ตะวันตกนั่งไม่ติด หลังเอกสารข้อเสนอจีนรั่วไหลที่เปิดเผยแผนการใหญ่ของปักกิ่งในการแผ่ขยายอิทธิพลด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจเข้าสู่แปซิฟิกใต้ ที่ผู้นำคนหนึ่งในภูมิภาควิจารณ์ว่า เป็นความพยายามแอบแฝงเพื่อล็อกประเทศเกาะในย่านดังกล่าวเข้าสู่ “วงโคจรของปักกิ่ง”
หากได้รับอนุมัติจากประเทศเกาะทั้งหลายในแปซิฟิก ร่างข้อตกลงที่มีเนื้อหาครอบคลุมรอบด้านและแผนระยะ 5 ปีที่สำนักข่าวเอเอฟพีได้รับมา จะเปิดโอกาสให้จีนมีขอบข่ายอิทธิพลด้านความมั่นคงอย่างกว้างขวางในภูมิภาคดังกล่าวที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของอเมริกา และพันธมิตร
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน แถลงในวันพฤหัสบดี (26 พ.ค.) ปฏิเสธการวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายตะวันตก ในเรื่องที่ปักกิ่งกำลังมีปฏิสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับประเทศต่างๆ ในแปซิฟิก ขณะที่เขาเริ่มต้นการเยือน 8 ชาติแปซิฟิกเพื่อยื่นข้อเสนอซึ่งเสนอผลประโยชน์ที่ดูมีมนตร์ดึงดูดใจมาก
“ความร่วมมือระหว่างจีนกับบรรดาประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกนั้นไม่ได้พุ่งเป้ามุ่งเล่นงานประเทศใดๆ ทั้งสิ้น” หวัง กล่าวเมื่ออยู่ในเมืองหลวงโฮนีอารา ของหมู่เกาะโซโลมอน ขณะเดียวกัน ก็เตือนว่าประเทศอื่นๆ ไม่ควรเข้ามาแทรกแซง
“ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกทั้งหลายทั้งปวงต่างมีสิทธิที่จะเลือกทางเลือกของพวกเขาเอง แทนที่จะทำตัวเป็นเพียงผู้ติดตามประเทศอื่นๆ เท่านั้น” เขาบอกกับพวกผู้สื่อข่าว
ทั้งนี้ แพกเกจข้อเสนอของจีน จะมีการให้เงินช่วยเหลือ 10 ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กๆ เหล่านี้ ความเป็นไปได้ที่จะจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีจีน-หมู่เกาะแปซิฟิก และการเข้าถึงตลาดจีนที่มีประชากรถึง 1,400 ล้านคน
แพกเกจดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้จีนช่วยฝึกตำรวจท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ขยายความสัมพันธ์ทางการเมือง จัดทำแผนที่ทางทะเลที่อ่อนไหว และเพิ่มการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคนี้
ฝ่ายตะวันตกเชื่อว่า ร่างข้อตกลงซึ่งใช้ชื่อว่า “วิสัยทัศน์การพัฒนาที่ครอบคลุม” ของจีน จะพร้อมสำหรับการอนุมัติระหว่างที่ หวัง พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของภูมิภาคนี้ในวันจันทร์ (30) ที่ฟิจิ
นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีส ของออสเตรเลีย แสดงความกังวลว่า จีนกำลังพยายามขยายอิทธิพลในภูมิภาคที่ออสเตรเลียคือตัวเลือกหุ้นส่วนด้านความมั่นคงมาโดยตลอดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และดังนั้น แคนเบอร์ราจำเป็นต้องตอบโต้ โดยอัลบานีส ได้เปิดเผยแผนเพิ่มการมีส่วนร่วมในแปซิฟิก ด้วยการเพิ่มความช่วยเหลือในการฝึกทางทหาร ความมั่นคงทางทะเล และโครงสร้างพื้นฐานในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมมูลค่าราว 350 ล้านดอลลาร์
ไม่เพียงเท่านั้น ขณะนี้ เพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ยังกำลังเยือนฟิจิเพื่อให้คำปรึกษารัฐบาลฟิจิเกี่ยวกับแผนการดังกล่าว
ส่วนที่นิวซีแลนด์ ซึ่งปกติแล้วมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปักกิ่ง นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น กล่าวภายหลังพบกับวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ว่า แปซิฟิกไม่จำเป็นต้องทำข้อตกลงด้านความมั่นคงกับจีน เนื่องจากมีวิธีการและศักยภาพในการรับมือความท้าทายด้านความมั่นคงอยู่แล้ว นอกจากนั้น นิวซีแลนด์ยังยินดีให้การสนับสนุน
ทางด้านอเมริกานั้น เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เตือนประเทศที่เกี่ยวข้องให้ระวังข้อตกลง “หมกเม็ด” ของจีน อีกทั้งแสดงความกังวลว่า จะมีการเจรจาข้อตกลงเหล่านั้นอย่างเร่งรีบและไม่โปร่งใส พร้อมสำทับว่า ประเทศในแปซิฟิกต้องสามารถตัดสินใจด้านอธิปไตยด้วยตัวเอง
เอเอฟพีระบุว่า หากแผนการของจีนได้รับอนุมัติจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และเป็นการอำนวยความสะดวกทุกอย่างตั้งแต่การประจำการของตำรวจจีน จนถึงการเยือนของ “คณะนักแสดง” ของจีน
เที่ยวบินระหว่างจีนกับหมู่เกาะในแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้น ปักกิ่งจะแต่งตั้งผู้แทนประจำภูมิภาค จัดหาการฝึกอบรมนักการทูตรุ่นใหม่ในแปซิฟิก และให้ทุนการศึกษา 2,500 ทุน
มิฮาอิ โซรา นักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศในแปซิฟิกของสถาบันโลวี กลุ่มคลังสมองของออสเตรเลีย ชี้ว่า ร่างข้อเสนอของจีนเป็นหลักฐานเอกสารที่หาได้ยากที่ตีแผ่ความพยายามของปักกิ่งในการตั้งตนเป็นมหาอำนาจความมั่นคงในภูมิภาค
แอนน์-มารี เบรดี้ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองของมหาวิทยาลัยแคนเทอร์บิวรี ในนิวซีแลนด์ มองว่า จีนต้องการขับไล่อเมริกาออกจากแปซิฟิก พร้อมทั้งโดดเดี่ยวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
แผนการของจีนยังกระตุ้นเตือนรัฐบาลบางประเทศในแปซิฟิก โดยประธานาธิบดีเดวิด ปานูเอโล ของไมโครนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดอเมริกาที่สุดในแปซิฟิก ส่งจดหมายถึงเหล่าผู้นำในภูมิภาคเตือนว่า ข้อตกลงที่ในช่วงแรกอาจดูเหมือนน่าสนใจนั้น จะเปิดทางให้จีนเข้าถึงและควบคุมแปซิฟิก
ปานูเอโล เสริมว่า ข้อเสนอที่ “ดูมีเลศนัย” จะทำให้จีนมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลและอุตสาหกรรมในท้องถิ่น และสามารถ “สอดแนมมวลชน” จากโทรศัพท์และอีเมล ซึ่งผลลัพธ์คือการบ่อนทำลายสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพของภูมิภาค
กระนั้น ฝ่ายตะวันตกก็หวั่นเกรงว่า ผู้นำหลายชาติในแปซิฟิกอาจมองว่า ข้อเสนอของจีนนำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาล
ขณะเดียวกัน ผู้วางนโยบายในอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ยังคงกังวลใจกับรายงานที่กระพือกันอกมาเมื่อเดือนเมษายนที่ว่า หมู่เกาะโซโลมอนเจรจาทำข้อตกลงความมั่นคงกับจีน
ร่างข้อเสนอที่ระบุว่ารั่วไหลออกมา ประกอบด้วยการเตรียมการประจำการของกองทัพเรือจีนในหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งอยู่ห่างจากออสเตรเลียไม่ถึง 2,000 กิโลเมตร
หมู่เกาะโซโลมอนเองนั้นยืนยันว่า จะไม่ให้จีนเข้าไปตั้งฐานทัพ แต่ก็บอกว่าไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากปักกิ่ง
ระหว่างการเยือนหมู่เกาะโซโลมอน หวังเน้นย้ำว่า ปักกิ่ง “ไม่มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น” ที่จะสร้างฐานทัพทางทหารขึ้นที่ประเทศนี้
(ที่มา : เอเอฟพี/เอเจนซีส์)