สหรัฐฯ เผยให้เห็นถึงความเจ้าเล่ห์ตลบตะแลง ด้วยการประกาศแบนน้ำมันรัสเซีย แต่ความจริงคือยังคงเดินหน้าซื้อเชื้อเพลิงมอสโกในปริมาณมาก จากการเปิดเผยของ ยาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย (สภาดูมา) เมื่อช่วงกลางสัปดาห์
วอชิงตันอ้างว่าได้เคลื่อนไหวห้ามนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมบางส่วน ก๊าซธรรมชาติเหลวและถ่านหิน ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ส่วนหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานมอสโก ตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน
"น้ำมันรัสเซียจะไม่เป็นที่ต้อนรับตามท่าเรือต่างๆ ของสหรัฐฯ อีกต่อไป" โจ ไบเดน ประธานาธิบดีอเมริกา ประกาศ ณ เวลานั้น แต่คำพูดไม่ได้มาพร้อมกับการกระทำ โวโลดิน เหน็บแนมผ่านข้อความที่โพสต์บนเทเลแกรมในวันพุธ (8 มิ.ย.)
ประธานรัฐสภารัสเซียเขียนต่อว่า "ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ บ่งชี้ว่ามีการส่งมอบน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในเดือนมีนาคม เปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ จาก 2,325 ล้านบาร์เรล เป็น 4,218 ล้านบาร์เรลตามลำดับ"
"แม้ประกาศแบน แต่ประเทศของเราขยับขึ้นจากที่ 9 สู่ลำดับ 6 ในอันดับประเทศที่ส่งน้ำมันป้อนแก่สหรัฐฯ มากที่สุด" เขากล่าว
โวโลดิน เน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าในเดือนดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่วอชิงตันกำลังกดดันให้อียูละทิ้งน้ำมันรัสเซีย และสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ "ชัดเจนว่ามันเป็นสัญญาณของ 2 มาตรฐาน" เขาระบุ "ตอนนี้ ปล่อยให้พวกนักการเมืองและข้าราชการในยุโรปอธิบายประชาชนของพวกเขาเองว่า ทำไมพวกเขาถึงต้องอดทนกับการขึ้นราคาของไบเดน"
ความเห็นดังกล่าวเป็นการพาดพิงถึงประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่พยายามเชื่อมโยงภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ราคาก๊าซและอาหารที่พุ่งทะยาน กับปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยให้คำจำกัดความมันว่า "การขึ้นราคาของปูติน"
หลังจากโต้เถียงกันนานหลายสัปดาห์ สหภาพยุโรปเห็นพ้องในมาตรการคว่ำบาตรรอบ 6 เล่นงานรัสเซียในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งในนั้นรวมถึงห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ทางกลุ่มตัดสินใจหยุดนำเข้าในทันที 75% และจะขยับขึ้นเป็น 90% ในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม ฮังการีและอีกหลายประเทศ ได้รับการยกเว้น เนื่องจากความเป็นไปได้ที่จะเผชิญกับภาวะเลวร้ายทางเศรษฐกิจหากปราศจากอุปทานพลังงานจากรัสเซีย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไบเดน ถึงขั้นบ่งชี้ว่าสหรัฐฯ อาจแม้กระทั่งพยายามซื้อน้ำมันบางส่วนจากรัสเซีย หลังมาตรการคว่ำบาตรของอียู อาจทำให้มอสโกต้องปรับราคาขายน้ำมันลงมา
"กำลังมีการพิจารณาต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่สามารถทำได้ บางทีอาจแม้กระทั่งซื้อน้ำมัน แต่ในราคาจำกัด เนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องขาย" ไบเดนกล่าว เมื่อถูกถามเกี่ยวกับแผนของเขาในการรับมือกับราคาพลังงานที่พุ่งทะยาน "รัสเซียมีความปรารถนาอย่างเหลือล้นที่จะขายมัน และพวกเขาจะขายในราคาต่ำมาก ต่ำกว่าราคาตลาดในตอนนี้"
มอสโกไม่ให้ความสำคัญคำพูดของไบเดน โดยบอกว่าตลาดโลกจะปรับสมดุลด้วยตัวมันเอง แม้อียูกำหนดข้อจำกัดเล่นงานน้ำมันรัสเซีย "แน่นอนว่า รัสเซียจะไม่ขายอะไรโดยไม่ได้กำไร อุปสงค์อาจลดลงในที่หนึ่งๆ และที่อื่นๆ อาจเพิ่มขึ้น ห่วงโซ่อุปทานกำลังปรับทิศทาง ในขณะที่ฝ่ายต่างๆ กำลังหาเงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับทำการค้า" ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของเครมลินกล่าว
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)