xs
xsm
sm
md
lg

‘ยุทธศาสตร์ของรัสเซีย’ในการทำลาย ‘กองทัพยูเครน’กำลังดำเนินไปตามแผนการที่วางไว้ :‘แหล่งข่าวกรองยุโรป’ระบุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี โกลด์แมน


(ภาพจากแฟ้ม) หน่วยยานเกราะเข้าร่วมการซ้อมรบร่วมระหว่างรัสเซียกับเบลารุส ภาพถ่ายจากวิดีโอที่เผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมรัสเซีย
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Russia’s strategy to destroy Ukraine army going to plan
By DAVID P GOLDMAN
28/02/2022

แหล่งข่าวหลายรายในแวดวงข่าวกรองของยุโรปบอกกับเอเชียไทมส์ว่า มอสโกกำลังดำเนินยุทธวิธีโอบล้อม “ซึ่งผ่านการพิสูจน์ว่าใช้ได้ผลมาแล้วในอดีตที่ผ่านมา” เพื่อพยายามตัดขาดแล้วทำลายกองทัพยูเครน

นิวยอร์ก: กองกำลังฝ่ายรัสเซียกำลังผลักดันกองทัพยูเครนให้ต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่หลายๆ หย่อมซึ่งตนเองโอบล้อมเอาไว้ แหล่งข่าวทางทหารชาวยุโรปซึ่งทราบเรื่องดีบอกเช่นนี้กับเอเชียไทมส์

“พวกรัสเซียนะไม่ได้รีบร้อนอะไรหรอก” นักวิเคราะห์ข่าวกรองทางทหารชาวยุโรปรายหนึ่งเขียนเอาไว้เช่นนี้ในข้อความทางอีเมลฉบับหนึ่ง “พวกเขาจะเข้าสู้รบและผลักดันให้ฝ่ายยูเครนต้องเข้าไปยังพื้นที่หลายๆ หย่อมซึ่งพวกเขาปิดล้อมเอาไว้ จากนั้นฝ่ายรัสเซียก็จะถามฝ่ายยูเครนว่า จะพูดจากันหรือจะให้เข่นฆ่าพวกเขา มันเป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่งที่เคยใช้กันมาอย่างได้ผลในอดีตหลายครั้งแล้ว”

ฝ่ายรัสเซียมีการเคลื่อนพลขนาดใหญ่ๆ เพื่อมุ่งโอบล้อมพื้นที่อยู่ในเวลานี้ 3 ทิศทางด้วยกัน แหล่งข่าวที่อยู่ในวงการข่าวกรองรายนี้เปิดเผยต่อ อันดับแรกคือทางภาคใต้ โดยที่ทัพรัสเซียกำลังเคลื่อนไปทางตะวันตกมุ่งสู่เมืองมาริวโปล (Mariupol) เมืองใหญ่ที่สุดในเขตดอนบาสส์ (Donbass region) ซึ่งประกาศแยกตัวออกจากยูเครน และรัสเซียให้การรับรองความป็นเอกราชเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนั้น ขบวนทัพรัสเซียยังกำลังเคลื่อนขึ้นเหนือมุ่งสู่ฟากตะวันตกของทางหลวงความยาว 70 กิโลเมตรซึ่งเชื่อมเมืองมาริวโปล กับ เมืองมีโคลาวิฟกา (Mykolaivka) ส่วนในดอนบาสส์ ทัพรัสเซียกำลังเคลื่อนอ้อมแนวเส้นแบ่งแดนชั่วคราวที่เรียกกันว่า “Line of Control” ซึ่งฝ่ายยูเครนวางกำลังเอาไว้หนาแน่นมาก เพื่อเข้าคุกคามแนวป้องกันอันเข้มแข็งของยูเครนนี้จากทางด้านหลัง

สำหรับกรุงเคียฟนั้นก็ถูกทัพรัสเซียโอบล้อมเอาไว้แล้ว ดังที่นายกเทศมนตรีของนครหลวงยูเครนแห่งนี้บออกกับสำนักข่าวเอพีเมื่อคืนวันอาทิตย์ (27 ก.พ.) ว่า ทั้งนี้รายงานของเอพีเขียนเอาไว้เช่นนี้: “นายกเทศมนตรี วิตาลี คลิตชโก (Vitali Klitschko) เงียบไปหลายวินาที เมื่อถูกถามว่ามีแผนการอะไรหรือไม่ที่จะอพยพพลเรือนออกไป ถ้าหากกองทหารรัสเซียพยายามบุกเข้ายึดกรุงเคียฟ” เอพีรายงาน “เราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะเส้นทางทุกๆ เส้นถูกปิดกั้นเอาไว้หมด” เขาพูดออกมาในที่สุด “จริงๆ แล้วในเวลานี้ เราถูกโอบล้อมอยู่”

การสืบค้นจาก กูเกิลแมป แสดงให้เห็นว่าถนนสายต่างๆ ที่อยู่ใกล้ชิดติดเมืองหลวง ตรงบริเวณฟากตะวันตกของแม่น้ำดนีเปอร์ (Dnieper River) ต่างก็ถูกปิด ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเนื่องจากขบวนทัพรัสเซียที่กำลังเคลื่อนออกจาก เบลารุสลงสู่ทางใต้

แผนที่ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นทิศทางการบุกยูเครนของกองทัพรัสเซีย ซึ่งข่าวกรองของสหราชอาณาจักรรวบรวมไว้ จนถึงวันที่ 1 มีนาคม
รัสเซียดูเหมือนพยายามที่จะลดจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตาย –ซึ่งอาจจะกลายเป็นภาระทางการเมืองสำหรับปูตินในเวลาต่อไป – รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการบุกตะลุยโจมตีตรงด้านหน้าที่มั่นต่างๆ ของฝ่ายยูเครนซึ่งมีการวางแนวป้องกันไว้อย่างแน่นหนา ตลอดจนหลีกเลี่ยงการทำสงครามในเมือง (urban warfare) ในเมืองใหญ่ๆ ของยูเครน

ตรงกันข้าม กองทัพรัสเซียกำลังสู้รบแบบสงครามที่มั่น (war of position)
ประเภทหนึ่ง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะตัดขาดหน่วยทหารชั้นเยี่ยมของยูเครน ไม่ให้ได้รับเสบียงยุทธสัมภาระเพิ่มเติม และบีบบังคับให้มีการเจรจรอมชอมกันตามเงื่อนไขของฝ่ายมอสโก

กองทัพรัสเซียนั้นรู้จักสภาพภูมิประเทศและยุทธวิธีต่างๆ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ทั้งนี้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ยูเครนคือสถานที่ซึ่งการสู้รบแบบโอบล้อมครั้งที่ใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์บังเกิดขึ้นมา

กองทัพนาซีเยอรมนีเข้าโอบล้อมกองทัพด้านตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Front) ของรัสเซีย ในยุทธการชิงเมืองเคียฟครั้งแรก (First Battle of Kiev) เมื่อปี 1941 ยังผลให้ฝ่ายรัสเซียบาดเจ็บล้มตายไปมากกว่า 700,000 คน

ในปี 1943 กองทัพด้านยูเครนที่ 1 ของโซเวียต (Soviet First Ukrainian front) พยายามโอบล้อมและทำลายล้างกลุ่มกองทัพใต้ของเยอรมนี (German Army Group South) ถึงแม้ประสบความล้มเหลว –เช่นเดียวกับความพยายามของฝ่ายเยอรมนีในการตอบโต้การโอบล้อม— แต่ทัพรัสเซียก็สามารถยึดเมืองเคียฟกลับคืนมาได้ และปล่อยให้ทัพเยอรมนีตกอยู่ในสภาพเหนื่อยล้า

(ภาพจากแฟ้ม) ทหารรัสเซียขณะซ้อมรบที่บริเวณใกล้ชายแดนยูเครน (ภาพเผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมรัสเซีย)
หมายเหตุผู้แปล

เอเชียไทมส์ยังเสนอรายงานอีกชิ้นหนึ่งในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 เช่นกัน ซึ่งเขียนถึงแผนการของฝ่ายรัสเซียในเรื่องนี้ในมุมมองที่แตกต่างออกไป นั่นคือเรื่อง Russia’s strangulation plan taking hold in Ukraine (รัสเซียกำลังใช้แผนโอบล้อมบีบคอให้ยอมจำนนในยูเครน) เขียนโดย แอนดรูว์ แซลมอน (Andrew Salmon) จึงขอเก็บความเฉพาะส่วนซึ่งพูดถึงเรื่องนี้ มาเสนอในที่นี้:


ขณะที่การสู้รบดำเนินอยู่ในพื้นที่จำนวนมากทั่วทั้งยูเครน การต่อสู้กันในระดับกว้างขวางทั่วโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ, การทูต, สื่อสังคม, และอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชน ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตกที่มีการติดต่อประสานงานกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ดำเนินไปอย่างดุเดือดเช่นเดียวกัน

สหภาพยุโรป และเยอรมนีที่เป็นสมาชิกรายสำคัญที่สุด ต่างตอบโต้การที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน รุกรานยูเครน ด้วยความแข็งกร้าวยิ่งกว่าที่พวกเขาเคยกระทำในระหว่างเกิดวิกฤตการณ์ทางทหารครั้งก่อนๆ ในยุโรป

วิกฤตการณ์ยูเครนกำลังผลักดันผู้ลี้ภัยชาวยูเครนหลายแสนคนให้หลบหนีไปทางตะวันตก และทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงกันทั่วโลก

แต่ขณะที่รัสเซียออกมาพูดข่มขู่ในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และพ่ายแพ้ในสงครามประชามติทั่วโลก รวมทั้งได้รับบาดเจ็บจากการถูกตีกระหน่ำทั้งสกุลเงินตรา ตลอดจนภาคการเงินและภาคพลังงาน แต่กองทัพรัสเซียในสนามรบยังคงเป็นผู้กำหนดบงการเหตุการณ์ต่างๆ ภายในยูเครน

บทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งจากทางเยอรนี บ่งชี้ให้เห็นว่า รัสเซียกำลังดำเนินยุทธศาสตร์แบบไปอย่างช้าๆ สุขุมรอบคอบ มากกว่าที่จะเข้าโจมตีอย่างรวดเร็วชวนตื่นตะลึง แบบที่ได้รับการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวาง

ถ้าหากคำอธิบายของบทวิเคราะห์นี้ถูกต้องแล้ว มันก็จะขัดแย้งกับความเชื่อของผู้คนจำนวนมากในสื่อมวลชน ที่ว่าการโจมตีของรัสเซียล่าช้ากว่ากำหนดเวลาที่ฝ่ายนั้นวางเอาไว้ จากการถูกฝ่ายยูเครนต้านทานอย่างดุเดือดเกินคาดหมาย

รัสเซียใช้ยุทธศาสตร์ “หม้อต้มน้ำ”

การสู้รบยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่จำนวนมากทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของยูเครน

การโจมตีของรัสเซียมุ่งไปตามทิศทางใหญ่ๆ 3 ทิศทางด้วยกัน ได้แก่ การบุกลงมาจากทางเหนือมุ่งสู่กรุงเคียฟ, การโจมตีจากด้านตะวันออกมุ่งสู่เมืองคาร์คอฟ (คาร์คิฟ) และเขตดอนบาสส์, และการรุกอย่างกว้างขวางในพื้นที่ชายฝั่งของภาคใต้

การสู้รบในทิศทางหลังสุดนี้ดูเหมือนจะครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด และไม่เหมือนกับการเข้าตีในทิศทางอื่นๆ ซึ่งจำกัดอยู่ภายในซีกตะวันออกของยูเครนเท่านั้น (ยูเครนมีแม่น้ำนดีเปอร์ไหลผ่ากลาง จึงกลายเป็นการแบ่งประเทศออกเป็นซีกตะวันออกและซีกตะวันตก -ผู้แปล) แต่ในภาคใต้นี้ ทัพรัสเซียมีการบุกทางซีกตะวันตกด้วย ไม่ใช่แค่ซีกตะวันออก

กระนั้น นครสำคัญที่สุด อย่างเมืองหลวงเคียฟ และคาร์คอฟ เมืองใหญ่อันดับสองซึ่งตั้งอยู่ในตำแหน่งทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ยังคงอยู่ในมือของรัฐบาลประธานาธิบดีวลาดีมีร์ เซเลนสกี้ย์

ถึงแม้มีรายงานข่าวแบบคาดเดากะเก็งจากพวกผู้สื่อข่าวสำนักต่างๆ ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (25 ต.ค.) รวมทั้งพวกเจ้าหน้าที่ยูเครนก็ส่งเสียงเตือนอย่างโกรธแค้น แต่เวลานี้รัสเซียยังไม่ได้เข้าโจมตีขนาดใหญ่ๆ ต่อกรุงเคียฟ แม้มีการปะทะกันประปรายด้วยกำลังขนาดเบา และพวกนักวิเคราะห์สหราชอาณาจักรระบุว่า กองกำลังเคลื่อนที่หลักของรัสเซียยังคงอยู่ตรงบริเวณด้านเหนือของเคียฟ

บทวิเคราะห์ทางทหารจากฝ่ายเยอรมนีชิ้นหนึ่ง ซึ่งเอเชียไทมส์ได้รับรู้มา อาจจะช่วยอธิบายได้ถึงการที่ทัพรัสเซียยังไม่ได้เข้าจู่โจมช่วงชิงรางวัลใหญ่เช่นนี้

ตามเนื้อหาของบทวิเคราะห์นี้ ฝ่ายรัสเซียมีจุดมุ่งหมายที่จะโอบล้อมและตัดขาดนครสำคัญๆ และสถานที่สำคัญๆ ไม่ให้ภายนอกสามารถเข้าถึงได้ เป็นการสร้างพื้นที่ “หม้อต้มน้ำ” (kessel หรือ cauldron) หรือพื้นที่ “หลุมโพรง” (pocket) ขึ้นมา ทั้งนี้คำว่าพื้นที่ “หม้อต้มน้ำ” เป็นคำที่ใช้กันมานานย้อนกลับไปได้ถึงครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพนาซีเยอรมันบุกตะลุยอย่างรวดเร็ว เพื่อตัดการตั้งขบวนทัพขนาดใหญ่ๆ ของข้าศึก ให้ขาดเป็นส่วน ๆ แล้วเข้าโอบล้อมและบดขยี้ โดยครั้งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ ยุทธการเคียฟในปี 1941

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงที่กระแสตีกลับหันมาแสดงผลลบต่อพวกนาซี ทัพเยอรมันก็พบว่าพวกเขาเองถูกปิดล้อมให้ตกอยู่ในพื้นที่ “หม้อต้มน้ำ” ต่างๆ ในสถานที่ซึ่งเกิดการสู้รบนองเลือดอย่างเช่น สตาลินกราด (Stalingrad), เชอร์คาสซี (Cherkassy), และ ฟาเลส์ (Falaise)

ตามบทวิเคราะห์ที่มาจากฝ่ายเยอรมัน จุดมุ่งหมายของรัสซัยในปี 2022 นี้ก็คือการบีบคอเคียฟ บังคับให้ฝ่ายป้องกันต้องยอมเจรจาขอยอมจำนน หรือไม่ก็ต้องประสบกับการถูกทำลายล้าง สิ่งที่บทวิเคราะห์นี้กล่าวถึงดูจะสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายใน “การลดทอนความเป็นรัฐทหาร” (demilitarization) ของยูเครน ตามที่ ปูติน ประกาศเอาไว้

การปฏิบัติการในลักษณะเช่นนี้ ถึงแม้ทำให้การทำสงครามต้องยืดเยื้อออกไป แต่ก็จะทำให้เกิดการความเสียหายอย่างวินาศสันตะโรและการสูญเสียชีวิตน้อยลงกว่าการบุกโจมตีแนวป้องกันกันตรงๆ ทั้งนี้ ตามรายงานทางทีวีจากรัสเซีย มอสโกเร่งเร้าให้ชาวกรุงเคียฟหลบหนีออกมาโดยใช้พื้นที่ระเบียงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งกองทัพรัสเซียเปิดเอาไว้ สำหรับให้ประชาชนใช้เป็นเส้นทางหลบหนีจากเมืองหลวง การสื่อสารโทรคมนาคมในเคียฟเวลานี้ยังไม่ได้ถูกตัด แต่ความสามารถในการจัดหาอาหารมาเลี้ยงดูชาวเมืองจะดำเนินไปได้อีกนานแค่ไหนคือคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

การปฏิบัติการโอบล้อม ซึ่งวางแผนทั้งให้สามารถปิดล้อมกรุงเคียฟได้ ขณะเดียวกันก็ตัดขาดทั่วทั้งเขตดอนบาสส์ ตลอดจนพื้นที่จำนวนมากของชายฝั่งภาคใต้ เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ในการปฏิบัติการแล้ว ต้องถือว่าเป็นแผนการที่ทะเยอทะยานมากๆ นอกจากนั้นแล้ว มันยังมีความสลับซับซ้อนสูงมาก ซึ่งเรียกร้องต้องการทั้งการวางแผน, การร่วมมือประสานงาน, และการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงที่ใหญ่โตกว้างขวาง

ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าหากยูเครนมีความมุ่งมั่นที่จะต้านทาน อย่างที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้นแล้ว การส่งกำลังบำรุงของฝ่ายรัสเซียก็จะต้องแผ่เหยียดออกไปจนถึงระดับสูงสุดเพื่อรักษาการลงทุนลงแรงที่กระทำไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขบวนรถบรรทุกลำเลียงข้าวของที่ต้องแล่นไปตามถนน มีความเปราะบางที่จะถูกโจมตีทั้งขณะอยู่บนทางหลวงต่างๆ และขณะเคลื่อนผ่านชุมชนทั้งหลาย

ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเรียกร้องกำลังพล แต่เชื่อกันว่ารัสเซียจัดเตรียมทหารเอาไว้สำหรับเข้าไปปฏิบัติการในยูเครนครั้งนี้สูงสุดไม่เกิน 200,000 คน ห่างไกลเหลือเกินจากจำนวนหลักล้านที่เคยถูกเรียกระดมในการปฏิบัติการอย่างใหญ่โตกว้างขวางช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

และการที่รัสเซียเข้าปิดล้อมพื้นที่บริเวณด้านตะวันตกของเคียฟ ในตัวมันเองก็ถือเป็นจุดอ่อนเปราะเหมือนกัน ถ้าหากไม่มีการเคลื่อนทัพบุกโจมตีภาคพื้นดินเข้าไปในภาคตะวันตกของยูเครน เนื่องจากภาคตะวันตกนี้มีพรมแดนติดกับมอลโดวา, โรมาเนีย, ฮังการี, สโลวาเกีย, และโปแลนด์ จึงกลายเป็นด้านปีกที่ขาดไร้การป้องกัน ซึ่งฝ่ายข้าศึกสามารถที่จะเปิดสายท่อส่งอาวุธขึ้นมา เพื่อติดอาวุธให้แก่ฝ่ายป้องกันของยูเครนที่ไม่ได้ติดกับถูกโอบล้อมอยู่ตามพื้นที่ “หม้อต้มน้ำ”

หนึ่งในการปฏิบัติการเพื่อแก้ไขจุดอ่อนเช่นนี้ อาจจะเป็นการเปิดแนวรบใหม่อีกแนวรบหนึ่งในพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเคียฟ

จากภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งมีการเปิดเผยกันทางสื่อเมื่อไม่นานมานี้แต่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบยืนยัน แสดงให้เห็นว่า มีขบวนยานยนต์ขนาดใหญ่มากกำลังมุ่งหน้าไปที่เมืองหลวงของยูเครน โดยที่ในขณะเขียนข้อเขียนชิ้นนี้อยู่ มันอยู่ห่างจากเคียฟไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราวๆ 30 กิโลเมตร ขบวนยานยนต์ของฝ่ายรัสเซียซึ่งเป็นขบวนยาวเหยียด 5 กิโลเมตรนี้ มีทั้งพวกเขี้ยวเล็บ อย่าง รถถัง, รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ, และปืนใหญ่อัตตาจร และมีทั้งพวกยานส่งกำลังบำรุง อย่างรถขนน้ำมันเชื้อเพลิง และรถบรรทุกลำเลียงข้าวของต่างๆ

เวลาเดียวกันนั้น รายงานหลายๆ ชิ้นที่อ้างอิงแหล่งข่าวทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหรัฐฯและของยูเครน บ่งชี้ว่า เบลารุส ที่เป็นพันธมิตรของรัสเซีย กำลังเตรียมตัวเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ด้วย เบลารุสจะเป็นจุดดีดตัวที่สมบูรณ์แบบทีเดียว ถ้าหากรัสเซียมีแผนการบุกลงใต้เข้าไปในภาคตะวันตกของยูเครน

แผนที่ยูเครน แสดงเมืองสำคัญๆ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกและภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น