xs
xsm
sm
md
lg

‘ปูติน’ แย้มข้อเสนอ ‘มาครง’ อาจคลายวิกฤตยูเครน ด้าน ‘ไบเดน’ ขู่ปิดท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 ถ้ารัสเซียบุกเคียฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย (ซ้าย) ฟังประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส (ขวา) ระหว่างที่ทั้งคู่เจรจาหารือกันในวังเครมลิน กรุงมอสโก เป็นเวลา 4 ชั่วโมงเมื่อวันจันทร์ (7 ก.พ.)
‘ปูติน’ แย้มข้อเสนอรับประกันความมั่นคงของ ‘มาครง’ อาจปูทางสู่การหยุดยั้งวิกฤตยูเครน ขณะที่ ‘ไบเดน’ แม้บอกว่าเชื่อยังมีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาด้วยแนวทางการทูต แต่ก็ย้ำสำทับว่า จะทำให้โครงการท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 “จบเห่” ถ้ามอสโกบุกยูเครน

การเยือนมอสโกของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเมื่อวันจันทร์ (7 ก.พ.) เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทางการทูตของพวกชาติในยุโรป เพื่อโน้มน้าวให้รัสเซียที่สะสมกำลังพลกว่าแสนนายบริเวณชายแดนเลิกล้มแผนบุกยูเครน

ระหว่างการหารือนานกว่า 4 ชั่วโมงเมื่อค่ำวันจันทร์ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน บอกมาครงว่า มอสโกจะทำทุกอย่างเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย อีกทั้งสำทับว่า ข้อเสนอหลายอย่างของผู้นำฝรั่งเศสอาจใช้เป็นพื้นฐานสู่การยุติวิกฤตยูเครน โดยทั้งคู่ตกลงกันว่า จะหารือทางโทรศัพท์อีกครั้งหลังจากมาครงเดินทางไปพบประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ของยูเครนในวันอังคาร (8)

ด้านมาครง เผยว่า ได้ยื่นข้อเสนอ “การรับประกันความมั่นคงอย่างเป็นรูปธรรม” ให้ปูติน ซึ่งตอบรับว่า รัสเซียพร้อมมีส่วนร่วมในการรักษาเสถียรภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเสริมว่า ข้อเสนอดังกล่าวรวมถึงการที่ทุกฝ่ายตกลงไม่ดำเนินการทางทหารเพิ่มเติม เปิดการเจรจาทางยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ และพยายามฟื้นกระบวนการสันติภาพในกรณีความขัดแย้งในยูเครนตะวันออกระหว่างเคียฟกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มอสโกให้การสนับสนุน

มาครงถือเป็นผู้นำตะวันตกคนแรกที่พบกับปูตินนับจากวิกฤตยูเครนปะทุขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยที่เมื่อไม่กี่วันมานี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อ้างว่า มอสโกสะสมกำลังพลถึง 110,000 นายใกล้ชายแดนยูเครน และยังคงรวบรวมกำลังทหารต่อเนื่องเพื่อให้ครบ 150,000 นายสำหรับการบุกยูเครนเต็มรูปแบบภายในกลางเดือนนี้

ทว่า มอสโกยืนกรานว่า ไม่มีแผนโจมตียูเครน แต่อาจดำเนินการทางทหารบางอย่าง หากข้อเรียกร้องให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ให้สัญญาว่าจะไม่ติดตั้งขีปนาวุธใกล้ชายแดนของตน รวมทั้งไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก ไม่ได้รับการตอบสนอง

ปูตินยังย้ำว่า รัสเซียไม่ได้ดำเนินการแข็งกร้าวกับยูเครนหรือตะวันตก แต่ต้องการให้ฝ่ายตะวันตกให้หลักประกันแก่ความมั่นคงของตน

ทั้งนี้ นับแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลงเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว นาโต้ได้รับอีก 14 ประเทศในยุโรปเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งรัสเซียมองว่า เป็นการแผ่ขยายอิทธิพลและคุกคามความมั่นคงของตนเอง ขณะที่ยูเครนนั้นเคยเป็นสาธารณรัฐหนึ่งในสหภาพโซเวียต รวมทั้งมีความใกล้ชิดกับรัสเซียมายาวนานมาก ทว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2014 ซึ่งรัสเซียระบุว่าเป็น “การปฏิวัติสี” ภายใต้การสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาของสหรัฐฯ ยูเครนก็หันไปกระชับสัมพันธ์กับตะวันตก รวมทั้งต้องการเป็นสมาชิกนาโต้ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารที่พยายามจำกัดอิทธิพลของมอสโกและพันธมิตรในช่วงสงครามเย็น

ปูตินสำทับว่า ถ้ายูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้และพยายามใช้กำลังชิงไครเมียคืน ชาติยุโรปจะถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งทางทหารกับรัสเซียโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะไม่มีฝ่ายใดชนะ

ผู้นำรัสเซียยังเรียกร้องให้ยูเครนปฏิบัติตามข้อตกลงมินสก์ ซึ่งรวมถึงเป้าหมายในการยุติสงครามแบ่งแยกดินแดนในดอนบาสที่เป็นพื้นที่ที่ประชาชนพูดภาษารัสเซีย

นอกจากนั้นเมื่อวันอังคาร เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสยังเปิดเผยว่า ปูตินให้สัญญาว่าจะไม่ดำเนินการแผนการริเริ่มทางทหารใหม่ๆ ใกล้ยูเครนในขณะนี้ รวมทั้งตกลงว่า ทหารรัสเซียจะเดินทางกลับประเทศทันทีหลังเสร็จสิ้นการร่วมซ้อมรบในเบลารุสบริเวณใกล้ชายแดนยูเครน

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ของเยอรมนี ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์ แถลงว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขวิกฤตยูเครนด้วยแนวทางการทูต ขณะที่ ชอลซ์ย้ำว่า อเมริกาและเยอรมนีจะทำให้แน่ใจว่า จะมีการออกมาตรการแซงก์ชันอย่างรวดเร็ว ถ้ามอสโกส่งกำลังข้ามพรมแดนยูเครนเหมือนที่เคยทำเพื่อเข้าผนวกดินแดนไครเมียเมื่อปี 2014

ไบเดนยังย้ำว่า จะทำให้โครงการนอร์ดสตรีม 2 ซึ่งเป็นโครงการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังเยอรมนีที่ขณะนี้สร้างเสร็จแล้วแต่ยังรอการอนุมัติขั้นสุดท้าย “จบเห่” ถ้ามอสโกบุกยูเครน

นอกจากนั้น ชอลซ์ยังเตรียมเดินทางไปมอสโกและเคียฟในสัปดาห์หน้าเพื่อหารือกับปูตินและเซเลนสกี้

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น