xs
xsm
sm
md
lg

‘ซัมมิตสหรัฐฯ-อาเซียน’ ไม่อาจช่วยให้ ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ ของไบเดน หลุดออกจากภาวะ ‘ภาพมายา’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร ***


การ์ตูนล้อของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ของทางการจีน มุ่งเสียดสีประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าพยายามดึงเอาชาติอาเซียนมาช่วยผลักดันนโยบายเล่นงานจีนของตน ซึ่งกำลังไปไม่รอด
Indo-Pacific strategy adrift in an illusion
BY M. K. BHADRAKUMAR
13/05/2

พวกประเทศอาเซียนนั้นมีชีวิตชีวาอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยการค้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทว่า วอชิงตันกลับหมกมุ่นโฟกัสอยู่ที่เรื่องความมั่นคงและการทูตแบบใช้อำนาจบีบบังคับ และการไม่สอดคล้องสมพงศ์กันเช่นนี้เองที่เป็นเครื่องขวางกั้นไม่ให้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของอเมริกันเป็นที่ยอมรับ

หนังสือพิมพ์ “โกลบอลไทมส์” ของจีน ตีพิมพ์การ์ตูนล้อการเมืองภาพหนึ่งเนื่องในโอกาสการประชุมซัมมิตระหว่างสหรัฐฯ กับสมาคมอาเซียน ณ กรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม โดยวาดเป็นรูปประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กำลังขอความช่วยเหลือจากรถบัสคันหนึ่งซึ่งพวกเจ้าหน้าที่อาเซียนนั่งกันอยู่ เพื่อให้ดันรถถังออกศึกของเขาซึ่งติดแหง็กอยู่ในหล่มโคลนและจมลงไปเรื่อยๆ

แน่นอนทีเดียวว่า รถถังของไบเดนกำลังอยู่บนเส้นทางมุ่งหน้าสู่จีน การ์ตูนชิ้นนี้เสนอให้เห็นภาพความกระเสือกกระสนของสหรัฐฯ ซึ่งต้องการดึงเอาประเทศอาเซียนทั้งหลายเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรอยู่ในสิ่งที่วอชิงตันเรียกว่า “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะปิดล้อมจีน พวกประเทศอาเซียนนั้นมีชีวิตชีวาอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยการค้าขาย ทว่า วอชิงตันกลับหมกมุ่นโฟกัสอยู่ที่เรื่องความมั่นคงและการทูตแบบใช้อำนาจบีบบังคับ และการไม่สอดคล้องสมพงศ์กันเช่นนี้เองที่เป็นเครื่องขวางกั้นไม่ให้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของอเมริกันเป็นที่ยอมรับ

ซัมมิตครั้งนี้เกิดขึ้นมาในจังหวะเวลาที่ทรงความสำคัญ โดยเป็นขณะซึ่งพวกผู้นำอาเซียนต้องการที่จะทราบว่า ไบเดนมีอะไรที่จะเสนอหรือไม่ในเรื่องของความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ - อย่างเช่น การค้า และการลงทุน - หรือจะยังคงยินยอมปล่อยให้เรื่องการบูรณาการทางเศรษฐกิจเข้ากับภูมิภาคของพวกเขาเป็นเรื่องของจีนต่อไปอีก ทั้งนี้เมื่อปี 2021 การค้าที่จีนทำกับพวกประเทศอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับ 878,200 ล้านดอลลาร์แล้ว ทิ้งไปไกลสุดกู่ทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน (362,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ตามตัวเลขล่าสุดเท่าที่จะหาได้ของปี 2021)

การประชุมซัมมิตคราวนี้ไม่เป็นที่คาดหวังกันว่าจะก่อให้เกิดเนื้อหาสาระอะไรกันมากมาย ไบเดนเองก็ให้ความหมายความสำคัญกับมันในเชิงสัญลักษณ์ เขาวาดหวังว่าจะสามารถสร้างความประทับใจให้แก่คณะผู้นำของอาเซียนได้ว่า ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการตัดสินโชคชะตากันด้วยสงครามที่กำลังเดือดระอุในยุโรปเช่นนี้ แต่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกยังคงเป็นแรงปรารถนาอยู่ในหัวใจของเขา

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ไบเดนวาดหวังที่จะผลักดันประเด็นปัญหาเรื่องยูเครนให้เหล่าผู้นำอาเซียนพิจารณา เพื่อหาทางจับมือเป็นแนวร่วมกับพวกเขาในการต่อต้านคัดค้านมอสโก ทว่าพวกประเทศอาเซียนนั้นมีทัศนะที่ปนเปกันหลายหลากในเรื่องยูเครน พม่าอยู่ที่สุดปลายหนึ่งโดยเป็นผู้สนับสนุนรัสเซีย ขณะที่สิงคโปร์เข้าร่วมกับวอชิงตันโดยสัญชาตญาณในการใช้มาตรการแซงก์ชันคว่ำบาตรรัสเซีย สำหรับเวียดนามกับลาว ซึ่งมีการติดต่อเชื่อมโยงกับมอสโกอย่างเข้มแข็งมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ได้งดออกเสียงในการโหวตญัตติตำหนิรัสเซียในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ พวกประเทศอาเซียนทั้งหลายต่างรู้สึกกังวลในเรื่องที่ราคาของน้ำมัน แก๊ส ข้าวสาลี และปุ๋ยพุ่งขึ้นพรวดพราดสืบเนื่องจากการสู้รบขัดแย้งกันในยูเครน และเรียกร้องให้มีการใช้หนทางด้านการทูตมาคลี่คลายวิกฤตครั้งนี้

คำขอร้องของวอชิงตันให้งดเชิญรัสเซียเข้าร่วมในการประชุมระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจี-20 การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ตลอดจนเอเปก ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงต่อไปของปีนี้ ล้วนแต่ไม่ได้รับการเอออวยจากชาติอาซียนซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ (ซึ่งได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา และไทย ตามลำดับ) ความพยายามของวอชิงตันในการฉายภาพวิกฤตยูเครนว่าเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการรวบอำนาจ ย่อมใช้ไม่ได้ผลอะไรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศต่างๆ มีการใช้ระบอบปกครองเผด็จการรวบอำนาจแบบลูกผสมกันอย่างกว้างขวาง (โดยมีเพียงอินโดนีเซียกับมาเลเซียเท่านั้นที่อาจจัดอยู่ในข่ายยกเว้น) ประเทศอาเซียนทั้งหลายต่างไม่ต้องการที่จะเห็นระเบียบโลกแบบที่แตกออกเป็น 2 ขั้วเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งไม่ต้องการที่จะตกลงไปในกับดักแห่งความเป็นศัตรูกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นอกจากนั้นแล้ว รัสเซียยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เวลานี้หาได้ยากจริงๆ ซึ่งสามารถเสนอพื้นที่สำหรับให้อาเซียนขยับขยายอะไรกันได้บ้าง ในเวลาที่พวกเขาต้องเดินหมากก้าวไปในท่ามกลางความสัมพันธ์อันเขม็งเกลียวระหว่างสหรัฐฯ-จีน

เป็นเรื่องซึ่งน่าสนใจมากทีเดียวที่จะเฝ้าติดตามว่า ไบเดนจะถึงกับเรียกร้องผลักดันอย่างรุนแรงยิ่งกว่าที่เคยกระทำ ด้วยการกดดันพวกผู้นำอาเซียนให้ตัดลดการซื้อหาอาวุธจากมอสโก หรือข่มขู่ที่จะลงโทษพวกเขาด้วยมาตรการแซงก์ชันฐานผู้สมรู้ร่วมคิดจากการที่พวกเขาซื้อหาบริโภคน้ำมันรัสเซียหรือไม่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เวียดนาม พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ซื้อหาฮาร์ดแวร์ทางการทหารจากรัสเซียในจำนวนที่ถือว่าเป็นเนื้อเป็นหนังทีเดียว

กล่าวกันในระดับรากฐานแล้ว สหรัฐฯ อยู่ในฐานะที่อ่อนแอไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จตามแผนการที่วางไว้ สืบเนื่องจากขาดไร้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการค้าซึ่งเข้มแข็งจริงจังมาตอบโต้ทัดทานจีนที่กำลังมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคนี้ คณะบริหารไบเดนอยู่ในภาวะที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่เจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ฉบับใหม่ใดๆ ทั้งสิ้น เหตุเพราะในสหรัฐฯ อารมณ์ความรู้สึกแบบนักลัทธิกีดกันการค้ากำลังพุ่งปรี๊ด ดังนั้น การเปิดประตูให้ต่างชาติเข้าถึงตลาดอเมริกันจึงล้วนถูกมองว่าเป็นหนทางนำไปสู่หายนะทางการเมือง

ในทางตรงกันข้าม อาเซียนกลับกำลังเพลิดเพลินสนุกสนานกับทางเลือกต่างๆ ในเรื่องการค้าเสรี เวลานี้ทางสมาคมกำลังเจรจาเพื่อจัดทำเอฟทีเอกับแคนาดา ขณะที่พวกรัฐสมาชิกของอาเซียนจำนวนมากเป็นผู้ร่วมลงนามใน “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) สำหรับปักกิ่งก็คิดในทำนองเดียวกัน - กระทั่งยื่นสมัครขอเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ด้วยซ้ำ ขณะที่กำลังอาศัย RCEP มาบรรลุจุดมุ่งหมายในการบูรณาการเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับอาเซียนมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม อีกด้านหนึ่งซึ่งวอชิงตันถูกปักกิ่งทิ้งห่างไปไกลลิบ ได้แก่ เรื่องการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สหรัฐฯ กำลังพยายามประโคมแผนการริเริ่ม “Build Back Better World” ของตน ซึ่งคิดขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน ทว่ามันยังคงเป็นแค่ฟองน้ำลายเท่านั้น ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมให้เห็นกันจะจะ

แผนแม่บททางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) ที่ประกาศกันออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ นั้น ดูไม่น่าที่จะเย้ายวนดึงดูดใจพวกผู้นำอาเซียนได้ ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า สำหรับประเทศอาเซียนแล้ว ตลาดที่มีขนาดใหญ่โตกว่าอย่างเห็นๆ ก็คือตลาดจีน พวกเขาจะไม่ถูกโน้มน้าวชักจูงให้ยอมเอออวยสร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นมาใหม่ชนิดที่หย่าร้างตัดขาดจากจีนอย่างสิ้นเชิงหรอก

นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ไม่มีความปรารถนาที่จะต้องเลือกเอา” ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แท้ที่จริงแล้ว อาเซียนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรักษาความสัมพันธ์ในทางบวกกับทั้งวอชิงตันและปักกิ่งเอาไว้ แต่ความย้อนแย้งก็คือว่า ขณะที่ระหว่างบางประเทศอาเซียนกับสหรัฐฯ อาจจะมีการบรรจบพบเจอกันในทางยุทธศาสตร์ขึ้นมาได้ ในเรื่องเกี่ยวกับการผงาดขึ้นมาของจีน แต่จากแบบแผนวิธีดำเนินการซึ่งสหรัฐฯ เลือกใช้ มันก็ก่อให้เกิดความแตกแยกออกไปกันคนละทางด้วยเหมือนกัน - โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายของวอชิงตันที่จะตอบโต้ทัดทานการผงาดขึ้นมาของจีน ด้วยการสร้างระเบียบทางความมั่นคงที่นำโดยสหรัฐฯ ขึ้นมานั้น อาจจะกลายเป็นตัวบ่อนทำลายความสามัคคีภายในอาเซียน เช่นเดียวกับการที่สหรัฐฯ นำมาตรการแซงก์ชันเข้ามาใช้โดยถือว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการดำเนินการทางการทูตของตน

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ นั้นเล่าเรื่องวาดภาพให้เห็นไปว่า การที่จะพัฒนาภูมิภาคนี้ให้ “มีความเสรี” และ “เปิดกว้าง” ได้นั้นจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกันและเป็นหุ้นส่วนกันอย่างเข้มแข็ง เป้าหมายเช่นนี้ชักชวนให้ไปสู่การจัดตั้งกลุ่ม “คว็อด” (Quad) ซึ่งมุ่งที่จะทำให้ความพยายามในการรับมือกับการผงาดขึ้นมาของจีนแลดูเนียนตามากขึ้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่อาเซียนไปด้วยกันไม่ได้กับกลุ่มคว็อด ก็คือความปรารถนา (และความจำเป็น) ของอาเซียน ที่จะต้องเข้ามีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นกับปักกิ่ง และการที่อาเซียนนิยมให้มีความร่วมมือกันในแบบดึงเอาทุกๆ ฝ่ายเข้ามาร่วม ตรงนี้ ปักกิ่งเพิ่งเสนอหนทางเลือกเพื่อออกมาต่อกรกับวอชิงตันซึ่งมุ่งผลักดันระเบียบความมั่นคงที่นำโดยสหรัฐฯ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศเสนอแนะ “แผนการริเริ่มความมั่นคงระดับโลก” (Global Security Initiative) ในการปราศรัยเปิดเวทีประชุมปั๋วเอ๋าเพื่อเอเชีย (Boao Forum for Asia) ประจำปี 2022 ไม่นานมานี้ โดยโฟกัสเน้นหนักที่หลักการต่างๆ อย่างเช่น ความมั่นคงที่ไม่อาจถูกแบ่งแยก
(ดูรายละเอียดคำปราศรัยของ สี จิ้นผิง ในเรื่องนี้ได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202204/t20220421_10671083.html)

เกี่ยวกับทะเลจีนใต้ การประชุมซัมมิตที่กรุงวอชิงตันคราวนี้น่าจะมีความพยายามป่าวร้องให้ดังๆ อย่างเคยๆ เกี่ยวกับเรื่องยึดมั่นปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (UN Convention on the Law of the Sea) และการใช้หนทางสันติมาแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ แต่ตรงนี้ก็เหมือนกันนั่นแหละ อาเซียนจะมีความมั่นอกมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับความจริงใจของสหรัฐฯ ในการให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน (centrality) ในโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางความมั่นคงของภูมิภาค เรื่องนี้ยังคงเป็นสิ่งที่สงสัยข้องใจกันอยู่

เวลาเดียวกัน มีปัจจัยใหม่ประการหนึ่ง ได้แก่ชัยชนะในการเลือกตั้งของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของฟิลิปปินส์ พร้อมกันนั้น เพื่อนร่วมทีมที่ลงแข่งขันในตำแหน่งรองประธานาธิบดีของเขาและได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นยิ่งกว่าตัวเขาเสียอีก คือ ซารา ดูเตอร์เต ลูกสาวของ โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีคนที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง โดยที่ ดูเตอร์เต ผู้พ่อนี่เองซึ่งแสดงให้เห็นถึงทักษะความสามารถในการแผ้วถางพื้นที่จุดยืนตรงกลางระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันขึ้นมา รวมทั้งต้านทานความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในทะเลจีนใต้ โดยกลับเลือกที่จะทำงานกับปักกิ่งเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางดินแดน ตลอดจนมุ่งมั่นรักษาช่องทางการติดต่อสื่อสารในระดับสูงกับปักกิ่งในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่มีความสนใจห่วงใยร่วมกัน ซึ่งก็รวมไปถึงการติดต่อโดยตรงกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ด้วย

หนึ่งในนโยบายสำคัญที่มาร์กอส จูเนียร์ ประกาศเอาไว้ว่าจะถือเป็นผลงานระดับมรดกสืบทอดสู่ชนรุ่นหลังของสมัยการเป็นประธานาธิบดีของเขา ได้แก่ การลงนามทำสัญญาข้อตกลงทวิภาคีกับจีนเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ ในสารแสดงความยินดีซึ่ง สี จิ้นผิง ส่งไปถึงมาร์กอส ก็บ่งบอกให้เห็นว่า ปักกิ่งดูเหมือนมีความรู้สึกรับรู้ถึงโอกาสที่จะรีเซตความสมดุลของความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับมะนิลาเสียใหม่ เราสามารถที่จะวาดภาพได้ว่า ถ้าหากฟิลิปปินส์กับจีนเข้าสู่การร่วมมือกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถแก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ของพวกเขาได้ในท้ายที่สุดแล้ว มันก็จะกลายเป็นการเขย่าทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บ่อนทำลายความพยายามของสหรัฐฯ ในการสร้างสมกำลังทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียยงใต้ และทำให้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของไบเดน กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไร้ความหวังกันไปเลย
(ดูเพิ่มเติมสารแสดงความยินดีของสี จิ้นผิง ได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202205/t20220512_10684991.html)

น่าสนใจมากที่ว่า ฟิลิปปินส์ซึ่งในอดีตเคยเป็นพันธมิตรผู้ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ กลับไม่ได้ส่งผู้นำไปเข้าร่วมการประชุมซัมมิตที่วอชิงตันคราวนี้ โดยให้เหตุผลเรื่องที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในมะนิลา ทั้งนี้ระหว่างสมัยการเป็นประธานาธิบดีตลอดทั้ง 6 ปีของดูเตอร์เต เขาไม่เคยเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียว

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/battle-for-mariupol-is-ending/

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ (กลาง) ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับบรรดาผู้นำชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ณ สนามหญ้าหน้าทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน วันที่ 12 พ.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมซัมมิตสหรัฐฯ-อาเซียนคราวนี้
หมายเหตุผู้แปล

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เขียนเรื่อง ‘ซัมมิตสหรัฐฯ-อาเซียน’ ไม่อาจช่วยให้ ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ ของไบเดน หลุดออกจากภาวะ ‘ภาพมายา’ ขณะที่การประชุมซัมมิตยังไม่ยุติ เพื่อให้สมบูรณ์รอบด้านมากขึ้น ผู้แปลจึงขอเก็บความรายงานข่าวเรื่อง ของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ที่พูดถึงผลที่ออกมาจากการประชุม ตลอดจนความคิดเห็นของนักวิเคราะห์วิจารณ์มาเสนอในที่นี้

ขณะที่จีนและสหรัฐฯ ต่างพยายามแผ่อิทธิพล แต่ชาติอาเซียนยังคำนึงถึงความต้องการของพวกเขาเองเป็นอันดับแรก 
โดย เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ 

As China, US vie for influence, Asean states put their own needs first, experts say 
By Jack LauKinling Lo in Beijing and Teddy Ng in Hong KongSouth China Morning Post 
14/05/2022

วอชิงตันกำลังกลับมีความสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง และกำลังประกาศ “ยุคใหม่” ในความสัมพันธ์กับชาติอาเซียน แต่พวกผู้สังเกตการณ์มองว่า ในการมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจทั้งสองรายที่กำลังแก่งแย่งแข่งขันกันอยู่นี้ บรรดารัฐสมาชิกสมาคมอาเซียนพูดชัดว่าไม่ต้องการเข้าข้างใคร และยึดมั่นเรื่องการธำรงรักษาอธิปไตยของตน

บรรดารัฐสมาชิกของสมาคมอาเซียนจะไม่เลือกเข้าข้างใครทั้งนั้น ขณะที่การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยิ่งเพิ่มความดุเดือดขึ้นอีกในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ประเทศเหล่านี้จะเลือกใช้วิธีเข้าติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจสองรายนี้โดยอิงอยู่กับความจำเป็นต่างๆ ของพวกเขาเอง พวกผู้สังเกตการณ์ทางการทูตหลายรายให้ความเห็นเอาไว้เช่นนี้

การประเมินดังกล่าวนี้มีขึ้นหลังจากวอชิงตันตัดสินใจที่จะอัปเกรดความสัมพันธ์ซึ่งตนมีอยู่กับชาติสมาชิกทั้ง 10 ของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประกาศชื่อ โยฮันเนส อับราฮัม ประธานคณะเจ้าหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งนั่งทำงานกันอยู่ในทำเนียบขาว ให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนใหม่ประจำสมาคมอาเซียน หลังจากตำแหน่งนี้ถูกปล่อยให้ว่างมาตั้งแต่ปี 2017

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พยายามอธิบายให้เห็นถึงคุณค่าแก่การประชุมซัมมิตคราวนี้ ขณะที่เขาเป็นเจ้าภาพต้อนรับบรรดาผู้นำของสมาคมอาเซียนในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันศุกร์ (13 พ.ค.) โดยบอกว่า “ในเวลาที่เรามองไปรอบๆ โลก มองดูความท้าทายทั้งหมดที่เรากำลังเผชิญอยู่ ผมคิดว่า ความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ นั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในการเผชิญกับช่วงขณะที่เรากำลังพบว่าตัวเราเองประสบอยู่ในประวัติศาสตร์ ณ เวลานี้”

ไบเดนบอกด้วยว่า ความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ มีอยู่กับอาเซียนกำลังเข้าสู่ “ยุคใหม่” และความร่วมมือกันจะมีการขยายไปในแนวรบด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย ตั้งแต่เศรษฐกิจดิจิทัลไปจนถึงเรื่องความมั่นคงในทะเลจีนใต้

แต่ข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่า วอชิงตันกลับมามีความสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใหม่อีกครั้งคราวนี้ บังเกิดขึ้นภายหลังที่ปักกิ่งมีปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้มาหลายปีแล้วทั้งโดยผ่านการค้า โครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการควบคุมโรคระบาด

ดริว ธอมป์สัน (Drew Thompson) นักวิจัยอาคันตุกะอาวุโส (visiting senior research fellow) ณ คณะนโยบายสาธารณะลีกวนยู (Lee Kuan Yew School of Public Policy) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ให้ความเห็นว่า การที่เราจะบอกว่าประเทศอาเซียนทั้งหลายตกอยู่ตรงกลางที่ต้องเลือกเอาระหว่างจีนหรือสหรัฐฯ นั้นเป็นการพูดง่ายเกินไป

“สหรัฐฯ นั้นมุ่งให้พวกเขา (อาเซียน) สามารถที่จะเลือกได้หลายๆ ทาง และทางเลือกเหล่านี้ก็ไม่ใช่เป็นทางเลือกพิเศษเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเลือกทางอื่นๆ ได้อีก” ธอมป์สันบอก

“แล้วผมคิดว่าในหลายๆ กรณีทีเดียว จีนก็จะต้องพูดอย่างแน่นอนว่าพวกเขาก็กำลังทำอย่างเดียวกันนี้ พวกเขาไม่ได้กำลังบังคับให้ประเทศอาเซียนทั้งหลายต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างใคร”

ธอมป์สัน ชี้ว่า อันที่จริงแล้ว ในช่วงที่ผ่านๆ มาพวกรัฐอาเซียนต่างกำลังดูดซับเอาผลประโยชน์จากความผูกพันต่างๆ อย่างหลายหลากของพวกเขา ซึ่งรวมถึงความผูกพันที่มีอยู่กับจีนและกับสหรัฐฯ ด้วย ทั้งนี้ “ตัวแปรที่สำคัญที่สุดในนโยบายการต่างประเทศของพวกเขาก็คือเรื่องอธิปไตย”

“ตัวอย่างเช่น พวกเขาจะไม่ตัดสินใจเลือกทำการค้ากับประเทศหนึ่งหรือกับอีกประเทศหนึ่งหรอก ถ้าหากการตัดสินใจเช่นนั้นละเมิดอารมณ์ความรู้สึกในเรื่องอธิปไตยซึ่งพวกเขามีการพัฒนาขึ้นมาอย่างแรงกล้ามากๆ หรือละเมิดความสำคัญของอธิปไตยในนโยบายการต่างประเทศของพวกเขา”

ทางด้าน สือ อินหง (Shi Yinhong) ศาสตราจารย์ด้านการระหว่างประเทศศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน (Renmin University) ในกรุงปักกิ่ง แสดงความเห็นพ้องกับเรื่องนี้ และบอกว่าความจำเป็นของแต่ละประเทศจะเป็นตัวตัดสินว่า ประเทศอาเซียนเลือกที่จะเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐฯ หรือว่าจีน

“มันก็เป็นการแข่งขันกันตามปกติธรรมดานะ มันเป็นเรื่องของการเสาะแสวงหาโอกาสต่างๆ และใช้โอกาสเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มันก็มีหลักการข้อใหญ่ข้อหนึ่ง นั่นคือ คุณไม่สามารถที่จะข่มขู่ คุกคามผลประโยชน์ระดับพื้นถิ่นได้” สือ กล่าว

“ในภาพรวมแล้ว สิงคโปร์ กับลาว มีความโน้มเอียงที่จะแสดงความสม่ำเสมอมากกว่าในความผูกพันที่มีอยูกับจีน ขณะที่พวกประเทศอาเซียนอื่นๆ มีความไหลลื่นมากกว่า”

สือ ชี้ด้วยว่า จีนนั้นไม่ค่อยจะแสดงปฏิกิริยาแรงกล้าอะไรต่อการตัดสินใจด้านนโยบายการต่างประเทศของพวกประเทศอาเซียนหรอก ยกเว้นในกรณีที่มันไปแตะต้องการอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวันและทะเลจีนใต้ของปักกิ่งเข้าเท่านั้น

กระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในภูมิภาคนี้ยังคงมีความกังวลกันเกี่ยวกับการสร้างสมกำลังทหารของจีน โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งปักกิ่งอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับชาติสมาชิกอาเซียนจำนวนหนึ่ง และกับไต้หวัน

ภายหลังการประชุมซัมมิตวอชิงตันคราวนี้ อาเซียนและสหรัฐฯ ได้ออกคำแถลงร่วมที่ระบุว่า พวกเขาจะจัดตั้ง “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านของอาเซียน-สหรัฐฯ” (Asean-US  Comprehensive Strategic Partnership) ขึ้นมาในเดือนพฤศจิกายนนี้

โดยที่ส่วนหนึ่งของข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ทั้งสองฝ่ายจะยกระดับความร่วมมือกันทางทะเล ซึ่งรวมไปถึงการร่วมมือกันในระหว่างหน่วยงานด้านกฎหมายทางทะเลเพื่อสกัดกั้นการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย ตลอดจนรับประกันเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ โดยที่เรื่องหลังนี้คือแหล่งที่มาของความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งอยู่บ่อยครั้ง

สหรัฐฯ นั้นไม่ได้เป็นชาติที่ร่วมอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้อะไรกับเขา ทว่าได้ส่งเครื่องบินและเรือทางทหารเข้าไปในน่านน้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนี้อย่างไม่ขาดระยะมานานปีแล้ว ด้วยเหตุผลข้ออ้างว่า “เป็นการปฏิบัติการเพื่อสำแดงออกซึ่งเสรีภาพในการเดินเรือและการเดินอากาศ”  - แต่ฝ่ายจีนมองว่าคือการละเมิดอธิปไตยของตน

ถึงแม้ปักกิ่งบอกว่ายินดีต้อนรับความพยายามที่มีความสร้างสรรค์ของฝ่ายอเมริกันในภูมิภาคนี้ แต่เอาเข้าจริงจีนมีความระแวงสงสัยในการเข้ามาพัวพันเกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ด้วยความหวั่นเกรงว่ามันจะเป็นการมุ่งหมายก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางการทหารที่นำโดยวอชิงตันในสไตล์คล้ายๆ กับองค์การนาโต้ ขึ้นมาในเอเชีย

ทั้งนี้ จีนได้เรียกร้องประเทศเอเชียทั้งหลายให้ระมัดระวังเรื่องนี้ และต่อต้านความพยายามใดๆ ก็ตามทีที่จะยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้ากันขึ้นมาในภูมิภาค

ระหว่างพูดหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ปรัก สุคน ของกัมพูชา ผ่านทางวิดีโอลิงก์เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน กล่าวว่า ประเทศเอเชียทั้งหลายควรต่อต้านความพยายามต่างๆ ที่จะ “นำเอาความคิดจิตใจแบบยุคสงครามเย็นเข้ามาในภูมิภาคนี้ และกระตุ้นยุยงให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างค่ายต่างๆ”

จากซัมมิตวอชิงตันคราวนี้ สหรัฐฯ กับอาเซียนยังเห็นชอบในแผนการที่จะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความผูกพันกันทางเศรษฐกิจ และร่วมมือกันในด้านโครงสร้างพื้นฐาน แอปพลิเคชันเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชน บริการทางการเงินแบบดิจิทัล และเรื่องการรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ - โดยที่ทางสหรัฐฯ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดสรรงบประมาณจำนวน 150 ล้านดอลลาร์เพื่อการนี้

อีแวน เฟเกนโบม (Evan Feigenbaum) รองประธานทางด้านการศึกษา ณ มูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) ทักท้วงว่า ถึงแม้ให้คำมั่นจะให้เงิน 150 ล้านดอลลาร์แล้ว แต่สหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้มีการจัดทำรายละเอียดในเรื่องที่ว่าตนจะสามารถเป็น “ผู้กำหนดมาตรฐาน” (standard setter) ขึ้นมาได้อย่างไร โดยเฉพาะในแวดวงซึ่งทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวด อย่างเช่น เศรษฐกิจดิจิทัล และพวกเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะปรากฏขึ้นมา

“ประเด็นจริงๆ อยู่ตรงที่ว่าสหรัฐฯ ได้หลงลืมบทบาทที่ตนเองเคยกระทำมาแต่ไหนแต่ไรแล้วในเรื่องการเป็นชาติที่คอยกำหนดจัดวางมาตรฐานขึ้นมา” เขาบอก และกล่าวต่อไปด้วยว่าสิ่งที่พวกประเทศอาเซียนต้องการกันจริงๆ นั้นคือการได้เข้าถึงตลาดอเมริกัน

ในเรื่องนี้เขาให้ความเห็นว่า “ผมไม่คิดว่ามันจะมีข้อตกลงการค้าอะไรออกมาหรอก แต่ผมคิดจริงๆ ว่าสหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องขบคิดให้ชัดเจนว่าตัวเองต้องการที่จะแสดงบทบาทชนิดไหน”

ขณะที่ ผาง จงอิง (Pang Zhongying) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสมุทรแห่งประเทศจีน (Ocean University of China) มีความเห็นว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องแก้ไขคลี่คลายความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ ระหว่างการที่สหรัฐฯ ยังคงวางตัวเป็นผู้นำระดับโลก กับการที่สหรัฐฯ ประกาศยอมรับความเป็นแกนกลางของอาเซียน -- ซึ่งก็คือแนวความคิดที่ว่าอาเซียนควรจะเป็นผู้ขับดันความร่วมมือต่างๆ ในภูมิภาค

นักวิชาการจีนผู้นี้ชี้ว่า “สหรัฐฯ ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะเขาร่วมใน RCEP” ซึ่งหมายถึงข้อตกลงทางการค้าที่เรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic
Partnership)

“แต่สหรัฐฯ กลับเรียกร้องต้องการให้อาเซียนเข้าร่วมในแผนแม่บททางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ของตน นี่ย่อมทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบอสมมาตรขึ้นมาอยู่แล้ว” เผิง กล่าว และบอกต่อไปว่า เรื่องที่กล่าวอ้างกันว่าแผนการริเริ่มอินโด-แปซิฟิกนี้ของอเมริกัน มุ่งที่จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นมา อย่างเช่น คุณภาพในระดับสูง และความโปร่งใสนั้น เวลานี้ยังไม่ได้ปรากฏออกมาให้เห็นกันเลย

ความท้าทายอีกประการหนึ่งสำหรับสหรัฐฯ จะเป็นการกล่อมให้พวกประเทศอาเซียนมั่นอกมั่นใจที่จะใช้มาตรการแซงก์ชันเอากับรัสเซีย

ผาง บอกว่า “เสียงเงียบส่วนข้างมาก” ของอาเซียน -- ซึ่งก็คือรัฐสมาชิกทุกรายยกเว้นสิงคโปร์ ต่างบอกปัดไม่ต้องการเข้าร่วมในการแซงก์ชันมอสโก สืบเนื่องจากความผูกพันอันใกล้ชิดที่มีอยู่กับรัสเซียหรือกับจีน

ทั้งนี้ ปรากฏว่าคำแถลงร่วมของซัมมิตสหรัฐฯ-อาเซียนครั้งนี้ ไม่ได้มีการเอ่ยถึงรัสเซียหรือการรุกรานของรัสเซียเลย แต่กระนั้นก็มีการเรียกร้องให้ “เคารพในอธิปไตย ความเป็นอิสระทางการเมือง และบูรณภาพแห่งดินแดน” รวมทั้ง “การยุติความเป็นปรปักษ์ต่อกันในทันที” และ “การอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีความจำเป็นในยูเครน สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และไม่ถูกขวางกั้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น