xs
xsm
sm
md
lg

วิตกหนัก! สหรัฐฯ กังวลรัสเซียอาจโจมตียูเครน 'ทุกเมื่อ' หลังมอสโกเคลื่อนกำลังพลเข้าเบลารุส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ในวันอังคาร (18 ม.ค.) มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจวนลงมือโจมตียูเครนเต็มแก่ ก่อนถึงภารกิจทางการทูตครั้งสำคัญของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ ขณเดียวกันก็แสดงความวิตกเกี่ยวกับการซ้อมรบระหว่างมอสโกกับเบลารุส คาดอาจนำมาซึ่งการประจำการถาวร รวมถึงติดอาวุธนิวเคลียร์ให้ประเทศอดีตสหภาพโซเวียตแห่งนี้ และเปิดทางสำหรับโจมตียูเครน

ด้วยที่ทหารรัสเซียหลายแสนนายระดมพลอยู่ตามแนวชายแดนติดกับยูเครน บลิงเคนจึงจะบินไปพบปะกับพันธมิตรยูเครนและยุโรป ก่อนหน้าการพูดคุยกับเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียในวันศุกร์ (21 ม.ค.)

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยกระดับภัยคุกคาม ระบุว่าวิกฤตที่ก่อตัวอย่างช้าๆ กำลังก้าวสู่ขั้นใหม่ที่เต็มไปด้วยอันตราย "เราเชื่อว่าเวลานี้เราอยู่ในขั้นที่รัสเซียอาจลงมือโจมตียูเครนได้ทุกเมื่อ" เจน ซากี เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนทำเนียบขาวระบุ "ฉันอยากบอกว่ามันจริงจังกว่าที่เราเคยเจอ"

ในความคืบหน้าครั้งใหม่ที่เป็นลางบอกเหตุ เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสรายหนึ่งของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า มีความกังวลว่าร่างปฏิรูปรัฐธรรมนูญในเบลารุส รัฐเผด็จการพันมิตรใกล้ชิดกับมอสโก อาจเปิดทางให้มีการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย

ความกังวลดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ทหารรัสเซียหลั่งไหลเข้าสู่เบลารุส ในสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็นการซ้อมรบ แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่ามันเป็นจำนวน "ที่มากกว่าปกติอย่างมาก"

รายงานข่าวของเอเอฟพีระบุ แม้รัสเซียยืนยันไม่มีแผนรุกรานยูเครน แต่ด้วยที่พวกเขาเคยบุกยึดแหลมไครเมียในปี 2014 และสนับสนุนกบฏแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครน ดังนั้้น การเสริมกำลังทหารและอาวุธจู่โจมของมอสโก จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าอย่างน้อยๆ ความเป็นไปได้ของการลงมือโจมตีนี้ก็ถูกเตรียมไว้ในฐานะหนทางหนึ่งในการกลับสู่เป้าหมายอย่างกว้างๆ ของเครมลิน สำหรับขัดขวางไม่ให้ยูเครนที่หันมาฝักใฝ่ตะวันตก หลุดพ้นจากอิทธิพลของรัสเซีย

ในบรรดาข้อเรียกร้องต่างๆ ของรัสเซียที่ต้องการคำรับประกันจากพันธมิตรนาโต้ หนึ่งในนั้นคือ ต้องไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกตลอดไป บางอย่างที่นาโต้ระบุว่าไม่มีทางประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น

ซากี กล่าวโทษผู้นำรัสเซีย ระบุว่า "ประธานาธิบดีปูตินสร้างวิกฤตนี้ขึ้นมา" และเตือนอีกครั้งว่าอาจโดนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน หากมอสโกลงมือโจมตียูเครน "ไม่มีทางเลือกใดที่ถูกดึงออกจากโต๊ะในเรื่องของการคว่ำบาตร" เธอกล่าว พร้อมเตือนว่า "สถานการณ์อันตรายอย่างยิ่งยวด"

โฆษกทำเนียบขาวรายนี้กล่าวต่อว่า มาตรการคว่ำบาตรนั้นอาจรวมถึงการพับเก็บโครงการนอร์ด สตรีม 2 ท่อลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสู่เยอรมนี

ความพยายามเชิงรุกทางการทูตของบลิงเคนมีขึ้นตามหลังการพูดคุยที่ไม่ได้ข้อสรุปในเจนีวา บรัสเซลล์และเวียนนา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทางรัสเซียนำเสนอข้อเรียกร้องที่บรรดารัฐบาลชาติตะวันตกบอกว่าไม่อาจยอมรับได้

ในการโทรศัพท์พูดคุยกับลาฟรอฟ ก่อนออกเดินทาง บลิงเคน "เน้นย้ำความสำคัญของการเดินหน้าหนทางด้านการทูตเพื่อลดความตึงเครียด" เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ ส่วนกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเผยว่า ลาฟรอฟได้เรียกร้องบลิงเคน "อย่าคาดเดาซ้ำซากเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่ว่ารัสเซียใกล้ที่จะรุกรานยูเครนแล้ว"


นอกเหนือจากการห้ามยูเครนเป็นสมาชิกนาโต้ตลอดไปแล้ว มอสโกยังเรียกร้องจำกัดจำนวนกำลังพลของกองกำลังนาโต้ในรัฐสมาชิกปัจจุบันอย่างโปแลนด์ และประเทศต่างๆ ในแถบบอลติก ซึ่งครึ่งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า บลิงเคนจะพบปะกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ในกรุงเคียฟในวันพุธ (19 ม.ค.) เพื่อ "เน้นย้ำพันธสัญญาของสหรัฐฯ ต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน"

จากนั้น บลิงเคน จะร่วมหารือ 4 ฝ่ายกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ในเบอร์ลิน ก่อนพบปะกับ ลาฟรอฟ ที่เจนีวา ในวันศุุกร์ (21 ม.ค.)

สถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคแถบนี้ยิ่งโหมกระพือหนักหน่วงขึ้นไปอีก เมื่อรัสเซียและเบลารุส ประเทศเพื่อนบ้านของยูเครน เปิดการซ้อมรบร่วมในวันอังคาร (18 ม.ค.)

กระทรวงกลาโหมเบลารุสระบุว่า พวกเขาเป็นเจ้าภาพการซ้อมรบสืบเนื่องจากความตึงเครียดทางทหารที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในนั้นรวมถึงตามแนวชายแดนทางตะวันตกและทางภาคใต้ของประเทศ อ้างถึงยูเครนที่ตั้งอยู่ทางใต้ของเบลารุสและโปแลนด์ สมาชิกนาโต้และอียู ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวก่อความวิตกแก่สหรัฐฯ โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศรายหนึ่งเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในวันอังคาร (18 ม.ค.) อเมริกามีความวิตกต่อการที่ทหารรัสเซียเข้าไปอยู่ในเบลารุสเพื่อซ้อมรบ ซึ่งอาจกลายเป็นการประจำการถาวรและอาจนำมาซึ่งการเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์เข้าสู่ประเทศแห่งนี้

กองกำลังรัสเซียเคลื่อนเข้าสู่เบลารุส หลังจากประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก พันธมิตรของมอสโก แถลงในวันจันทร์ (17 ม.ค.) ว่า ทั้งสองประเทศจะทำการซ้อมรบทางทหารในเดือนหน้า

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นโดยปราศจากการแจ้งเตือนล่วงหน้าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตามธรรมเนียม โหมกระพือความตึงเครียดกับตะวันตก ที่มีความกังวลอยู่ก่อนแล้วเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะรุกรานยูเครน ซึ่งมีชายแดนติดกับเบลารุส

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งให้สัมภาษณ์โดยไม่เปิดเผยชื่อ ว่า ขนาดของกองกำลังรัสเซียที่เดินทางเข้าสู่เบลารุสนั้น "เกินกว่าที่เราคาดไว้สำหรับการซ้อมรบตามปกติ ช่วงเวลาของมันยิ่งเป็นที่น่าสังเกต แน่นอนว่ามันก่อความกังวลว่ารัสเซียอาจมีความตั้งใจประจำการทหารในเบลารุส อำพรางภายใต้การซ้อมรบทางทหาร เพื่อความเป็นไปได้ในการโจมตียูเครน"

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รายนี้ระบุว่า การเปลี่ยนแแปลงต่างๆ ในรัฐธรรมนูญของเบลารุส ซึ่งจะมีการลงประชามติกันในเดือนหน้า อาจเปิดทางให้ทหารรัสเซียประจำการอยู่ในประเทศแห่งนี้อย่างถาวร

"ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้อาจบ่งชี้ว่าเบลารุสมีแผนเปิดทางให้ทั้งกองกำลังทั่วไปและกองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียประจำการในดินแดนของพวกเขา" เจ้าหน้าที่กล่าว "ซึ่งมันจะเป็นตัวแทนความท้าทายความมั่นคงของยุโรปที่เราอาจจำเป็นต้องตอบโต้"

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น