเซีย การปฏิบัติการตามแผนการที่วางไว้ของพวกเขา ตลอดจนความสำเร็จและความล้มเหลวของพวกเขา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2022/06/08/us/politics/ukraine-war-us-intelligence.html)

นี่เป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ สหรัฐฯ นั้นมีภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งเผยให้เห็นรายละเอียดทุกๆ อย่างของการปฏิบัติการในภาคพื้นดิน รวมทั้งยังมีที่ปรึกษาในภาคพื้นดินจำนวน 150 คนอีกด้วย ตามตัวเลข ณ เดือนมกราคม ความล้มเหลวไม่สามารถประเมินสถานการณ์ทางภาคพื้นดินในยูเครนย่อมเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงการไร้ความสามารถในระดับน่าแตกตื่นตะลึงงันในแวดวงประชาคมข่าวกรองอมริกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สามารถตัดทิ้งไปได้ว่าไม่ได้มีอยู่จริง
(ดูเพิ่มเติมเรื่องที่ปรึกษาชาวอเมริกันได้ที่ https://www.nytimes.com/2021/12/09/world/europe/ukraine-military-russia-invasion.html)

เบธ แซนเนอร์ (Beth Sanner) อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซีไอเอ บอกกับนิวยอร์กไทมส์ว่า “เรารู้อะไรจริงๆ กันแค่ไหนในเรื่องที่ว่ายูเครนกำลังทำอะไรได้มากน้อยเพียงใด? คุณสามารถหาใครสักคนได้ไหนที่จะบอกเล่าให้คุณฟังได้อย่างมั่นอกมั่นใจว่ายูเครนสูญเสียทหารไปจำนวนเท่าใดแล้ว ยูเครนสูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไปสักแค่ไหนแล้ว?” แซนเนอร์นั้นในอดีตเคยเป็นรองผู้อำนวยการของสำนักข่าวผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ (Office of the Director of National Intelligence) –รวมทั้งเคยเป็นผู้บรรยายสรุปข่าวกรองต่างๆ ให้ประธานาธิบดีรับฟังเป็นประจำในช่วงปี 2017

“ทุกๆ อย่างคือเรื่องเกี่ยวกับเป้าหมายของรัสเซีย และลู่ทางโอกาสของรัสเซียที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ของพวกเขา” แซนเนอร์ กล่าวต่อ “เราไม่ได้มีการพูดกันในเรื่องที่ว่า จริงๆ แล้ว ยูเครนอาจจะสามารถทำให้พวกเขาพ่ายแพ้ได้หรือไม่ สำหรับดิฉันแล้ว ดิฉันรู้สึกว่าเรากำลังพาตัวเองให้ตกอยู่ในความล้มเหลวทางด้านข่าวกรองอีกครั้งหนึ่งนะ จากการที่ไม่พูดจาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน”

เมื่อแปลความหมายจากคำพูดที่ตั้งใจพูดให้รู้สึกตกอกตกใจกันเช่นนี้ การที่ แซนเนอร์ เตือนเรื่องเกี่ยวกับ “ความล้มเหลวทางด้านข่าวกรอง” นั้น ย่อมหมายความว่าความล้มเหลวได้บังเกิดขึ้นมาแล้ว และพวกหน่วยข่าวกรองวาดหวังที่จะประณามฝ่ายยูเครนในเรื่องนี้ –อย่างเดียวกับที่ ไบเดน ได้กระทำไปในลอสแองเจลิสอีก 2 วันต่อมานั่นเอง

ทั้งนี้ เอเชียไทมส์ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนัยต่างๆ ในคำให้สัมภาษณ์ของแซนเนอร์แก่นิวยอร์กไทมส์ ในรายงานสถานการณ์การสู้รบในยูเครน (9 มิถุนายน)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/06/ukraine-the-situation-june-9/ หรือดูที่เก็บความเป็นภาษาไทยได้ที่ https://mgronline.com/around/detail/9650000055721)

หลังจากเธอเกษียณอายุเมื่อปีที่แล้ว แซนเนอร์ได้เข้าร่วมทำงานกับ ศูนย์เบลเฟอร์เพื่อนโยบายการต่างประเทศ (Belfer Center for foreign policy) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยที่นักวิชาการคนสำคัญที่สุดของศูนย์เบลเฟอร์ คือ เกรแฮม แอลลิสัน (Graham Allison) นักสัจนิยม (realist) คนสำคัญ โดยที่ แอลลิสัน ยังพูดถึงตัวเองเอาไว้ว่า เป็น นักเรียนคนเก่าคนแก่ที่สุดของ เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger’s oldest student)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.weforum.org/agenda/2022/05/kissinger-these-are-the-main-geopolitical-challenges-facing-the-world-right-now/)

คิสซิงเจอร์บอกกับเวทีประชุม เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมว่า “ความเคลื่อนไหวเพื่อไปสู่การเจรจา และการเจรจาว่าด้วยสันติภาพ จำเป็นต้องเริ่มต้นกันในเวลา 2 เดือนข้างหน้า เพื่อที่ผลลัพธ์ของสงครามคราวนี้จะได้มีกรอบโครงเอาไว้ แล้วต้องมีขึ้นก่อนที่สงครามอาจจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความตึงเครียดซึ่งจะยิ่งยากลำบากแก่การเอาชนะขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความสัมพันธ์ในท้ายที่สุดของรัสเซีย จอร์เจีย และของยูเครนที่มีต่อยุโรป ในทางอุดมคติแล้ว เส้นแบ่งนี้สมควรที่จะหวนกลับไปสู่สถานะเดิมก่อนหน้านี้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.weforum.org/agenda/2022/05/kissinger-these-are-the-main-geopolitical-challenges-facing-the-world-right-now/)

“ภาวะสถานะเดิมก่อนหน้านี้” เป็นการบ่งบอกว่ายูเครนจะต้องยอมอ่อนข้อในเรื่องดินแดนให้แก่รัสเซีย – ถึงแม้นี่เป็นวลีที่ คิสซิงเจอร์ ไม่ได้ใช้

ทว่า เลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenburg) ผู้ซึ่งใช้จุดยืนแบบเหยี่ยวแข็งกร้าวต่อรัสเซียนับตั้งแต่ที่สงครามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นมา ได้เอ่ยปากพูดถึงเงื่อนไขต่างๆ สำหรับสันติภาพ ณ การประชุมแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีแห่งฟินแลนด์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ดังนี้:

“สันติภาพนั้นเป็นไปได้ในยูเครน คำถามเพียงข้อเดียวอยู่ตรงที่ว่าคุณพร้อมที่จะจ่ายสักเท่าใดสำหรับสันติภาพนี้ คุณพร้อมที่จะเสียสละดินแดน ความเป็นเอกราช อธิปไตย เสรีภาพ และประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน และนี่ยังเป็นภาวะอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรมที่ยากลำบากเอามากๆ อีกด้วย”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://newsunrolled.com/world/33697.html)

ปรากฏว่ารัฐบาลยูเครนตอบสนองคำพูดเช่นนี้ของสโตลเตนเบิร์ก ด้วยการปฏิเสธว่าพวกเขาจะไม่ยินยอมสละดินแดนใดๆ ทั้งนั้น

ผลลัพธ์ที่อาจเป็นไปได้ประการหนึ่งซึ่งกำลังถูกปล่อยเผยแพร่ออกมาในสื่อมวลชนอเมริกัน และได้รับการศึกษาพิจารณาอย่างใกล้ชิดในกรุงมอสโก ได้แก่ การทำข้อตกลงสงบศึกในสไตล์ของเกาหลี โดยที่มีการขีดเส้นสงบศึกเพื่อแบ่งดินแดนกันตรงระหว่างยูเครนตะวันออกกับยูเครนตะวันตก ทว่าไม่มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพ

จอง อวน ลี (Jong Eun Lee) แห่งมหาวิทยาลัยอเมริกัน (American University) เขียนเอาไว้ในสื่อ เดอะ เนชั่นแนล อินเตอเรสต์ (The National Interest) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ดังนี้: “เกือบๆ 3 เดือนแล้วสำหรับสงครามนี้ สามารถที่จะโน้มน้าวยูเครนได้หรือไม่เพื่อให้พวกเขามีความแน่ใจขึ้นมาว่าการทำข้อตกลงสงบศึกในทำนองเดียวกัน (กับที่ใช้อยู่ในเกาหลี) เป็นเรื่องที่น่าปรารถนามากกว่าการทำสงครามต่อไปอีก? ภาระนี้ตกเป็นของสหรัฐฯ และของโลกที่จะต้องทำให้ฝ่ายยูเครนแน่ใจขึ้นมา ... ว่าภัยคุกคามด้านความมั่นคงของพวกเขาจะไม่เลวร้ายลงไปอีกในอนาคตข้างหน้า และการสูญเสียดินแดนต่างๆ ของพวกเขาอาจจะได้รับการฟื้นฟูกู้กลับคืนมาในอนาคตข้างหน้า
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nationalinterest.org/feature/could-korean-style-armistice-end-russia-ukraine-war-202388)

ข้อตกลงสงบศึกจะเปิดทางให้ยูเครนสามารถปฏิเสธได้ว่า พวกเขาไม่ได้ยกเลิกการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดเอาไว้ แต่ถึงแม้ข้อเสนอเช่นนี้ได้รับการศึกษาพิจารณาอยู่ในมอสโก ฝ่ายรัสเซียย่อมแทบไม่มีแรงจูงใจที่จะยอมรับมัน ในขณะที่พวกเขากำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ

เวลาเดียวกันนี้ ก็มีประเทศยุโรปบางรายแสดงอาการแบบความสำนึกเสียใจของผู้ที่ซื้อของไปแล้วและพบว่าของนั้นไม่ค่อยถูกใจเลย (buyer’s remorse) ในเรื่องเกี่ยวกับการดึงเอายูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกแบบเต็มเนื้อเต็มตัวรายหนึ่งของครอบครัวแห่งยุโรป โดยที่เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์กแสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะให้รับยูเครนเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นข้อเสนอหนึ่งที่เคยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะเป็นการตอบโต้ประการหนึ่งต่อการรุกรานของรัสเซีย

ตามรายงานของ บลูมเบิร์ก นิวส์ (Bloomberg News) เดนมาร์กส่งข้อสังเกตทางการทูตไปถึงคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ที่เป็นองค์กรบริหารของอียู โดยย้ำว่า “ยูเครนไม่ได้มีคุณสมบัติอย่างเพียงพอตามหลักเกณฑ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพของสถาบันต่างๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องค้ำประกันประชาธิปไตย หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน การเคารพและการปกป้องชนกลุ่มน้อย เคียฟยังจำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขกันในระดับรากฐานทีเดียวในกรอบโครงด้านนิติบัญญัติและกรอบโครงด้านสถาบันของตน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้”

ทิศทางความเป็นไปได้ที่จะเกิดการหันหัวเลี้ยวกลับในวอชิงตัน และการเปลี่ยนแปลงในอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อยูเครนในหมู่สมาชิกสหภาพยุโรปรายย่อมๆ ลงมาบางราย กำลังทำให้รัฐบาลเยอรมนีตกอยู่ในฐานะที่ยุ่งยากสับสนมาก ภายใต้แรงกดดันจากฝ่ายอเมริกัน นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์ และรัฐมนตรีต่างประเทศ อันนาเลนา แบร์บอค (Annalena Baerbock) ได้ตกลงยินยอมที่จะจัดส่งพวกอาวุธหนักไปให้แก่ยูเครน

แต่นโยบายดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมของประชาชนเอาเลย ตามผลสำรวจเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 57% ของชาวเยอรมันเชื่อว่าการส่งอาวุธหนักให้ยูเครนจะนำไปสู่การขยายสงครามไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป ขณะที่มี 34% ที่สนับสนุนการจัดส่งอาวุธหนักเช่นนี้ ทั้งนี้ ชอลซ์ ดูเหมือนยอมอ่อนข้อให้แก่แรงกดดันของฝ่ายอเมริกันในเรื่องการสนับสนุนยูเครนในทางการทหาร ในจังหวะเดียวกับที่ฝ่ายอเมริกันเองกำลังเริ่มต้นแสดงความสงสัยข้องใจออกมา
(ดูเพิ่มเติมเรื่องผลโพลในเยอรมนีได้ที่ https://www.rnd.de/politik/umfrage-zu-krieg-in-ukraine-das-denken-die-deutschen-ueber-waffenlieferungen-und-deutschlands-ZGCED4DYHONWSLRH2YA76T3TQU.html)

การสู้รบในอีกหลายๆ สัปดาห์ข้างหน้านี้ อาจจะทำให้รัฐบาลยูเครนมีทัศนะมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเวลานี้ ตามรายงานของหนึ่งในผลการประเมินของฝ่ายทหารสหรัฐฯ นั้น ถึงเวลานี้ยูเครนต้องแบกรับผู้บาดเจ็บล้มตายในจำนวนที่อาจจะสูงถึง 70,000 คน (10,000 คนถูกสังหาร 40,000-50,000 คนได้รับบาดเจ็บ และราวๆ 10,000 ตกเป็นเชลยศึก) ขณะเดียวกัน เครื่องกระสุนจากยุคโซเวียตสำหรับใช้กับพวกอาวุธหนักแทบทั้งหมดที่ยูเครนมีอยู่ก็กำลังจะหมดลง และยูเครนก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายนำเอาพวกอาวุธของฝ่ายตะวันตกเข้าสู่แนวหน้าได้อย่างรวดเร็วเพียงพอสำหรับการเผชิญหน้ากับปืนใหญ่และจรวดของฝ่ายรัสเซีย –ไม่สามารถทำได้ แม้กระทั่งถ้าหากฝ่ายตะวันตกตัดสินใจที่จัดส่งอาวุธเหล่านี้ให้ก็ตามที)

ถ้าหากสูตรที่ คิสซิงเจอร์ และสโตลเตนเบิร์ก เสนอขึ้นมานี้ หวนกลับเข้าไปอยู่ในวาระของฝ่ายตะวันตกแล้ว ก็จะส่งผลให้ฝ่ายต่างๆ ที่กำลังทำสงครามกันอยู่หวนกลับไปสู่อะไรบางอย่างซึ่งคล้ายๆ กับกรอบโครงของข้อตกลงกรุงมินสก์ 2 (Minsk II) –ซึ่งสหรัฐฯ ได้บ่อนทำลายจนคืบหน้าไม่ได้ในช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามในปัจจุบันขึ้นมา ข้อตกลงสันติภาพกำลังเป็นสิ่งที่ปรารถนากันเป็นอย่างยิ่ง แต่รูปร่างลักษณะของสันติภาพใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาจะกลายเป็นการสร้างความชัดเจนขึ้นมาว่า ตั้งแต่ต้นแล้ว สงครามคราวนี้ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องเกิดขึ้นมาหรอก
กำลังโหลดความคิดเห็น