xs
xsm
sm
md
lg

ม่านหมอกแห่งสงครามปกคลุมเหนือยูเครนอย่างหนาทึบ จนไม่ทราบชัดว่าการสู้รบดำเนินไปถึงไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แอนดรูว์ แซลมอน


ควันดำโขมงลอยขึ้นมาจากสนามบินทหารในเมืองชูกูเยฟ ใกล้ๆ กับเมืองคาร์คิฟ นครใหญ่อันดับ 2 ของยูเครนที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ  เมื่อวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.)  หลังจากในวันเดียวกันนี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศเปิด “การปฏิบัติการทหารพิเศษ” ในยูเครน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Fog of war falls dark and thick over Ukraine
By ANDREW SALMON
26/02/2020

สถานการณ์ในยูเครนกำลังทำให้ต้องตั้งคำถามมากกว่าที่จะได้รับคำถาม ตั้งแต่การสู้รบภาคพื้นดินดำเนินไปอย่างไรถึงไหน เมืองหลวงเคียฟสามารถยืนหยัดต้านทานการบุกของทัพรัสเซียได้ หรือว่ามอสโกแค่อยู่ระหว่างการรวมพลเพื่อบุกตีขั้นเด็ดขาด กระทั่งการเสนอเจรจาหยุดยิงกันของทั้งสองฝ่ายก็ยังมีความสับสนว่าใครเป็นผู้เสนอ และใครกันแน่ที่เบี้ยว

ล่วงเข้าวันที่ 3 ของการปฏิบัติการที่รัสเซียขนานนามว่า เป็น “การลดทอนเพิกถอนความเป็นรัฐทหารและการลดทอนเพิกถอนความเป็นนาซี” (demilitarization and de-Nazification) ในยูเครน ม่านหมอกความไม่ชัดเจนของช่วงเวลาสงครามยังคงลอยปกคลุมอย่างหนาทึบ

จุดมุ่งหมายทั้งทางยุทธศาสตร์และทางการปฏิบัติของกองทัพรัสเซียยังคงไม่เป็นที่กระจ่าง เช่นเดียวกับที่ไม่มีความชัดเจนว่าจุดมุ่งหมายเหล่านี้เกิดการรวนเรเสียแล้วสืบเนื่องจากการต่อต้านของฝ่ายยูเครน หรือว่าหน่วยกำลังทางภาคพื้นดินต่างๆ ของมอสโกยังคงอยู่ระหว่างเคลื่อนพลก่อนที่จะเปิดการรุกโจมตีอย่างเด็ดขาดในการปฏิบัติการซึ่งมีหลายหลากมิติและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ใช่หรือไม่ว่ามอสโกนั้นมุ่งเน้นไปที่จุดมุ่งหมายในทางการเมือง: เพื่อสร้างความสับสนปั่นป่วนหรือเพื่อเด็ดหัวคณะผู้นำชุดปัจจุบันของยูเครน? เพื่อลดทอนความเป็นรัฐทหารของประเทศนี้ ด้วยการตีกระหน่ำกองทัพของยูเครนให้เป็นจุลไปเลย? หรือเพื่อบังคับให้เคียฟต้องยินยอมเจรจาและตกลงยอมรับว่าสถานะในระยะยาวของยูเครนคือการเป็นประเทศที่ยึดมั่นกับเป็นกลาง เลิกราความมุ่งมาดปรารถนาในระยะยาวของตนที่จะเข้าเป็นสมาชิกขององค์การนาโต้?

หรือว่ามอสโกเน้นจุดมุ่งหมายในทางภูมิรัฐศาสตร์: เพื่อผลักดันให้มีการสถาปนาสาธารณรัฐย่อยๆ ของชาวชาติพันธุ์รัสเซียขึ้นในดินแดนดอนบาส หรือก่อตั้งสาธารณรัฐที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคดอนบาสกันเลยทีเดียว ซึ่งจะมีฐานะเป็นรัฐบริวารของรัสเซียไปตลอดกาล? หรือว่ามันจะเป็นกรณีแบบเอ็กซ์ตรีมสุดๆ นั่นคือ เพื่อเข้าควบคุม หรือกระทั่งเข้าพิชิตปกครองยูเครน อาจจะทั้งประเทศ หรือแค่ซีกตะวันออกของยูเครน โดยจากความเคลื่อนไหวเช่นนี้ ก็จะทำให้ดินแดนส่วนในของรัสเซียมีเขตพื้นที่กันชน ให้ห่างออกมาจากพวกชาติสมาชิกนาโต้ซึ่งตั้งอยู่เลยจากชายแดนด้านตะวันตกของยูเครนออกไป?

แน่นอนทีเดียว เวลานี้จุดมุ่งหมายเหล่านี้ยังไม่มีการบรรลุกันไม่ว่าข้อไหน แต่กระนั้นถ้าหากเปรียบเทียบกับการรณรงค์สงครามอันครึกโครมเกรียวกราวทั้งหลาย อย่างเช่นตอนที่สหรัฐฯโค่นล้มพวกตอลิบานในอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001 หรือการบุกเข้ารุกรานยึดครองอิรักเมื่อปี 2003 แล้ว สงครามครั้งนี้ก็ต้องถือว่ายังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นเอามากๆ

เคียฟประกาศยืนหยัดต่อสู้

ในเมืองหลวงของยูเครน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ย์ อาศัยสื่อสังคมเพื่อประกาศคำปราศรัยเนื้อหาท้าทายรัสเซียออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นชุด: “เรากำลังปกป้องประเทศชาติของเรา” เขากล่าวจากกรุงเคียฟ “เราจะไม่ยอมวางอาวุธของเรา”

บางทีเซเลนสกี้ย์อาจจะย้อนกลับไปใช้ตัวอย่างการจัดตั้งกองกำลังอาวุธนานาชาติขึ้นมาเพื่อปกป้องสาธารรัฐสเปนในช่วงทศวรรษ 1930 ก็เป็นได้ เขากำลังเรียกร้องให้ชาวต่างประเทศเดินทางมายังยูเครนเพื่อร่วมด้วยช่วยกันป้องกันประเทศนี้ โดยเขาบอกด้วยว่าอาสาสมัครที่มาจากนอกประเทศจะได้รับการติดอาวุธเพื่อการสู้รบ

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ย์ กล่าวปราศรัย ในกรุงเคียฟ เมื่อวันศุกร์ (25 ก.พ.) (ภาพเผยแพร่โดยสำนักสารนิเทศ ทำเนียบประธานาธิบดียูเครน)
การที่เซเลนสกี้ย์ยังคงปรากฏตัวอย่างต่อเนื่องอยู่ในกรุงเคียฟ เป็นเครื่องพิสูจน์สิ่งๆ หนึ่ง กล่าวคือ ความหวาดกลัวที่กลายเป็นกระแสหลักเมื่อวันศุกร์ (25 ก.พ.) ที่ว่ารัสเซียจะยกทัพเข้าถล่มโจมตีกรุงเคียฟอย่างรวดเร็ว และบางทีอาจจะเปิดการปฏิบัติการอย่างอุกอาจฉับพลันเพื่อจับตัวหรือสังหารผู้นยูเครนคนนี้ เวลานี้ได้ผ่อนคลายลงไปแล้ว –อย่างน้อยที่สุดก็ในขณะนี้แหละ

ตามรายงานข่าวที่ปรากฏออกมา ผู้นำระดับชาติและกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สุดของพลังต่อต้านของชาวยูเครนผู้นี้ เพิ่งปฏิเสธไม่ยอมหลบหนีออกมาจากเมืองหลวงของเขา ซึ่งพวกนักวิเคราะห์เห็นกันว่าจะแตกอย่างรวดเร็วมาก ถ้าหากรัสเซียเปิดฉากรุกโจมตีใหญ่ทางภาคพื้นดิน

เมื่อวันศุกร์ (25 ก.พ.) รายงานจากยูเครนระบุว่า กองทหารรัสเซียกำลังชุมนุมพลกันอยู่แถวชานเมืองด้านเหนือของเคียฟ และยังมีหน่วยอื่นๆ กำลังปิดล้อมเมืองหลวงของยูเครน แต่แล้วกลับไม่ปรากฏการถล่มโจมตีใดๆ จากฝ่ายรัสเซีย ไม่ว่าในช่วงโมงยามอันมืดมิดหลังเที่ยงคืนหรือในตอนรุ่งสาง รวมทั้งไม่ปรากฏว่าการสื่อสารคมนาคมภาคพื้นดินของนครหลวงแห่งนี้ถูกตัดขาดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ณ เวลาที่กำลังเขียนข้อเขียนชิ้นนี้อยู่ มีรายงานหลายกระแสว่ากำลังเกิดการสู้รบขึ้นขึ้นมาพร้อมกันที่สองด้านของเคียฟ รวมทั้งมีกระแสข่าวไม่ยืนยันว่าหน่วยทหารส่งกำลังทางอากาศของรัสเซียกำลังสู้รบเพื่อชิงสะพานข้ามแม่น้ำแห่งต่างๆ ในนครหลวงแห่งนี้ ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่ากองทหารรัสเซียถูกสกัดเอาไว้ที่บริเวณปากประตูเข้าสู่เคียฟ หรือว่าจริงๆ แล้วรัสเซียกำลังหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการสู้รบภายในเมืองนี้

นครแห่งนี้ซึ่งมีประชากร .2.8 ล้านคน ถือว่ามีขนาดใหญ่กว่าเมืองสตาลินกราด (Stalingrad) และเมืองกรอซนีย์ (Grozny) รวมกัน การดิ้นรนต่อสู้อย่างทรหดสุดๆ ของชาวเมืองเพื่อรักษา 2 เมืองในรัสเซียดังกล่าวนี้เอาไว้ –ซึ่งส่วนหนึ่งถูกเผยแพร่ในฐานะเป็นตำนานความกล้าหาญที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องราวของสมรภูมิการสู้รบที่มีเกียรติยศศักดิ์ศรีน้อยกว่าที่โหมประโคมกันนักหนา— น่าจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นของทหารชาวรัสเซียทุกๆ คน

กระจกสะท้อนที่บิดเบือนชวนให้ยิ่งสับสน

การรายงานข่าวของพวกผู้สื่อข่าวเวลานี้อยู่ในอาการสายตาสั้นอย่างน่าประหลาดใจ ขณะที่พวกสื่อสังคมก็ดูขาดไร้สีสันอย่างพิลึกๆ

ถึงแม้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตยังดูเหมือนอยู่รอดปลอดภัยและใช้งานกันได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั่วทั้งยูเครน ทว่าก็ไม่เห็นมีการเผยแพร่แผนที่หรือภาพถ่ายดาวเทียมเกี่ยวกับที่ตั้งของพวกหน่วยทหารรัสเซีย ขณะที่มีข้อมูลภาพในเรื่องการสู้รบภาคพื้นดินปรากฏให้เห็นกันน้อยที่สุด กระนั้นก็มีผู้เผยแพร่ภาพยานยนต์หุ้มเกราะจำนวนหนึ่งที่ถูกไฟเผาเสียหายตรงบริเวณด้านนอกของเมืองคาร์คิฟ และเมืองเกร์สัน

พวกเครือข่ายแพร่ภาพกระจายเสียงของโลกตะวันตก มีทีมผู้สื่อข่าวของพวกเขาประจำอยู่ในเคียฟ ซึ่งคอยรายงานข่าวการโจมตีทางอากาศ, ไปสัมภาษณ์จ่อไมโครโฟนสอบถามชาวเมืองที่ต่อต้านรัสเซียซึ่งกำลังหลบภัยอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดิน, และพูดเล่าข่าวลือเกี่ยวกับการสู้รบที่ว่ากันว่าเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่นอกเขตเมืองหลวงออกไป

อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายไหนเลยที่เสนอรายงานข่าวแบบรายงานจากแนวหน้า คอยพูดแจกแจงถึงการสู้รบภาคพื้นดิน ชนิดที่พวกนักข่าวนักหนังสือพิมพ์จากเครือข่ายเดียวกันเหล่านี้ได้เคยเสนอเอาไว้ ในการสู้รบขัดแย้งครั้งอื่นๆ เมื่อไม่นานมานี้ อย่างเช่น ซีเรีย, อัฟกานิสถาน, และอิรัก

สิ่งที่ทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นไปอีกก็คือ พวกผู้ดำเนินรายการข่าวเสนอเรื่องการสู้รบในเคียฟ โดยพูดจาสนทนากับบรรดานักข่าวที่ยืนพูดจากจุดซึ่งมองเห็นภาพทิวทัศน์ได้อย่างกว้างขวางภายในเมืองหลวงแห่งนี้ ขณะเดียวกันอากาศก็ดูสดชื่นแจ่มใส ถึงแม้พวกนักข่าวคอยแต่จะบอกว่าไม่สามารถยืนยันอะไรอย่างแน่นอนลงไปได้ก็ตามที

สงครามคราวนี้ยังถือว่าเริ่มขึ้นมาเพียงไม่กี่วัน กองทัพยูเครนไม่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลสรุปพร้อมแผนที่ให้แก่สื่อมวลชน หรือให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปฝังตัวอยู่กับหน่วยสู้รบต่างๆ มีแต่การออกข่าวกันมากเรื่องพลเรือนบาดเจ็บล้มตาย ตลอดจนความเสียหายของพวกโครงสร้างพื้นฐาน ทว่าแทบไม่มีรายงานเกี่ยวกับเครื่องบ่งชี้อย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการบาดเจ็บล้มตายของทหาร หรือรายงานข่าวจากโรงพยาบาลหรือสถานที่ปฐมพยาบาล

ทหารยูเครนเข้ายึดที่มั่นในย่านใจกลางกรุงเคียฟ เมื่อวันศุกร์ (25 ก.พ.) เตรียมรับทัพรัสเซียที่มีข่าวระบุว่าเคลื่อนมาถึงชานเมืองแล้ว
รัสเซียอ้างว่ากำลังทหารของตนสามารถเข้ายึดเมืองเมลิโตโปล ที่อยู่ทางภาคใต้เอาไว้ได้ ทว่าเรื่องนี้ถูกฝ่ายยูเครนโต้แย้งว่าไม่เป็นความจริง

มีคลิปวิดีโอที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นของจริงหรือไม่ ปรากฏออกมาให้เห็นสักหยิบมือหนึ่งทางสื่อสังคมต่างๆ คลิปหนึ่งเป็นเรื่องทหารรัสเซียที่ถูกจับเป็นเชลยคนหนึ่งกำลังถูกบอกให้โทรศัพท์ไปหาแม่ของเขาในรัสเซีย อีกคลิปหนึ่งเป็นหญิงวัยกลางคนผู้หนึ่งกำลังต่อว่าต่อขานทหารรัสเซียคนหนึ่งที่เข้ามารุกรานประเทศของเธอ

สำหรับฟุตเทจข่าวของฝ่ายรัสเซีย เสนอภาพขบวนรถหุ้มเกราะและยานยนต์อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่อยู่บนเส้นทางเคลื่อนตัวไปข้างหน้า มากกว่าจะเป็นการเข้าประจำในที่มั่นเพื่อการสู้รบ ส่วนพวกภาพถ่ายดาวเทียมมก็แสดงให้เห็นขบวนแถวยวดยานของผู้อพยพหลบหนีสงครามแออัดอยู่ตามถนนสายต่างๆ ที่มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก สหประชาชาติประมาณการว่า จนถึงตอนนี้มีชาวยูเครน 120,000 คนหลบหนีออกไปนอกประเทศแล้ว

การต่อสู้กันในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าการสู้รบ

นอกเหนือจากเรื่องของการสู้รบแล้ว มอสโกได้เสนอที่จะเจรจากับเคียฟ โดยจะให้มีขึ้นที่กรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส ฝ่ายยูเครนตอบรับแต่เสนอให้ไปคุยกันที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ายังมีการเจรจาต่อรองกันอยู่ในเรื่องนี้หรือไม่
.
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ก็เช่นเดียวกับประธานาธิบดีเซเลนสกี้ย์ ของยูเครน อาศัยการออกทีวีมารบเร้าชาวยูเครนให้หันไปคัดค้านรัฐบาลของพวกเขาเอง

“ผมขอวิงวอนทหารทั้งหลายว่า อย่ายอมปล่อยให้พวกนาซีใหม่ (Neo-Nazis) และพวกนักชาตินิยมสุดขั้ว .... ใช้ (พลเรือน) เป็นโล่มนุษย์” ปูตินกล่าวในตอนหนึ่งของการพูดทางทีวี “เอาอำนาจมาไว้ในมือของพวกคุณเอง”

พวกนาซีที่ปูตินพูดพาดพิงถึงครั้งแล้วครั้งเล่านี้ น่าจะมุ่งหมายถึงพวกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นขวาจัด ซึ่งสู้รบอย่างทรหดกับพวกแบ่งแยกดินแดนนิยมรัสเซียในดินแดนดอนบาส โดยที่มีบางคนประดับเครื่องหมายและสัญลักษณ์ของพวกนาซีและหน่วยเอสเอส

แต่ถ้ามองกันอย่างกว้างไกลออกไป การที่ปูตินพูดพาดพิงถึงนาซี อาจจะมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องให้ชาวรัสเซียสามัคคีกันเพื่อสนับสนุนสงครามของเขาก็ได้ ทั้งนี้ในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ มอสโกเต็มไปด้วยการโปรโมตส่งเสริมงานรำลึกรัสเซียเข้าร่วมต่อสู้อย่างใหญ่โตมโมฬารในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่มีการสร้างอนุสรณ์สถาน, พิพิธภัณฑ์ , ตลอดจนภาพยนต์ส่งเสริมความรักชาติใหม่ๆ ขึ้นมา

อย่างไรก็ดี สิ่งเล่านี้ดูว่างเปล่าไม่สามารถโยงใยกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างเหมาะเหม็ง ในเมื่อตัวเซเลนสกี้ย์เองนั้นเป็นชาวยิว

รัสเซียเพิ่งออกเสียงคัดค้านญัตติฉบับหนึ่งที่พิจารณากันในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีเนื้อหาประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และเนื่องจากรัสเซียเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรี การคัดค้านจึงเท่ากับเป็นการใช้อำนาจวีโต้ทำให้ญัตติฉบับนี้ต้องตกไป

อย่างไรก็ดี รัสเซียกำลังถูกกระหน่ำตีอย่างแรงในแวดวงมติมหาชนระดับโลก การชุมนุมเดินขบวนต่อต้านสงครามปะทุขึ้นตลอดทั่วโลก สมเด็จพระสันตะปาปามีพระดำรัสกับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสำนักวาติกัน และรัสเซียถูกตัดออกจากรายงานแข่งขันกีฬาระดับโลกจำนวนหนึ่ง

พวกประเทศตะวันตกพากันประกาศมาตรการแซงก์ชั่นลงโทษรัสเซียในรูปแบบต่างๆ หลายหลาก รวมทั้งมีการแซงก์ชั่นตัวปูตินเองด้วย ทว่าเสียงเรียกร้องจากภายในยูเครน ให้ตัดรัสเซียออกจาก SWIFT ที่เป็นระบบธุรกรรมการเงินทั่วโลก นั้น ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ

และในขณะที่องค์การนาโต้ประกาศเรียกระดมกองกำลังตอบโต้เร็วซึ่งมาจากหลายๆ ชาติสมาชิกกันแล้ว แต่ยังไม่มีเครื่องบ่งชี้ใดๆ ว่าทหารของนาโต้เหล่านี้จะเข้าสู้รบเคียงข้างยูเครน หรือกระทั่งเคลื่อนเข้าไปในดินแดนของประเทศที่มิใช่สมาชิกนาโต้อย่างยูเครน
กำลังโหลดความคิดเห็น