รัสเซียระบุในวันพฤหัสบดี (27 ม.ค.) ชัดเจนว่าสหรัฐฯ ไม่มีความตั้งใจจัดการกับความกังวลหลักของพวกเขาในด้านความมั่นคง เกี่ยวกับเหตุเผชิญหน้ากับยูเครน แต่บอกว่าทั้งสองฝ่ายยังคงเปิดประตูอ้าแขนต้อนรับการเจรจาในอนาคตข้างหน้า
สหรัฐฯ และนาโต้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรตอบกลับข้อเรียกร้องของรัสเซียในวันพุธ (26 ม.ค.) ที่ขอให้แก้ไขข้อตกลงด้านความมั่นคงต่างๆ ในยุคหลังสงครามเย็นในยุโรป หลังจากก่อนหน้านี้ มอสโกระดมกำลังพลหลายแสนนายตามแนวชายแดนติดกับยูเครน โหมกระพือความกังวลว่าพญาหมีขาวอาจเปิดฉากรุกรานประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครมลิน ระบุว่ามอสโกต้องการเวลาสำหรับทบทวนและจะไม่ด่วนสรุป แต่ถ้อยแถลงของสหรัฐฯ และนาโต้ที่บรรยายข้อเรียกร้องหลักของรัสเซียว่า "ไม่อาจยอมรับได้นั้น" ทำให้เหลือที่ว่างสำหรับมองโลกในแง่บวกไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ด้วยปฏิกิริยาของเครมลินแสดงให้เห็นว่ารัสเซียไม่ถึงขั้นปฏิเสธสหรัฐฯ และนาโต้โดยสิ้นเชิง หรือปิดประตูด้านการทูตใดๆ ทางวอชิงตันและพันธมิตรจึงหวังว่ารัสเซียจะศึกษาหนังสือตอบกลับของพวกเขาและกลับมาสู่โต๊ะเจรจา
"เรามีความเป็นปึกแผ่น มีความเป็นปึกแผ่นด้านความชื่นชอบแนวทางด้านการทูต แต่เราก็มีความปึกแผ่นเช่นกันในความแน่วแน่ของเราหากว่ามอสโกปฏิเสธข้อเสนอเจรจาของเรา สิ่งที่ต้องชดใช้นั้นต้องหนักหน่วงและฉับไว" วิคตอเรีย นูลันด์ ปลักกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการการเมือง บอกกับผู้สื่อข่าว
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุว่าหนทางที่ดีที่สุดสำหรับลดความตึงเครียดคือนาโต้ถอนกำลังออกจากยุโรปตะวันออก ขณะเดียวกัน หาทางสยบความกังวลเกี่ยวกับข่าวลือที่ว่ามอสโกจะยกพลรุกรานยูเครน "เราย้ำมาตลอดว่าประเทศของเราไม่มีเจตนาโจมตีใคร" อเล็กเซ ไซเซฟ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุ "เรามองแม้กระทั่งว่า หากเป็นสงครามระหว่างประชาชนของเรา มันก็ไม่อาจยอมรับได้"
ข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของรัสเซีย ซึ่งนำเสนอในเดือนธันวาคม ในนั้นรวมถึงขอให้นาโต้ขยายขอบเขตเข้าไปในยุโรปตะวันออก ห้ามรับยูเครนเป็นชาติสมาชิกไปตลอดกาล และถอนกำลังทหารและอาวุธของพันธมิตรนาโต้ออกจากประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้หลังสงครามเย็น
หนังสือตอบกลับของสหรัฐฯ และนาโต้ไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ทั้งสองฝ่ายปฏิเสธข้อเรียกร้องเหล่านี้ ในขณะที่แสดงความตั้งใจมีส่วนร่วมในประเด็นอื่นๆ อย่างเช่นควบคุมอาวุธ มาตรการสร้างความมั่นใจต่างๆ รวมถึงจำกัดขนาดและขอบเขตการซ้อมรบทางทหาร
จีนบอกกับสหรัฐฯ ว่า ต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวิกฤตยูเครนอยู่ในความสงบและอดทนอดกลั้นจากการทำสิ่งต่างๆ ที่อาจโหมกระพือความตึงเครียดและซ้ำเติมวิกฤต
ในส่วนของวอชิงตัน ฝากข้อความส่งถึงปักกิ่งเช่นกัน "เราเรียกร้องปักกิ่งให้ใช้อิทธิพลของพวกเขาที่มีต่อมอสโก ให้เร่งเร้าด้านการทูต เพราะว่าหากมันมีความขัดแย้งในยูเครน มันจะไม่เป็นเรื่องดีสำหรับจีนเช่นกัน" นูลันด์กล่าว
พวกผู้เชี่ยวชาญมองที่เป็นไปได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียดูจะอบอุ่นที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่วอชิงตันจะคาดหมายให้จีนสนับสนุนจุดยืนของพวกเขาในเหตุเผชิญหน้าครั้งนี้
บรรดาชาติตะวันออกส่งเสียงเตือนว่าอาจคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย หากว่ามอสโกรุกรานยูเครน ยกระดับมาตรการต่างๆ ที่กำหนดเล่นงานรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2014 ครั้งที่มอสโกผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน และกบฏแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียสนับสนุนเริ่มสู้รบกับกองกำลังรัฐบาลเคียฟทางภาคตะวันออกของยูเครน
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นต่างระหว่างสหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรในยุโรป ซึ่งพึ่งพิงแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียมากถึง 1 ใน 3 และเวลานี้วอชิงตันกำลังปรึกษาหารือกับเยอรมนี เพื่อขอคำรับประกันว่าจะไม่มีการเดินหน้าโครงการท่อลำเลียงรัสเซีย-เยอรมนี หากว่ารัสเซียรุกรานยูเครน
สหรัฐฯ กำลังหาทางรับประกันกับอียูว่าจะช่วยพวกเขาหาทรัพยากรก๊าซทางเลือกอื่นๆ มาทดแทน หากว่ารัสเซียตัดการส่งก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีกว่าเวลานี้โลกประสบภาวะขาดแคลนอยู่ก่อนแล้ว
หนึ่งวันหลังจากคณะผู้แทนทูตยูเครน รัสเซีย เยอรมนีและฝรั่งเศส หารือกันเกี่ยวกับความขัดแย้งทางภาคตะวันออกของยูเครน และเห็นพ้องนัดประชุมกันอีก กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุว่า ยังมีความหวังที่จะเริ่มเจรจากับสหรัฐฯ อย่างจริงจัง แต่เฉพาะในประเด็นรองๆ เท่านั้น
(ที่มา : รอยเตอร์)