รัสเซียโกยรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึง 9.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.4 ล้านล้านบาท ในช่วง 100 วันแรกของการทำสงครามรุกรานยูเครน อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สะท้อนว่าแผนคว่ำบาตรของโลกตะวันตกยังไม่ได้ทำให้รัฐบาลหมีขาวสะดุ้งสะเทือนสักเท่าไหร่ ขณะที่สหรัฐฯ และมหาอำนาจยุโรปเริ่มมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้นในการจัดส่งอาวุธหนักให้ยูเครน ท่ามกลางสถานการณ์คับขันในเมืองซีวีโรโดเนตสก์
รายงานของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ (Centre For Research on Energy and Clean Air : CREA) พบว่า มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกส่งผลให้รัสเซียส่งออกพลังงานได้น้อยลง และต้องขายในราคาที่ลดกระหน่ำให้แก่บางประเทศที่ยังคงรับซื้อ ทว่าด้วยอุปสงค์เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก บวกกับราคาพลังงานที่พุ่งสูง ทำให้รัฐบาลประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ยังคงมีรายได้อย่างงามที่จะนำไปเป็นทุนสนับสนุนปฏิบัติการรุกรานยูเครน
สหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในหลายๆ ชาติที่ให้คำมั่นจะลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเพื่อลงโทษรัฐบาลปูติน แต่ผลการศึกษาของ CREA พบว่า ในช่วง 100 วันแรกของการทำสงครามคือระหว่างวันที่ 24 ก.พ. จนถึง 3 มิ.ย. มอสโกยังคงมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากถึง 97,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในจำนวนนี้เป็นการส่งขายให้แก่สหภาพยุโรปถึง 61% หรือคิดเป็นเงินราวๆ 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
CREA ยังพบว่า แม้รายได้จากการส่งออกพลังงานของรัสเซียจะต่ำกว่าช่วงพีกในเดือน มี.ค. ที่เคยขายได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อวัน แต่ก็ยังมากกว่า “ต้นทุน” ที่มอสโกใช้ทำสงครามในช่วง 100 วันแรก ซึ่ง CREA ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ราวๆ 876 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
อียูประกาศจะหยุดนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียทางทะเลภายในสิ้นปี 2022 ซึ่งจะทำให้ปริมาณการนำเข้าลดลงราว 2 ใน 3 และยังให้คำมั่นว่าจะลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติรัสเซียลง 2 ใน 3 ภายในระยะเวลา 1 ปี แต่ถึงกระนั้นรัฐสมาชิกทั้ง 27 ชาติก็ยังไม่สามารถเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ได้ว่าจะเลิกพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติรัสเซียอย่างสิ้นเชิงได้อย่างไรและเมื่อไหร่
ด้านสหรัฐฯ ประกาศแบนการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินจากรัสเซียโดยสิ้นเชิงตั้งแต่เดือน มี.ค. ส่วนสหราชอาณาจักรจะทยอยลดการซื้อน้ำมันรัสเซียลงให้เหลือ “ศูนย์” ภายในสิ้นปีนี้
CREA ชี้ว่า มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของอียูจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อการคลังของรัสเซียอย่างไม่ต้องสงสัย แต่กระนั้นรัสเซียก็ยังสามารถส่งออกน้ำมันดิบมหาศาลให้แก่ลูกค้าในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะ “อินเดีย” ที่นำเข้าน้ำมันรัสเซียเพิ่มขึ้นจาก 1% ในช่วงก่อนเกิดสงครามยูเครน กลายเป็น 18% ในเดือน พ.ค. นอกจากนี้ ยังมีฝรั่งเศส จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และซาอุดีอาระเบีย ที่ต่างเพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเช่นกัน
CREA ย้ำว่า ตัวเลขการส่งออกเหล่านี้ถือเป็น “ช่องโหว่” ที่ชาติตะวันตกต้องหาวิธีอุดให้ได้ พร้อมเสนอให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเรือสินค้าที่รับขนน้ำมันดิบรัสเซีย เพื่อให้การปิดกั้นแหล่งรายได้ของมอสโกมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ลอรี มิลลีเวอร์ตา (Lauri Myllyvirta) นักวิเคราะห์จาก CREA ชี้ว่า การมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นเร่งด่วนแก่ยูเครนยังคงล่าช้าอยู่ และทุกฝ่ายควรมีมาตรการที่แข็งขันกว่านี้ในการตัดกระแสเงินสดที่ป้อนแก่รัสเซีย รวมถึงเร่งรัดพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนการนำเข้าพลังงานฟอสซิล และกดราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูง ซึ่งทำให้รัสเซียมีรายได้เพิ่มมากขึ้น" เธอกล่าว
การสู้รบระหว่างกองกำลังรัสเซียและยูเครนในเวลานี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ซีวีโรโดเนตสก์ เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมในแคว้นลูฮันสก์ โดยเมื่อวันอังคาร (14) รัสเซียได้ยื่นคำขาดให้ทหารยูเครนที่กบดานอยู่ในโรงงานเคมี “อาซอต” ในเมืองซีวีโรโดเนตสก์ยุติการต่อต้านและวางอาวุธภายในเช้าวันพุธ (15) พร้อมทั้งประกาศจะเปิดระเบียงมนุษยธรรมเพื่อให้พลเรือนราว 500 คนที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในโรงงานแห่งนี้ได้อพยพออกมา ทว่าฝ่ายเคียฟยังคงเพิกเฉยไม่ยอมรับเส้นตายดังกล่าว
โอเลคซานดร์ สตริอุก นายกเทศมนตรีเมืองซีวีโรโดเนตสก์ กล่าวหลังจากที่เลยกำหนดเส้นตายของมอสโกว่า ทหารรัสเซียพยายามจู่โจมเข้าเมืองจากหลายทิศทาง แต่กองกำลังยูเครนยังสามารถป้องกันเมืองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
กองทัพรัสเซียได้ทำลายสะพาน 3 แห่งที่ทอดข้ามแม่น้ำที่กั้นกลางระหว่างซีวีโรโดเนตสก์กับเมืองลีซีชานสก์ที่อยู่ใกล้กันไปทางตะวันตก ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดทางหนีของพวกนักรบยูเครนที่หลงเหลืออยู่ภายในเมืองแห่งนี้
ด้านประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ก็ยังคงเดินหน้ารบเร้าให้ชาติพันธมิตรตะวันตกจัดส่งอาวุธหนักให้ และวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำยุโรปบางประเทศที่ลังเลในการติดอาวุธให้เคียฟ
แหล่งข่าวในกองทัพสหรัฐฯ เผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ยูเครนได้นำอาวุธรุ่นเก่าที่ผลิตโดยสหภาพโซเวียตและรัสเซียออกมาใช้จนหมดคลังแสงแล้ว และหลังจากนี้พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งอาวุธจากตะวันตกเพียงอย่างเดียวในการทำสงครามกับรัสเซีย
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้อนุมัติแพกเกจช่วยเหลือยูเครนล่าสุดมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันพุธ (15 มิ.ย.) ซึ่งจะรวมถึงปืนใหญ่ฮาวอิตเซอร์ 18 กระบอกพร้อมกระสุน 36,000 ลูก ระบบขีปนาวุธป้องกันชายฝั่ง "ฮาร์พูน" 2 เครื่อง ปืนใหญ่จรวด วิทยุที่มีความปลอดภัย กล้องส่องตอนกลางคืนหลายพันตัว และเงินทุนสำหรับการฝึกฝน
ผู้นำสหรัฐฯ ยังแถลงมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติมอีก 225 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยูเครน ในนั้นรวมถึงจัดหาน้ำดื่มที่ปลอดภัย เสบียงทางการแพทย์ที่สำคัญๆ อาหาร สถานที่พักพิงชั่วคราว และเงินสดแก่ครอบครัวชาวยูเครนเพื่อนำไปซื้อข้าวของที่จำเป็น
สหรัฐฯ ยืนกรานว่าจะไม่ส่งทหารอเมริกันหรือกองกำลังจากประเทศนาโตเข้าไปทำสงครามกับรัสเซียในยูเครน แต่จะใช้วิธี “ติดอาวุธ” ช่วยเคียฟแทน ไม่ว่าจะเป็นโดรน ปืนใหญ่อัตตาจรฮาวอิตเซอร์ (Howitzer) ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานแบบประทับบ่ายิงสติงเกอร์ (Stinger) รวมไปถึงขีปนาวุธต่อต้านรถถังเจฟลิน (Javelin)
รัฐบาล ไบเดน ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะส่งเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง M142 High Mobility Artillery Rocket Systems หรือ HIMARS ให้ยูเครน หลังได้รับคำยืนยันจากเคียฟว่ามันจะไม่ถูกนำไปใช้โจมตีเป้าหมายภายในรัสเซีย ซึ่ง ไบเดน กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวขึ้นมาก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สงครามยูเครนลุกลาม
อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐฯ ส่งมอบแก่ยูเครนนั้นใช้งบประมาณจากอำนาจตามกฎหมาย Presidential Drawdown Authority ซึ่งอนุญาตให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถสั่งเคลื่อนย้ายอาวุธส่วนเกินในคลังแสงของสหรัฐฯ ได้ในกรณีฉุกเฉินโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาคองเกรส
ทั้งนี้ ผู้นำ 3 ชาติใหญ่ที่สุดในอียู ได้แก่ ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนี และนายกรัฐมนตรี มาริโอ ดรากี แห่งอิตาลี มีกำหนดเดินทางเยือนกรุงเคียฟในวันพฤหัสบดี (16) ซึ่งถือเป็นการไปเยือนยูเครนครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสงครามขึ้น หลังมีกระแสวิจารณ์ต่อทั้ง 3 ชาติว่าไม่ได้ให้การสนับสนุนเคียฟเท่าที่ควร
มาครง ให้สัมภาษณ์ที่โรมาเนียในวันพุธ (15) ว่า “ถึงเวลาแล้ว” ที่ยุโรปจะต้องให้ความมั่นใจแก่ยูเครนเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของอียู
วาสซิลีย์ เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น ออกมาวิจารณ์ประเทศตะวันตกเมื่อวันพุธ (15) ว่ากำลังทำ “สงครามตัวแทน” กับรัสเซีย โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า "ผมอยากบอกพวกชาติตะวันตกที่มอบอาวุธแก่ยูเครนว่า เลือดของพลเรือนเปื้อนมือของพวกคุณแล้ว" ขณะที่ มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ก็เตือนพวกผู้นำตะวันตกว่า มาตรการจำกัดนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียนั้นไม่ต่างอะไรกับการ “จ่อยิงหัวตัวเอง” ซึ่งสวนทางโดยสิ้นเชิงกับ “จีน” ที่เลือกจะนำเข้าพลังงานจากมอสโกเพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ ปูติน เคยออกมาคุยโวว่าความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกกับจีนถือว่าดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา และยกย่องความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายตอบโต้อิทธิพลของสหรัฐฯ ขณะที่สื่อ CCTV ของจีนอ้างคำพูดประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ได้กล่าวกับ ปูติน ระหว่างคุยโทรศัพท์เมื่อวันพุธ (15 มิ.ย.) ว่า ปักกิ่งและมอสโกมีความตั้งใจเดินหน้าสนับสนุนกันและกันในประเด็นต่างๆ ซึ่งรวมถึงในด้านอำนาจอธิปไตยและความมั่นคง
ขณะเดียวกัน สงครามที่ยืดเยื้อและเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างก็ทำให้ผู้นำฝ่ายตะวันตกบางคนเริ่มออกมาชี้นำแบบอ้อมๆ ให้ยูเครนยอม “สละดินแดนบางส่วน” เพื่อยุติสงคราม โดยคนแรกที่เสนอแนวทางนี้ก็คือ เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่ายูเครนควรยอมกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนสงคราม ล้มเลิกความตั้งใจในการทวงคืนแหลมไครเมีย และยอมรับเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และลูฮันสก์ตามที่รัสเซียรับรอง ขณะที่ มาครง ก็เตือนยูเครนเป็นนัยๆ ว่าไม่ควรบีบคั้นให้รัสเซียต้องเผชิญ “ความอับอาย” มากเกินไป
ล่าสุด เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ก็ออกมาเปรยเมื่อวันอาทิตย์ (12) ว่า แม้ชาติตะวันตกจะพร้อมทุ่มเททรัพยากรเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของกองทัพยูเครน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับเคียฟเองว่า “พร้อมจะจ่ายมากน้อยแค่ไหนเพื่อแลกกับสันติภาพ”
อย่างไรก็ตาม หากมองจากท่าทีของ เซเลนสกี ที่ยังประกาศขึงขังว่ายูเครนต้องการเพียง “ชัยชนะ” และจะทวงคืนดินแดน “ทุกตารางนิ้ว” กลับมาจากรัสเซียให้ได้ก่อนจะมีการเจรจาสงบศึก ก็ดูเหมือนว่าทางเลือกจบสงครามด้วยวิธีดังกล่าวคงไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลยูเครนจะยอมรับได้โดยง่าย