xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ “นอกหน้าต่าง” : ‘สหรัฐฯ’ ประโคมเรื่อง ‘รัสเซีย’ กำลังจะบุก ‘ยูเครน’ บดบังทริปเดินทางเยือนเอเชีย-แปซิฟิกของ ‘บลิงเคน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน แถลงข่าวร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ ชอง อึย-ยง
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน พร้อมด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันกับเขาของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ประกาศก้องในวันเสาร์ (12 ก.พ.) ว่าพวกเขาสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการเผชิญกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก ทว่าเห็นได้ชัดเจนว่าการที่วอชิงตันเวลานี้ต้องยุ่งขิงเคร่งเครียดอยู่กับการประโคมข่าวความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามในยุโรปตะวันออก มีผลกระทบกระเทือนความพยายามในการเดินหมากทางการทูตในภูมิภาคแถบนี้ของฝ่ายอเมริกัน ซึ่งจุดมุ่งหมายหลักคือการปลุกระดมแนวร่วมมาช่วยกันสกัดการผงาดขึ้นมาของจีน

บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ ชอง อึย-ยง และรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ฮายาชิ โยชิมาสะ พบปะกันที่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ของสหรัฐฯ เพื่อหารือกันเป็นเวลา 1 วัน โดยโฟกัสที่ภัยคุกคามด้านอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ตลอดจนการท้าทายของจีน

วอชิงตันจัดการประชุมหารือนี้ขึ้นมาในฐานะเป็นจุดหยุดแวะจุดที่ 3 และจุดสุดท้ายของการเดินเกมการทูตครอบคลุมทั่วทั้งแปซิฟิกของบลิงเคนรอบนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะตอกย้ำยืนยันอีกครั้งถึงการหวนกลับมาให้ความสำคัญที่สุดแก่เอเชีย ("pivot" to Asia) ทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง หลังจากที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายนี้อยู่ในอาการลุ่มๆ ดอนๆ

อันดับแรกเลย บลิงเคนเข้าร่วมการประชุมของกลุ่ม “คว็อด” (Quad) ที่เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรระหว่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐฯ ที่ไม่แฮปปี้กับสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการที่ปักกิ่งดำเนินนโยบายขยายตัวทางการทหารในเอเชีย-แปซิฟิก

จากนั้นนักการทูตหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ผู้นี้ก็เดินทางไป ฟิจิ เพื่อเข้าร่วมการประชุมแบบเสมือนจริงกับบรรดาตัวแทนของ 17 ชาติหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ผู้ซึ่งกำลังมีประสบการณ์กับความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของจีนอยู่เช่นกัน

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่า ทริปนี้ของบลิงเคน คือการไปให้ความมั่นใจแก่ประเทศต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคว่า วอชิงตันยังคงให้ความใส่ใจอย่างลึกซึ้งกับประเด็นปัญหาต่างๆ ของพวกเขา

ระหว่างการเดินทางที่กินเวลาราว 1 สัปดาห์ของบลิงเคนทริปนี้ ทำเนียบขาวยังได้เผยแพร่เอกสารยุทธศาสตร์สำหรับภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งวอชิงตันกำลังเรียกชื่อเสียใหม่ว่า “ภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” เอกสารความยาว 18 หน้าฉบับนี้มุ่งเน้นหนักว่าภูมิภาคนี้แหละเป็นแกนกลางในนโยบายต่างประเทศโดยรวมของสหรัฐฯ

“ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ของสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงความจริงขั้นรากฐานที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้กำลังจะส่งผลต่อชีวิตของชาวอเมริกัน และประชาชนทั่วโลกมากยิ่งกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในพื้นพิภพนี้” บลิงเคนพูดเช่นนี้ที่โฮโนลูลูเมื่อวันเสาร์ (12) ในตอนปิดฉากภารกิจ 1 สัปดาห์ของเขา

ยูเครน, ยูเครน, ยูเครน

อย่างไรก็ดี ทุกๆ จุดที่เขาหยุดแวะในทริปนี้ เรื่องการตีฆ้องร้องป่าวภัยคุกคามที่รัสเซียจะรุกรานยูเครนต่างหาก ซึ่งดึงเอาความใส่ใจของวอชิงตันไปแทบทั้งหมด รวมทั้งดึงเอาความใส่ใจจากพวกชาติผู้เข้าร่วมการหารือกับบลิงเคนด้วย

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ใช้เวลาจำนวนมากในระหว่างการเดินทางของเขาไปในการติดต่อสื่อสารกับพวกพันธมิตร และกับเซียร์เก ลาฟรอฟ ผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันกับเขาของทางรัสเซีย ในเรื่องวิกฤตการณ์ยูเครน

ขณะที่ในการประชุมแถลงข่าวแต่ละนัด ซึ่งมุ่งหมายที่จะใช้เป็นเวทีอวดโอ่ว่าสหรัฐฯ อุทิศตัวให้แก่กิจการของเอเชีย-แปซิฟิกถึงขนาดไหน แต่กลับกลายเป็นว่า ถูกตรึงแน่นอยู่กับคำแถลงของ บลิงเคน ที่ว่ารัสเซียอาจจะบุกยูเครนภายในไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว

ขยายบทบาทของกลุ่มคว็อด

กระนั้น ข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับเอเชีย-แปซิฟิก ยังคงได้รับความสนใจ

ในเมลเบิร์น ถึงแม้ความพยายามของ บลิงเคน ที่จะให้กลุ่มคว็อดออกคำแถลงร่วมซึ่งมีเนื้อหาคัดค้านรัสเซียในเรื่องยูเครน จะไม่ประสบผล เนื่องจากอินเดียไม่เห็นด้วย แต่ทั้ง 4 ประเทศของกลุ่มนี้หาทางทำให้ความเป็นพันธมิตรของพวกเขามีความลึกซึ้งมากขึ้น ด้วยการขยายกิจกรรม จากการซ้อมรบทางนาวา มาลาบาร์ (Malabar naval exercise) ที่กระทำกันตั้งแต่แรกๆ รวมทั้งเรื่องการแจกจ่ายวัคซีนโควิดซึ่งตกลงกันในปีที่แล้ว มายังเรื่องอื่นๆ เป็นต้นว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความมั่นคงทางไซเบอร์ โครงสร้างพื้นฐาน และการบรรเทาภัยพิบัติ

พวกเขายังเน้นย้ำอย่างที่ได้ระบุในคำแถลงก่อนๆ ที่ว่าพวกเขาพร้อมแล้วที่จะทำงานร่วมกับสมาคมอาเซียน ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางของการรุกคืบของจีน

สำหรับที่ฟิจิ บลิงเคนแถลงว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อสนับสนุนพวกหมู่เกาะแปซิฟิกทั้งหลาย รวมทั้งประกาศฟื้นสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ บนหมู่เกาะโซโลมอนขึ้นมาใหม่ หลังจากที่เวลานี้จีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับความยุ่งยากทางการเมืองและความมั่นคงท้องถิ่นของประเทศหมู่เกาะแห่งนี้

สหรัฐฯ ปิดสถานเอกอัครราชทูตของตนในหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อปี 1993 การเปิดขึ้นมาใหม่จึงเหมือนเป็นการประกาศว่า อเมริกาจะให้ความใส่ใจมากขึ้นกับภูมิภาคซึ่งมักถูกละเลยมองข้ามอยู่เสมอ

โจนาธาน ไพรค์ แห่ง โลวี อินสติติว หน่วยงานคลังสมองของออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า การหยุดแวะที่หมู่เกาะแปซิฟิกของบลิงเคนคราวนี้ คือการสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐฯ ไม่ได้มีการปรากฏตัวที่แข็งขันอะไรเลยในหมู่เกาะแปซิฟิก

“เห็นชัดเจนว่าสหรัฐฯ รู้สึกกังวลเรื่องที่จีนมีการปรากฏตัวในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ไพรค์ บอก และเรียกการเยือนของบลิงเคนครั้งนี้ว่า “สำคัญมากทีเดียว”

เรื่องที่รัสเซียอาจจะรุกรานยูเครนนั้น มีส่วนกระทบกระเทือนการหารือ 3 ฝ่ายในโฮโนลูลูด้วยเหมือนกัน

หากเกิดสงครามใหญ่ขึ้นมา ย่อมทำให้เกิดการสะดุดติดขัดทางเศรษฐกิจซึ่งอาจลามมาถึงเอเชียด้วย นอกจากนั้น ญี่ปุ่นที่เดินนโยบายตามติดสหรัฐฯ ต้อยๆ ได้ตกลงทำตามคำขอของวอชิงตันที่ให้ส่งแก๊สแอลเอ็นจีบางส่วนของตนไปยังยุโรป ในกรณีที่รัสเซียตัดการส่งแก๊สไปยังยุโรป ถึงแม้มีคำถามว่าในทางเป็นจริงแล้ว โตเกียวจะเอาแก๊สที่ไหนไปช่วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต้องการจากที่ประชุมมากกว่า คือการให้สหรัฐฯ เพิ่มความพยายามในการนำผู้นำคิม จองอึน ของเกาหลีเหนือ กลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา ภายหลังจากโสมแดงทดลองขีปนาวุธแบบต่างๆ ถึง 7 ครั้งในเดือนมกราคมเดือนเดียว

บลิงเคนกล่าวว่า ผู้นำคิม กำลังอยู่ใน “ระยะของการยั่วยุ”

“ผมต้องการย้ำว่าเราไม่ได้มีเจตนาเป็นศัตรูต่อ สปปก. (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี - ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการของเกาหลีเหนือ) เรายังคงเปิดกว้างสำหรับการสนทนากันโดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขล่วงหน้า” เขากล่าวด้วยถ้อยคำเดิมๆ ที่ใช้มาโดยไม่มีอะไรแปลกใหม่ปรากฏให้เห็น

(โครงเรื่องและข้อมูลจากเรื่อง Ukraine crisis overshadows Blinken bridgebuilding trip to Asia ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น