นายกฯ นำทีมประเทศไทย หารือร่วมกับคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ เน้นย้ำไทยเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาค พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจและอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย
วันนี้ (วันที่ 13 พ.ค. 2565) เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ห้อง George Washington โรงแรม St. Regis กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พบหารือระหว่างอาหารเช้ากับคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ (Breakfast Roundatable) ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (U.S.- ASEAN Business Council: USABC) หอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) และ National Center for APEC (NCAPEC) โดยเมื่อเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้เข้าร่วมการหารือและขอบคุณ USABC USCC และ NCAPEC ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมในครั้งนี้ การพบกันในวันนี้เป็นเหมือนการได้พบกับเพื่อนเก่า โดยเฉพาะ USABC ที่ได้พบหารือด้วยเป็นประจำทุกปี รวมทั้ง USCC ที่ได้พบกันทุกครั้งที่ได้เดินทางมาสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังได้พบกับ NCAPEC โดยเฉพาะในห้วงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ มีส่วนร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างภูมิภาคที่เปิดกว้าง เชื่อมต่อกัน และมีความสมดุลอย่างแท้จริง
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงพัฒนาการและนโยบายที่สำคัญเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ และหารือถึงโอกาสที่เราจะร่วมมือกันสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีภูมิต้านทาน ความสมดุล และความยั่งยืน โดยขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย ซึ่งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการไม่ให้โควิด-19 มาเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิต อีกทั้งต้องเรียนรู้และถอดบทเรียนจากวิกฤตินี้ เพื่อเดินหน้าสร้างประเทศไทยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย โดยมีการฟื้นตัว เติบโตประมาณร้อยละ 1.6 ซึ่งภาคเอกชนนักธุรกิจสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญ ขอบคุณความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และเข้ามาลงทุนในไทยเป็นลำดับต้น ๆ รวมถึงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล การแพทย์ BCG อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นต้น ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศ Super Power แต่พร้อมใช้ Soft Power สนับสนุนร่วมมือกับเอกชนสหรัฐฯ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. การเร่งสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกและภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนป้องกันการหยุดชะงักและสร้างภูมิต้านทานสำหรับวิกฤตต่างๆ ในอนาคต รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยไทยพร้อมเป็นส่วนสำคัญและศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาค และจะร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯในการเชื่อมโยงฐานการผลิตของทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน ซึ่งไทยพร้อมต้อนรับการลงทุน ทั้งในการขยายการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย รวมถึงเป็นฐานเชื่อมโยงกับธุรกิจในประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
2. การเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG และให้ความสำคัญกับการดูแลฐานทรัพยากร เร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) เกษตรและอาหาร (2) สุขภาพและการแพทย์ (3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ (4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีมูลค่ารวมถึงประมาณร้อยละ 21 ของ GDP โดยรัฐบาลไทยขอเชิญชวนให้มาลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การแพทย์ทันสมัยและการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น
ในด้านสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การผลิตและใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยขับเคลื่อนผ่านนโยบายพลังงานแห่งชาติ 2565 และแนวทาง 4D1E พร้อมมุ่งมั่นในการพัฒนาการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 50 ของพลังงานที่ผลิตทั้งหมดในประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมข้อริเริ่ม Clean Energy Demand Initiative กับภาคเอกชนสหรัฐฯ และหวังว่า ข้อริเริ่มนี้จะผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับบริษัทสหรัฐฯ ในด้านพลังงานสะอาดได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV โดยรัฐบาลผลักดันนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ระดับโลก ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยต้องการร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ทั้งการพัฒนาโครงข่ายด้านโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและศูนย์บริหารจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและการสร้างบุคลากรดิจิทัลที่มีทักษะสูง
3. การเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทย ไทยพร้อมร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่ให้ความสำคัญ ภายใต้แนวคิด BCG ซึ่งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการจัดทำเอกสารระดับผู้นำ “Bangkok Goals on BCG Economy” โดยจะวางรากฐานระยะยาวให้เอเปกร่วมมือกันจัดการกับวิกฤตภูมิอากาศ เพิ่มความพยายามเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เสริมสร้างการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน และมุ่งสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิด BCG ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยไทยมีแผนจัดการหารือโต๊ะกลมในกรอบเอเปคเพื่อระดมความเห็นเรื่องหุ้นส่วนเหล่านี้ในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ ไทยยินดีที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ที่ไทยผลักดัน โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการค้า ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน และการลดคาร์บอนและพลังงานสะอาด โดยการประชุมของ ABAC ที่ NCAPEC มีส่วนร่วม เป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจของเอเปก ซึ่งภายใต้กลไกดังกล่าว ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อน FTAAP ในยุคหลังโควิด-19 ทั้งนี้ ไทยพร้อมจะแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพื่อต่อยอดการดำเนินการในเรื่องที่เป็นความสนใจร่วมกันระหว่างสองฝ่ายในปีการเป็นเจ้าภาพเอเปกของสหรัฐฯ และในอนาคต
โดยในส่วนของภาคเอกชนต่างชื่นชมบทบาทของนายกรัฐมนตรี นโยบายสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติที่นายกรัฐมนตรีผลักดัน เชื่อมั่นต่อโอกาส การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของไทยที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน แม้ว่าทั่วโลกจะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ แต่ความร่วมมือกันจะทำให้แก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น รวมทั้งเชื่อมั่นว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยในปีนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าการลงทุน ทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาค ซึ่งทุกปัจจัยจะส่งผลสำคัญต่อการฟื้นฟูให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทเอกชนสหรัฐฯ ที่ได้เข้าร่วมด้วยมีดังนี้ ประธานและ CEO สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC), นาย Charles Freeman รองประธานอาวุโสด้านเอเชีย หอการค้าสหรัฐฯ (USCC), นาย Alex Parle รองประธานบริหาร National Center for APEC (NCAPEC), Chevron, ConocoPhillips, AirBnB, Marriott, Koch Industries, Lockheed Martin, Organon, PhRMA, Tyson Foods, Boeing, FedEx และ Tesla