“พล.อ.ประยุทธ์” พบผู้นำภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา ย้ำ ไทยเดินหน้าผลักดันความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (13 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ณ โรงแรม Willard InterContinental กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมผู้นำและผู้แทนชาติสมาชิกอาเซียน พบปะผู้นำภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา โดยมี นางจีน่า เรมอนโด (Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา และ นางแคทเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมด้วย โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของคำกล่าวนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มาพบหารือในวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมา มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (USABC) ในหลายโอกาส พร้อมชื่นชมภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่สนับสนุน และมีส่วนร่วมที่แข็งขันในการการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน จึงทำให้ต้องกลับมาทบทวนเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยไทยให้ความสำคัญกับการสร้าง “พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” เพื่อให้ภูมิภาคมีการเติบโตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุค Next Normal ต่อไป ซึ่งประเด็นหลักที่อาเซียนกับสหรัฐฯ สามารถร่วมกันผลักดันมี 3 เรื่อง หรือ “3R” ได้แก่
“Reconnect” ส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงนี้ ผ่านการลงทุนขยายฐานการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่อาเซียนมีศักยภาพและทรัพยากรรองรับ ซึ่งไทยมีพื้นที่ EEC ที่พร้อมเปิดโอกาส ให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ รวมถึงจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการเชื่อมโยงธุรกิจกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยสาขาอุตสาหกรรมที่สามารถร่วมมือกันได้ คือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์ โลจิสติกส์อัจฉริยะ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
สำหรับสาขาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำที่แข็งแกร่ง และมีบริษัทเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนแล้วหลายราย จึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ พิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน อาทิ ต้นน้ำของเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีนโยบายมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิต EV ระดับโลก โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิต EV และผู้พัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง อาทิ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านและสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ได้ด้วย
R ที่สอง คือ “Rebuild” ในยุค 4IR ควรมุ่งพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งมีศักยภาพในการขยายตัวได้ถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2030 พร้อมกล่าวเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในอาเซียน เช่น โครงข่ายอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีคลาวด์ในอุตสาหกรรมการผลิต ดาต้าเซ็นเตอร์ และการให้บริการคอนเทนท์ ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาและบ่มเพาะธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัป ทั้งนี้ ไทยมีไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเลย์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EECi ที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจดิจิทัล และขยายไปสู่ภูมิภาคได้
และสุดท้าย “Rebalance” เป้าหมายของทุกภาคส่วนในเวลานี้ คือ การเร่งฟื้นฟูวิถีชีวิตของผู้คนและสังคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำมาโดยตลอดว่า หัวใจสำคัญ คือ การรักษา “สมดุล” ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ มีศักยภาพในการเข้ามาขยายการลงทุน และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในสาขาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำและพลังงานสะอาดในอาเซียนได้
สำหรับประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปกในปีนี้ จะมุ่งเน้นการสนับสนุนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในบริบทโลกหลังโควิด-19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุลแบบองค์รวมระหว่างทุกสรรพสิ่ง โดยมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดพื้นฐาน ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN. CONNECT. BALANCE.” ซึ่งไทยมุ่งผลักดันประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในเอเปก โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อภาคเอกชน ทั้งนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า เพื่อขับเคลื่อนวาระนี้อย่างต่อเนื่องและให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี หวังว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ จะร่วมกันผลักดันประเด็นในข้างต้น โดยไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนพร้อมที่จะสนับสนุนการขยายโอกาสทางธุรกิจ และขจัดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเพื่อให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ได้รับความสะดวกและประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเศรษฐกิจของอาเซียนและสหรัฐฯ จะได้ก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง