“ประยุทธ์” พร้อมคณะ เดินทางถึงไทย หลังเสร็จสิ้นประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ยันประชุมไม่มีปัญหาอะไร ขออย่าวิพากษ์วิจารณ์ ชวน “โจ ไบเดน” ร่วมประชุมเอเปก ที่ไทยเป็นเจ้าภาพปลายปีนี้
วันนี้ (15 พ.ค.) เมื่อเวลา 06.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ภายหลังเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ (ASEAN-U.S. Special Summit) ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค. 2565 ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และถือเป็นโอกาสครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียนกับสหรัฐฯ
จากนั้น เวลา 07.05 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า การเข้าร่วมประชุมได้มีการหารือในทุกเรื่อง และโอกาสการเดินทางมาครั้งนี้ ยังได้มีโอกาสพบปะหารือกับ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ และภาคธุรกิจสหรัฐฯ รวมไปถึงได้มีโอกาสพบปะกับประชาชนคนไทยในสหรัฐฯ ซึ่งได้มีการทักทายและสอบถามสารทุกข์สุกดิบ ทุกคนมีความสุข รวมทั้งตนก็ได้เล่าให้ฟังด้วยว่าตอนนี้ประเทศไทยมีอะไรเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอะไรไปแล้วบ้าง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้ขอบคุณสหรัฐฯที่ได้ให้การสนับสนันดูแลด้านสุขภาพของไทย เช่นวัคซีนโควิด-19 และการร่วมมือกันนำพาประเทศ
นอกจากนี้ ตนได้เสนอด้านมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้องกับสงครามที่เกิดขึ้น และความเสียหายที่จะต้องช่วยกันดูแล รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่เสนอการฟื้นฟูระหว่างไทย-สหรัฐฯ ให้ดีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไทยเป็นแกนกลางอาเซียน และจะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีอัจฉริยะ อีกทั้งยังได้หารือกับนักลงทุนในต่างประเทศให้มาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงของการลงทุนใหม่ในหลายประเทศ ซึ่งไทยมีโอกาสในตรงนี้มาก ทั้งนี้ ทราบว่า จะมีการนำนักธุรกิจรายใหญ่ของโลกมาเยือนประเทศสมาชิกอาเซียน โดยใช้ไทยเป็นฐานในปี 2566 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมใหญ่ ตนเองได้เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการเดินตามเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ยืนยันว่า การประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ภายใต้ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ระหว่างอาเซียน กับสหรัฐฯ โดยเฉพาะความมั่นคงด้านสาธารณสุขพลังงาน การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนามนุษย์ เพื่อให้หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ระหว่างเรามีความเข้มแข็งและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น สนับสนุนการฟื้นฟูหลังโควิด-19 อย่างยั่งยืน และในฐานะที่เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกในปีนี้นั้น ได้ถือโอกาสเชิญชวนประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจ ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งมองว่า เป็นเวทีสำคัญที่ไทยจะผลักดันสร้างเสริมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเน้นย้ำว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นประโยชน์อย่างมากมาย ไม่ได้มีปัญหาอะไรอย่างที่วิพากษ์วิจารณ์ ขออย่ากังวล ยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยหยุดนิ่ง สิ่งสำคัญที่สุด เครียดเรื่องเศรษฐกิจ เราต้องมองไปข้างหน้า เราทำงานอย่างมีวิสัยทัศน์ และเดินหน้าประเทศไทยยังทิศทางใด จะร่วมมือกับใคร เราพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศ สิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยจะต้องสงบเรียบร้อย ประเทศไทยจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ที่ปลอดภัย และมีความสงบสุข และเป็นแกนกลางของอาเซียน เพราะตนอยากให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ทุกคนก็อยากมา ใช้เป็นเวทีพูดคุยในการแก้ปัญหาในทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาสิ่งที่เรามีอยู่ในวันนี้ ให้ได้ตลอดไป