xs
xsm
sm
md
lg

ด่วน!! ปูตินสั่งกองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียให้เตรียมพร้อม อ้างเหตุถูกแซงก์ชันทางเศรษฐกิจตัดขาดจากระบบ SWIFT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บานปลายขยายตัวอย่างน่าเสียวไส้ สำหรับความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตก สืบเนื่องจากทัพหมีขาวบุกตะลุยเข้าไปในยูเครน เมื่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ออกคำสั่งในวันอาทิตย์ (27 ก.พ.) ให้กองกำลังป้องปรามทางนิวเคลียร์ของรัสเซียเตรียมพร้อมในระดับสูง เพื่อตอบโต้กับสิ่งที่เขาเรียกว่า เป็น “การแถลงอย่างก้าวร้าว” ของพวกมหาอำนาจนาโต้ชั้นนำ

คำสั่งนี้หมายความว่า ปูตินสั่งการให้ผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องตระเตรียมอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียให้พร้อมสำหรับการยิงมากขึ้นไปอีกขั้น ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวเช่นนี้เป็นการเพิ่มภัยคุกคามที่ความตึงเครียดรัสเซีย-ตะวันตก อาจเดือดปะทุเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์ ทั้งนี้ในการออกคำสั่งนี้ ผู้นำรัสเซียยังอ้างอิงถึงการแซงก์ชันทางการเงินอย่างสุดโหดที่ฝ่ายตะวันตกประกาศใช้เล่นงานรัสเซีย รวมทั้งมุ่งเล่นงานตัวปูตินเองด้วย

ในการประชุมร่วมกับพวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของเขาเมื่อวันอาทิตย์ (27) ปูตินสั่งการให้รัฐมนตรีกลาโหม และประธานคณะเสนาธิการใหญ่ของกองทัพ ดำเนินการให้กองกำลังป้องปรามทางนิวเคลียร์อยู่ใน “ภาวะพิเศษของหน้าที่สู้รบ”

“พวกประเทศตะวันตกไม่เพียงดำเนินปฏิบัติการต่างๆ อย่างไม่เป็นมิตรที่มุ่งเล่นงานประเทศเราในปริมณฑลทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่พวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปจากบรรดาสมาชิกนาโต้ชั้นนำยังมีคำแถลงอย่างก้าวร้าวเกี่ยวกับประเทศของเราอีกด้วย” ปูตินกล่าวให้คำเห็นต่อที่ประชุม ซึ่งมีการเผยแพร่ทางทีวีด้วย

ความหมายในทางปฏิบัติจากคำสั่งนี้ของปูติน ยังไม่เป็นที่ชัดเจนในเฉพาะหน้านี้ ปกติแล้วในกองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียกับสหรัฐฯ ต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ส่วนที่ติดตั้งประจำการทางภาคพื้นดิน และที่ติดตั้งในเรือดำน้ำ ซึ่งมีการระมัดระวังและเตรียมพร้อมสำหรับการสู้รบอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งสามารถติดตั้งในเครื่องบินทิ้งระเบิดตลอดจนเครื่องบินอื่นๆ ไม่ได้เป็นเช่นนี้

ถ้าหากปูตินกำลังสั่งให้ติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์ในเครื่องบิน หรือไม่ก็กำลังสั่งเพิ่มระดับความพร้อมรบทางนิวเคลียร์ของเครื่องบินทิ้งระเบิดของเขาุ หรือถ้าหากเขากำลังสั่งให้ส่งเรือดำน้ำขีปนาวุธทิ้งตัวที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ออกสู่ทะเลเพิ่มมากขึ้นแล้ว สหรัฐฯ อาจรู้สึกถูกบังคับให้ตอบโต้อย่างทัดเทียมกัน ทั้งนี้ตามคำอธิบายของ ฮันส์ คริสเทนเสน นักวิเคราะห์ด้านนิวเคลียร์ของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน โดยนักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า หากเป็นอย่างนี้แล้ว มันหมายความว่าเกิดการบานปลายขยายตัวอย่างน่าวิตกกังวล และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมา

ความเคลื่อนไหวชวนหวาดเสียวคราวนี้มีขึ้น ขณะที่เกิดการสู้รบแบบไล่ยิงกันตามท้องถนนในเมืองคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เวลาเดียวกันกองทัพรัสเซียยังเร่งบีบคั้นพวกเมืองท่าทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภาคใต้ของยูเครน เป็นการรุกคืบหน้าที่ต่อเนื่องจากระลอกการโจมตีสนามบินและคลังเชื้อเพลิงตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยทั้งหมดเหล่านี้ดูเหมือนคือเครื่องหมายของระยะใหม่ในศึกบุกยูเครนของรัสเซียครั้งนี้

ส่วนที่เมืองหลวงเคียฟ ของยูเครน บรรยากาศเงียบเชียบระคนความวิตกกังวล ภายหลังเกิดการระเบิดขนาดใหญ่มากหลายครั้งเมื่อตอนก่อนรุ่งสางวันอาทิตย์ (27) ซึ่งทำให้ท้องฟ้าที่ยังมืดมิดอยู่เกิดแสงสว่างวาบขึ้นมา และพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบรายงานว่ามีการระเบิดขึ้นที่หนึ่งในสนามบินใหญ่ของเคียฟ ถนนใหญ่สายหลักของเมืองอยู่ในสภาพร้างผู้คน นานๆ จึงจะมีรถปรากฏให้เห็น เนื่องจากทางการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้านอย่างเข้มงวดเป็นเวลา 39 ชั่วโมงเพื่อไม่ให้ผู้คนออกมายังถนน โดยที่ชาวบ้านชาวเมืองผู้หวาดผวาต่างพากันซุกตัวอยู่ภายในบ้านเรือน อาคารจอดรถใต้ดิน และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เนื่องจากคาดการณ์ว่ารัสเซียจะเปิดการบุกตะลุยแบบเต็มพิกัด

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน บอกว่า “เมื่อคืนที่ผ่านมาหนักจริงๆ มีกระสุนปืนใหญ่ยิงเข้ามากขึ้น มีการบอมบ์ใส่เขตที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนมากขึ้น ไม่ใช่สถานที่ไหนสักแห่งเดียวในประเทศนี้ที่พวกผู้เข้ายึดครองจะไม่มองว่าเป็นเป้าหมายที่สามารถเข้าโจมตีได้” แต่เขายังคงพูดปลุกใจผ่านทางทีวีและสื่อสังคม “เรากำลังสู้รบ สู้รบเพื่อประเทศของเรา สู้รบเพื่อเสรีภาพของเรา เพราะเรามีสิทธิที่จะทำเช่นนั้น” เขาบอก

หลังจากได้ชัยชนะในหลายๆ จุดทางภาคพื้นดิน รัสเซียได้จัดส่งคณะผู้แทนชุดหนึ่งไปยังเบลารุส เพื่อเจรจาสันติภาพกับยูเครน ทั้งนี้ตามการแถลงของเครมลิน แต่ทางประธานาธิบดียูเครนนั้นเสนอแนะให้ใช้สถานที่อื่นๆ โดยกล่าวว่าประเทศของเขาไม่ปรารถนาที่จะไปประชุมกันในเบลารุส เพราะประเทศพันธมิตรใกล้ชิดของรัสเซียแห่งนั้น ถูกใช้เป็นพื้นที่เตรียมการสำหรับการเข้ารุกรานยูเครนด้วย

ก่อนหน้าวันอาทิตย์ (27) กองทหารรัสเซียยังคงอยู่แค่แถวชานคาร์คิฟ เมืองใหญ่ที่มีประชากร 1.4 ล้านคน และตั้งอยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียประมาณ 20 กิโลเมตร โดยที่กองกำลังส่วนอื่นๆ ของแดนหมีขาวเคลื่อนพลผ่านไป เพื่อผลักดันการรุกลึกเข้าไปในยูเครน

แต่จากคลิปวิดีโอหลายชิ้นที่โพสต์ทางสื่อมวลชนยูเครนและเครือข่ายสื่อสังคม แสดงให้เห็นว่าในวันอาทิตย์ ขบวนยานยนต์รัสเซียกำลังแล่นข้ามคาร์คิฟ และกองทหารรัสเซียกระจายตัวออกเป็นกลุ่มเล็กๆ บุกเข้าไปในเมือง มีคลิปหนึ่งแสดงให้เห็นกองทหารยูเครนกำลังยิงใส่ฝ่ายรัสเซีย และทำให้ยานยนต์อเนกประสงค์ขนาดเบาของรัสเซียหลายคันเสียหายถูกทิ้งเอาไว้ในบริเวณใกล้ๆ

คลิปเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นการต้านทานที่ทัพรัสเซียเผชิญ ขณะพยายามบุกเข้าสู่เมืองใหญ่ๆ ของยูเครน โดยที่ยูเครนประกาศรับอาสาสมัครอย่างขนาดใหญ่เพื่อช่วยเหลือป้องกันเมืองหลวงเคียฟ และเมืองใหญ่อื่นๆ อาสาสมัครเหล่านี้ไปรับปืนที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบแจกจ่ายให้ รวมทั้งตระเตรียมทำระเบิดขวดน้ำมันเพื่อใช้สู้รบกับกำลังของรัสเซีย

รัฐบาลยูเครนยังกำลังปลดปล่อยพวกนักโทษที่มีประสบการณ์ทางทหารและต้องการสู้รบเพื่อประเทศชาติ อันดรีย์ ซินยุค เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการแห่งหนึ่งบอกกับสถานีโทรทัศน์ ฮโรมัดสเก ทีวี เมื่อวันอาทิตย์ เขาไม่ได้พูดเจาะจงว่าความเคลื่อนไหวนี้จะใช้กับนักโทษผู้มีความผิดทางอาญาทุกระดับหรือไม่

สำหรับที่กรุงเคียฟ เมื่อตอนก่อนรุ่งสางของวันอาทิตย์ เกิดการระเบิดขนาดใหญ่มากหลายๆ ครั้งจนมีแสงสว่างวาบขึ้นบนท้องฟ้าบริเวณใกล้ๆ นครหลวง โดยที่ชาวบ้านชาวเมืองผู้หวาดผวาต่างพากันซุกตัวอยู่ภายในบ้านเรือน อาคารจอดรถใต้ดิน และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เนื่องจากคาดการณ์ว่ารัสเซียจะเปิดการบุกตะลุยแบบเต็มพิกัด

การประกาศเคอร์ฟิวเป็นเวลา 39 ชั่วโมงของทางการเพื่อให้ประชาชนอย่าออกมาตามท้องถนนในเมืองหลวงจนกว่าจะถึงตอนเช้าวันจันทร์ (28) ทำให้การประเมินความดุเดือดของการสู้รบที่เกิดขึ้นยิ่งมีความยากลำบาก สำนักงานของประธานาธิบดีเซเลนสกีบอกว่า มีรายงานเกิดการระเบิดหลายครั้งที่ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเคียฟ

เวลาเดียวกัน ก็มีเปลวเพลิงส่งควันดำโขมงออกมาจากคลังน้ำมันแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับฐานทัพอากาศที่ตั้งอยู่ในเมืองวาซิลคิฟ เมืองใหญ่ห่างออกไปทางใต้ของเคียฟ 37 กิโลเมตร โดยที่นั้นเกิดการสู้รบดุเดือด ทั้งนี้ตามการแถลงของนายกเทศมนตรีเมืองวาซิลคิฟ นอกจากนั้น กองทหารรัสเซียยังได้ระเบิดสายท่อส่งแก๊สไปยังภาคตะวันออก ในเมืองคาร์คิฟ ทำให้รัฐบาลรีบออกคำเตือนว่า ควันไฟจากการระเบิดครั้งใหญ่มากเช่นนี้อาจก่อให้เกิด “ความหายนะทางสิ่งแวดล้อม” และแนะนำประชาชนให้ปิดหน้าต่างที่พักให้สนิทและอุดช่องด้วยผ้าชื้นๆ หรือผ้ากอซ

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ยังไม่ได้เปิดเผยแผนการขั้นสุดท้ายของเขา แต่พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายตะวันตกเชื่อว่า เขามุ่งมั่นที่จะโค่นล้มรัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบัน และเอาระบอบปกครองของเขาเองเข้าแทนที่ เป็นการวาดแผนที่ยุโรปขึ้นมาใหม่และฟื้นฟูอิทธิพลของมอสโกในยุคสงครามเย็น

การที่รัสเซียกำลังบีบคั้นกดดันพวกเมืองท่าทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภาคใต้ของยูเครนเวลานี้ ดูเหมือนมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมแนวชายฝั่งของยูเครนที่ทอดยาวจากชายแดนติดต่อกับโรมาเนียในด้านตะวันตก ไปจนถึงชายแดนติดต่อกับรัสเซียในภาคตะวันออก โดยที่ พล.ต.อีกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่า กำลังของฝ่ายรัสเซียได้เข้าปิดล้อมเมืองเคร์สัน เมืองท่าริมทะเลดำ และท่าเรือของเมืองเบร์ดีอันสก์ ริมทะเลอาซอฟ

เขาบอกว่า ทัพรัสเซียยังสามารถควบคุมฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ เคร์สัน และเมืองเฮนิเชสก์ ที่อยู่ริมทะเลอาซอฟ ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของยูเครนก็รายงานว่าเกิดการสู้รบในพื้นที่ใกล้กับพวกเมืองท่าริมทะเลดำทางภาคใต้ทั้ง โอเดซา มิโคลาอิฟ และอื่นๆ

การตัดตัดขาดไม่ให้ยูเครนเข้าถึงพวกท่าเรือริมทะเลของตน จะส่งผลกระทบอย่างแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นการเปิดทางให้มอสโกสร้างระเบียงทางบกไปเชื่อมต่อกับแหลมไครเมีย ซึ่งมอสโกยึดและผนวกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนในปี 2014 และจนถึงเวลานี้เชื่อมต่อกับรัสเซียผ่านสะพานความยาว 19 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสะพานที่มีความยาวที่สุดในยุโรปที่เปิดใช้งานในปี 2018

สำหรับการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้น ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกของเครมลินแถลงว่า คณะผู้แทนของรัสเซียที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทางทหารและนักการทูต ได้เดินทางไปถึงเมืองโกเมล ของเบลารุส แล้วในวันอาทิตย์ (27) เพื่อเจรจากับยูเครน เซเลนสกีนั้นเมื่อวันศุกร์ (25) เสนอให้เจรจากันเกี่ยวกับข้อเรียกร้องสำคัญข้อหนึ่งของรัสเซีย นั่นคือ ยูเครนต้องไม่เข้าเป็นสมาชิกของนาโต้

ประธานาธิบดียูเครนบอกว่า ประเทศของเขาพร้อมแล้วสำหรับการเจรจาสันติภาพ แต่ต้องไม่ใช่ในเบลารุส

“วอร์ซอ (เมืองหลวงโปแลนด์) บราติสลาวา (เมืองหลวงสโลวะเกีย) บูดาเปสต์ (เมืองหลวงฮังการี อิสตันบูล (เมืองใหญ่สุดของตุรกี) บากู (เมืองหลวงอาเซอร์ไบจาน) เราเสนอทั้งหมดนี้ต่อฝ่ายรัสเซีย และเราจะยอมรับเมืองอื่นๆ เมืองไหนก็ได้ในประเทศที่ไม่ได้ถูกใช้เป็นฐานยิงขีปนาวุธ (ใส่ยูเครน)” เซเลนสกี กล่าว “มีแต่อย่างนี้เท่านั้น การเจรจาจึงจะสามารถเป็นไปอย่างซื่อตรง และทำให้สงครามยุติลงได้”

เปสตคอฟอ้างว่า ยูเครนเป็นผู้เสนอให้จัดการเจรจาในโกเมล เขากล่าวด้วยว่าการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียคืบหน้าไปเรื่อยๆ แม้ว่าการเจรจาจะสามารถเริ่มขึ้นได้

ด้าน มิคฮาอิโล โปโดลิอัค ที่ปรึกษาของเซเลนสกี ปฏิเสธข้อเสนอของมอสโก โดยบอกว่า “การใช่เล่ห์เหลี่ยมหลอกล่อ” และเสริมว่ายูเครนไม่ได้เห็นชอบให้เปิดเจรจาที่เมืองของเบลารุส

อย่างไรก็ตาม อีกหลายชั่วโมงต่อมา มีรายงานว่าเซเลนสกีตกลงที่จะส่งคณะผู้แทนของยูเครนไปพบคณะของรัสเซีย ในเวลาที่ไม่ระบุแน่นอน ส่วนสถานที่ก็บอกกว้างๆ ว่าตั้งอยู่ตรงพรมแดนเบลารุส

(ที่มา : เอพี, เอเจนซีส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น