xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดนถึงญี่ปุ่นเล็งดันกรอบข้อตกลงเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญชี้ไร้การจูงใจ-อาเซียนตอบรับกร่อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ไบเดนเดินทางถึงญี่ปุ่นในวันอาทิตย์ (22 พ.ค.) เตรียมเปิดโครงการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจกับอินโด-แปซิฟิก ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า โครงการดังกล่าวไม่เอื้อประโยชน์ใดๆ ให้แก่ประเทศในภูมิภาคนี้ และมีแนวโน้มว่า หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่เข้าร่วมด้วย เนื่องจากขาดมาตรการจูงใจในเชิงปฏิบัติ เช่น การลดภาษีศุลกากร

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา จะพบกับผู้นำกลุ่ม “ควอด” ที่ประกอบด้วยญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย เป็นอีกหนึ่งหลักไมล์สำคัญของกลยุทธ์ต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีน ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ 2 ของการทัวร์เอเชียครั้งแรกในตำแหน่งประธานาธิบดี

ประมุขทำเนียบขาวมีกำหนดเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ ช่วงเช้าวันจันทร์ (23 พ.ค.) ก่อนหารือกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเรื่องแผนการขยายแสนยานุภาพทางทหารเพื่อรับมืออิทธิพลของจีน

ในวันเดียวกันนั้น ไบเดนจะประกาศกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (ไอพีอีเอฟ) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ผ่านมาตรฐานร่วมกันในหลายด้าน เช่น ความยืดหยุ่นด้านห่วงโซ่อุปทาน พลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน และการค้าดิจิทัล

ทั้งนี้ วอชิงตันขาดเสาหลักเศรษฐกิจในแผนการมีส่วนร่วมอินโด-แปซิฟิกนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงการค้าพหุภาคีที่ขณะนี้มีชื่อว่า ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ปล่อยให้จีนมีโอกาสขยายอิทธิพลในด้านนี้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ไม่มีแนวโน้มว่าไอพีอีเอฟจะครอบคลุมพันธะสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ขณะที่ประเทศในเอเชีย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าไม่ค่อยกระตือรือร้นกับโครงการนี้ ซึ่งถูกจำกัดจากความลังเลของไบเดน ต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดกับการจ้างงานในอเมริกา หากเสนอให้ประเทศในเอเชียเข้าถึงตลาดอเมริกามากขึ้น

แหล่งข่าวทางการค้าและการทูตเผยว่า ทำเนียบขาวต้องการให้การประกาศเปิดตัวไอพีอีเอฟเป็นการเริ่มต้นการเจรจาอย่างเป็นทางการกับกลุ่มประเทศที่มีแนวทางเดียวกัน แต่ญี่ปุ่นอยากได้การรับประกันว่า จะมีการขยายการมีส่วนร่วมครอบคลุมประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า พิธีในวันจันทร์จะเป็นเพียงการส่งสัญญาณว่ามีการตกลงที่จะเริ่มการเจรจาไอพีอีเอฟมากกว่าการเริ่มเจรจาจริงๆ

แหล่งข่าวยังเผยว่า นอกจากไบเดน และคิชิดะแล้ว พิธีนี้จะมีนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิของอินเดียเข้าร่วมด้วย ส่วนผู้นำอื่นๆ จะร่วมพิธีแบบเสมือน

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่กระทรวงคลังญี่ปุ่นเผยว่า หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่เข้าร่วมไอพีอีเอฟเนื่องจากขาดมาตรการจูงใจในเชิงปฏิบัติ เช่น การลดภาษีศุลกากร

ถึงกระนั้น นักการทูตเอเชียคนหนึ่งเผยว่า สมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 10 ประเทศ อาจร่วมพิธีเปิดไอพีอีเอฟ

ทางด้าน เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวขณะอยู่บนแอร์ฟอร์ซวัน หรือเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าไต้หวันจะไม่ร่วมพิธีเปิดไอพีอีเอฟ แต่สำทับว่า วอชิงตันกำลังพิจารณากระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทเปในด้านไฮเทค ซึ่งรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์และห่วงโซ่อุปทาน

ส่วนในวันอังคาร (24 พ.ค.) ไบเดนจะเข้าประชุมร่วมกับกลุ่มควอดเป็นวันที่สองในโตเกียว ทั้งนี้ ก่อนที่ผู้นำสหรัฐฯ จะเดินทางถึงญี่ปุ่นไม่กี่ชั่วโมง มีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งเดินขบวนทั่วโตเกียวประณามการเจรจาของกลุ่มควอดและสงครามในยูเครน

พันธมิตรทั้ง 4 ชาติต่างกังวลเกี่ยวกับจีน แต่กลุ่มควอดหลีกเลี่ยงการต่อต้านจีนอย่างเปิดเผย เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับอินเดีย

ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่แน่นแฟ้นของอินเดียกับรัสเซีย รวมถึงการที่นิวเดลีปฏิเสธประณามการรุกรานยูเครน มีแนวโน้มขัดขวางที่ประชุมควอดจากการออกแถลงการณ์ร่วมอย่างแข็งกร้าวต่อประเด็นสงครามยูเครน

ในการประชุมสุดยอดครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม ผู้นำควอดเห็นพ้องว่า ไม่ควรปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนเกิดขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงการคุกคามไต้หวันของจีน แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อปักกิ่งโดยตรงก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น