ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ บอกกับวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์ในวันเสาร์ (12 ก.พ.) ตะวันตกจะตอบโต้อย่างเด็ดเดี่ยวกับการรุกรานใดๆ ต่อยูเครน ซึ่งจะโดดเดี่ยวและก่อความทุกข์ทรมานในวงกว้างแก่มอสโก ขณะที่รัสเซียเซ็ง ฝ่ายอเมริกาหวาดผวาเกินเหตุในความขัดแย้งเกี่ยวกับยูเครน แต่เผยผู้นำทั้งสองเห็นพ้องเดินหน้าเจรจากันต่อไป
ในความพยายามล่าสุดเพื่อสกัดความเป็นปรปักษ์ที่เริ่มลุกลามบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ ไบเดน และปูตินยกหูคุยโทรศัพท์กันเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง หนึ่งวันหลังจากวอชิงตันและพันธมิตรเตือนว่ากองทัพรัสเซีย ซึ่งระดมกำลังพลมากกว่า 100,000 นาย ใกล้ชายแดนยูเครน อาจเปิดฉากรุกรานได้ทุกเมื่อ แม้มอสโกปฏิเสธคำกล่าวอ้างเหล่านี้ว่า "หวาดวิตกเกินเหตุ"
ทั้งสองฝ่ายต่างพูดตรงกันว่าไม่ประสบความสำเร็จผ่าทางตันใดๆ เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของรัฐบาลไบเดนเรียกการพูดคุยครั้งนี้ว่าเป็นมืออาชีพและมีแก่นสาร แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางรากฐานใดๆ ส่วนวังเครมลินระบุ ปูตินได้บอกกับไบเดน ว่า วอชิงตันไม่ใส่ใจความกังวลหลักของรัสเซีย และไม่ได้รับคำตอบ "อย่างเป็นรูปธรรม" ในความคลางแคลงใจหลักๆ ในนั้นรวมถึงการขยายขอบเขตของนาโต้ และการประจำการกองกำลังจู่โจมในยูเครน
เครมลินในวันเสาร์ (12 ก.พ.) ประณามสหรัฐฯ ว่าหวาดกลัวเกินไปในเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งยูเครน แต่บอกว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่างเห็นพ้องจะเดินหน้าเจรจากันต่อไป
ผู้นำทั้งสองพูดคุยกันหลังจากวอชิงตันเตือนว่าการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซียอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ในเรื่องนี้โฆษกของวังเครมลินคร่ำครวญต่อคำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ โดยบอกว่า อเมริกาถึงขั้นเผยแแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับวันเวลาการรุกรานของรัสเซีย "เราไม่เข้าใจว่าทำไมข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับเจตนาของเราถึงถูกส่งไปยังสื่อมวลชน"
โฆษกวังครมลินเผยต่อว่า เป็นอีกครั้งที่ ปูติน ได้ส่งเสียงคร่ำครวญว่าทำไมตะวันตกถึงจัดหาอาวุธแก่ยูเครน และเจ้าหน้าที่เคียฟถึงกำลังพยายามบ่อนทำลายข้อตกลงสันติภาพที่มีชาวตะวันตกเป็นคนกลาง สำหรับยุติความขัดแย้งยาวนานหลายปีในภาคตะวันออกของยูเครน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน กล่าวไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ปูตินจะมุ่งมั่นทางการทูตมากน้อยแค่ไหน แม้เขาตกลงที่จะยังคงติดต่อกับประธานาธิบดีไบเดนอย่างต่อเนื่อง
การพูดคุยทางโทรศัพท์ของทั้งสองผู้นำมีขึ้นในขณะที่อิสราเอล โปรตุเกส และเบลเยียม กลายเป็น 3 ชาติล่าสุดที่ออกคำเตือนแนะนำพลเมืองของตนเองให้เดินทางออกจากยูเครนในทันที
ก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ (12 ก.พ.) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่สถานทูตเกือบทั้งหมดเดินทางออกจากยูเครน ส่วนเพนตากอนเผยว่า กำลังถอนครูฝึกทหาร 150 นายออกมา
ไบเดน มีแผนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ซึ่งได้พูดคุยกับทั้งปูตินและประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เมื่อวันเสาร์ (12 ก.พ.) จากการเปิดเผยของทำเนียบขาว
ส่วนทาง ปูติน พูดคุยกับประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก แห่งเบลารุส เพื่อนบ้านทางเหนือของยูเครน ซึ่งกำลังซ้อมรบร่วมครั้งใหญ่กับทางรัสเซีย
หลังจาก มาครง ต่อสายคุยกับ ปูติน ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสเผยว่า ในสิ่งที่ ปูติน พูดกับ มาครง นั้น ไม่พบข้อบ่งชี้ใดๆ ที่รัสเซียกำลังเตรียมพร้อมรุกรานยูเครน "กระนั้นเรายังต้องระแวดระวังอย่างที่สุด และตื่นตัวต่อท่าทีของรัสเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์เลวร้าย"
มอสโกปฏิเสธคำกล่าวหาของวอชิงตันซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยบอกว่า การระดมกำลังทหารของพวกเขาตามแนวชายแดนติดกับยูเครน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของตนเองต่อการรุกรานของพันธมิตรนาโต้
ในวันเสาร์ (12 ก.พ.) เช่นกัน กองทัพรัสเซียบอกว่าพวกเขาได้ใช้ "วิธีทางที่เหมาะสม" เพื่อขับเรือดำน้ำลำหนึ่งของสหรัฐฯ ให้ออกจากน่านน้ำของรัสเซียในดินแดนตะวันออกไกล หลังจากเรือดำน้ำลำดังกล่าวเพิกเฉยคำร้องขอของรัสเซียที่ขอให้ออกจากน่านน้ำดังกล่าว
กองทัพรัสเซียระบุว่า เรือดำน้ำถูกพบใกล้หมู่เกาะคูริลในน่านน้ำของรัสเซีย ในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างที่รัสเซียกำลังซ้อมรบทางทะเล ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นี้
วอชิงตันมีแผนส่งทหารเข้าไปยังโปแลนด์ เพื่อบ้านทางตะวันตกของยูเครน อีก 3,000 นาย ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อช่วยรับประกันความอุ่นใจแก่พันธมิตรนาโต้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่าพวกเขาสั่งให้ทหาร 8,500 นาย อยู่ในความพร้อมสำหรับเข้าประจำการในยุโรปถ้าจำเป็น
(ที่มา : รอยเตอร์)