xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ อินเดียเยือนยุโรปเร้ายุติสงครามยูเครน แต่ไม่ประณามรัสเซีย ขณะ 50 บริษัทภารตะจ่อไปแดนหมีขาวหาลู่ทางเสียบแทนที่ บ.ตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย (ซ้าย) ร่วมแถลงข่าวกับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี (ขวา) ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีในกรุงเบอร์ลิน ภายหลังการพบปะหารือกันเมื่อวันจันทร์ (2 พ.ค.)
นายกฯนเรนทรา โมดี ของอินเดีย เริ่มต้นการเยือนยุโรปเมื่อวันจันทร์ (2 พ.ค.) โดยเรียกร้องให้ใช้การเจรจาเพื่อยุติสงครามในยูเครน แต่ยังคงหลีกเลี่ยงที่จะประณามการรุกรานของรัสเซีย แถมมีรายงานข่าวว่าปลายเดือนนี้ผู้ส่งออกแดนภารตะราว 50 รายยังเตรียมบินลัดฟ้าสู่มอสโกเพื่อดูลู่ทางการค้า หวังเข้าเสียบแทนตะวันตกที่ถอนตัวไปตามมาตรการแซงก์ชันคว่ำบาตร

นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ซึ่งพยายามเดินหมากการทูตรักษาสายสัมพันธ์กับทั้งฝ่ายตะวันตกและทางมอสโกอย่างระมัดระวัง กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังพบหารือกับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนีในกรุงเบอร์ลินเมื่อวันจันทร์ว่า นับจากวิกฤตยูเครนเริ่มต้นขึ้น แดนภารตะก็ยืนยันเรื่อยมาว่า การหยุดยิงและการเจรจากันเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ไขข้อพิพาท

โมดี เสริมว่า นอกจากผลกระทบด้านมนุษยธรรมแล้ว สงครามยูเครนยังเพิ่มความกดดันต่อราคาน้ำมันและอุปทานอาหารโลก ซึ่งทำให้ทุกครอบครัวทั่วโลกต้องแบกภาระหนักขึ้น

อย่างไรก็ดี ทางด้านชอลซ์กล่าวประณามแดนหมีขาวอย่างเปิดเผยว่า สงครามในยูเครนคุกคาม “ระเบียบโลกที่ยึดโยงอยู่กับกฎกติกา” โดยรัสเซียได้ทำลายหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการโจมตียูเครน และสำทับว่า สงครามและการทำร้ายพลเรือนอย่างทารุณในยูเครนสะท้อนว่า รัสเซียกำลังละเมิดหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ

ผู้นำเมืองเบียร์ยังเรียกร้องให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ถอนทหารรัสเซียออกจากยูเครน

#อินเดียนำเข้าน้ำมันรัสเซียเพิ่ม

ชอลซ์เสริมว่า ตนกับโมดีเห็นพ้องว่า พรมแดนเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ไม่ควรมีข้อสงสัยในอธิปไตยของแต่ละประเทศ ทั้งคู่ยังหารือเกี่ยวกับอนาคตที่ดียิ่งขึ้นด้วยการทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ใช่การทำสงคราม

หลังจากนั้นรัฐบาลของสองประเทศลงนามคำแถลงร่วม “สนับสนุนอย่างแข็งขัน” สำหรับการเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) และอินเดียในอนาคต

นายกรัฐมนตรีเยอรมนียืนยันว่า ได้เชิญโมดีเป็นแขกพิเศษในการประชุมสุดยอดของกลุ่มจี7 เดือนหน้า ซึ่งถูกมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการขยายกลุ่มพันธมิตรต่อต้านรัสเซีย

สื่อบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (1) โดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ บอกว่า ก่อนหน้านี้ ชอลซ์กังวลที่โมดีไม่ยอมประณามรัสเซีย ซ้ำอินเดียยังนำเข้าเชื้อเพลิงจฟอสซิลของรัสเซียเพิ่มขึ้น จึงยังไม่ตัดสินใจเรื่องการเชิญโมดี จนกระทั่งเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้

ทั้งนี้นับจากเดือนมีนาคมอินเดียนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างมาก และไม่พอใจที่ถูกวิจารณ์ โดยโต้แย้งว่า ยุโรปเองยังบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ของรัสเซียในปริมาณสูงมาก

หลังการเยือนเบอร์ลิน โมดีเดินทางต่อไปยังโคเปนเฮเกนเพื่อร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรีของเดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ ในการประชุมสุดยอดอินเดีย-กลุ่มประเทศนอร์ดิกในวันที่ 3-4 จากนั้นมีกำหนดแวะพบประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสช่วงสั้นๆ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์ระดับภูมิภาคและระดับโลกต่างๆ รวมถึงการร่วมมือกันต่อไประหว่างสองประเทศ

#บริษัทอินเดียจ้องเข้าเสียบแทนฝ่ายตะวันตก

อนึ่ง ระหว่างแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ (1) วิเนย์ กวาตรา ปลัดกระทรวงต่างประเทศอินเดีย ระบุว่า ชาติยุโรปไม่ได้แค่เข้าใจเท่านั้น แต่ยังชื่นชมจุดยืนของอินเดียในวิกฤตยูเครน และว่า จุดมุ่งเน้นหลักของการเยือนยุโรปคือ เพื่อเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนแบบทวิภาคีในประเด็นต่างๆ ซึ่งรวมถึงการค้า พลังงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ไทมส์ออฟอินเดีย รายงานเมื่อวันจันทร์ (2) ว่า ขณะที่รัสเซียถูกตะวันตกแซงก์ชันคว่ำบาตรครั้งใหญ่ พวกผู้ส่งออกอาหาร เซรามิก และเคมีภัณฑ์อินเดียราว 50 ราย ก็เตรียมจะเดินทางไปยังมอสโกปลายเดือนนี้หลังจากได้รับการสอบถามจากทางบริษัทรัสเซีย

ไทมส์ออฟอินเดียอ้างอิงการเปิดเผยของวิเวก อะการ์วัล จากกลุ่มล็อบบี้ “สภาส่งเสริมการค้าแห่งอินเดีย” ที่ระบุว่า การแซงก์ชันการค้าและการเงินต่อรัสเซียเปิดโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจทุกภาคส่วนของอินเดีย ขณะที่บริษัทอินเดียเองตื่นเต้นอย่างมากในการเข้าถึงศักยภาพมหาศาลสำหรับการนำผลิตภัณฑ์ของอินเดียเข้าไปในรัสเซีย

รายงานข่าวชิ้นนี้ยังอ้างอิงเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่เปิดเผยนามที่ระบุว่า การจัดส่งสินค้าให้รัสเซียจะเริ่มดำเนินการได้ต่อเมื่อสงครามในยูเครนจบลงแล้ว

(ที่มา : เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น