xs
xsm
sm
md
lg

อ้าว! เลขาฯ นาโต้แนะอ้อมๆ ยูเครนยอมสละดินแดน แลกข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ระบุเมื่อวันอาทิตย์ (12 มิ.ย.) กลุ่มที่นำโดยสหรัฐฯ แห่งนี้มีเป้าหมายเสริมความเข้มแข็งแก่สถานะของยูเครนบนโต๊ะเจรจากับรัสเซีย แต่บอกว่าข้อตกลงสันติภาพใดๆ อาจจะต้องเกี่ยวข้องกับการประนีประนอม ในนั้นรวมถึงการยอมสละดินแดนของฝ่ายยูเครน

สโตลเทนเบิร์ก กล่าวในที่ประชุมกุลตารันตาในฟินแลนด์ ตามหลังพบปะพูดคุยกับประธานาธิบดีเซาลี นีนิสตอ แห่งฟินแลนด์ โดยในขณะที่เลขาธิการนาโต้ยืนกรานว่าตะวันตก มีความตั้งใจยอมทุ่มทุนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแกร่งกองทัพยูเครน แต่ เคียฟ อาจจะต้องยอมเสียดินแดนบางส่วนแก่มอสโก เพื่อให้ความขัดแย้งปัจจุบันสิ้นสุดลง

"สันติภาพมีความเป็นไปได้" เขากล่าว "คำถามเดียวคือ คุณมีความตั้งใจจ่ายราคาเท่าใดเพื่อแลกกับสันติภาพ? ดินแดนมากน้อยแค่ไหน เอกราชมากน้อยเท่าไหร่ อธิปไตยมากแค่ไหนที่คุณตั้งใจเสียสละเพื่อสันติภาพ?" เขากล่าว

สโตลเตนเบิร์กไม่ได้ชี้แนะว่ายูเครนจะต้องรับเงื่อนไขอย่างไร แต่บอกว่า "นี่เป็นเรื่องของคนที่ต้องจ่ายในราคาที่แพงที่สุด จะเป็นผู้ตัดสินใจเอง" แต่ในขณะเดียวกัน นาโต้และตะวันตกจะยังคงเดินหน้าป้อนอาวุธแก่ยูเครน เพื่อ "เสริมความเข้มแข็งในมือของพวกเขา" เมื่อท้ายที่สุดแล้วการเจรจาคือทางออก

เลขาธิการนาโต้ไม่ได้สนับสนุนอย่างตรงๆ ให้ยูเครนยอมสละดินแดน แต่เขายกตัวอย่างกรณีที่ฟินแลนด์ ซึ่งยอมยกสาธารณรัฐคาเรลียาแก่สหภาพโซเวียต ส่วนหนึ่งในข้อตกลงสันติภาพระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย สโตลเทนเบิร์ก ให้คำจำกัดความข้อตกลงฟินแลนด์-โซเวียต ว่าเป็น "หนึ่งในหลายเหตุผลที่ฟินแลนด์สามารถหลุดพ้นจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะรัฐเอกราชที่มีอำนาจอธิปไตย

ความเห็นของสโตลเทนเบิร์ก มีออกมาท่ามกลางความรู้สึกที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เร็วๆ นี้ยูเครนอาจถูกบรรดาชาติตะวันตกผู้สนับสนุนกดดันให้เข้าสู่ข้อตกลงสันติภาพ โดยแม้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร พูดต่อหน้าสาธารณะว่ายูเครน "สามารถเอาชนะศึกสงครามกับรัสเซีย" แต่รายงานของซีเอ็นเอ็นเมื่อไม่นานที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่ในวอชิงตัน ลอนดอน และบรัสเซลส์ กำลังหารือกันโดยไม่มีเจ้าหน้าที่จากยูเครนเข้าร่วมด้วย ในความพยายามวางแผนสำหรับหยุดยิงและข้อตกลงสันติภาพ

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน อ้างด้วยว่ามีต่างชาติซึ่งไม่ขอเอ่ยนาม พยายามผลักดันเคียฟให้โน้มเอียงเข้าหาข้อตกลง ในขณะที่ประชาชนในประเทศต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนยูเครน เริ่มเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายกับสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ออกมาปฏิเสธต่อสาธารณะว่าไม่ได้เรียกร้องให้ เซเลนสกี ยอมสละดินแดนบางส่วนแลกกับการยุติความขัดแย้ง ตามคำแนะนำของ เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้ว

คิสซิงเจอร์ เสนอในเดือนพฤษภาคม ว่ายูเครนควรยอมรับการกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนสงคราม ซึ่งหมายความว่ายูเครนต้องละทิ้งคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือแหลมไครเมีย และอนุมัติเอกราชของสาธารณรัฐโดเนตสก์และลูฮันสก์ ทั้งนี้ ไครเมีย ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียตั้งแต่ปี 2014 ส่วน มอสโก ประกาศรับรองเอกราชสาธารณรัฐโดเนตสก์และลูฮันสก์ ไม่กี่วันก่อนเปิดปฏิบัติการทหารรุกรานยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

เซเลนสกี เปลี่ยนจุดยืนไปมาหลายครั้งระหว่างการเจรจาสันติภาพ โดยประธานาธิบดีรายนี้แสดงความสนใจเป็นระยะในการเจรจาหาทางออกกับรัสเซีย แต่เจ้าหน้าที่ของเขา กระทรวงการต่างประเทศหรือแม้แต่ตัวของเซเลนสกีเอง ก็มักออกมาแสดงความรู้สึกตรงกันข้ามไม่นานหลังจากนั้น

ประธานาธิบดีนีนิสตอ กล่าวระหว่างหารือกับสโตลเทนเบิร์กเมื่อวันอาทิตย์ (12 มิ.ย.) ว่า "เราตระหนักดี ว่ามันเป็นเรื่องยากมากๆ สำหรับยูเครนในการยอมสละดินแดนของพวกเขา ตามหลังการสู้รบครั้งนี้ แต่ในเวลานี้ มองไม่เห็นเลยว่ารัสเซียจะสูญเสียดินแดนที่พวกเขายึดครองทั้งหมด การได้มาซึ่งสันติภาพเป็นสิ่งที่ยากลำบากอย่างที่สุด"

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น