อเมริกา-รัสเซีย ตกลงเจรจาด้านความมั่นคงกันต้นเดือนหน้า เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกังวลจากกิจกรรมการทหารของทั้งสองฝ่าย และการเผชิญหน้าที่ทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ในกรณียูเครน
โฆษกคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศเมื่อคืนวันจันทร์ (27 ธ.ค.) ว่า กำหนดการหารือกับรัสเซียคือวันที่ 10 มกราคม หลังจากนั้น มอสโกจะหารือกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ต่อในวันที่ 12 และวันถัดไป (13) จะมีการประชุมองค์กรเพื่อความมั่นคงและการร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) ที่ทั้งรัสเซียและอเมริกาจะเข้าร่วมด้วย
ต่อมาในวันอังคาร (28) เซียร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศรัสเซีย แถลงยืนยันกำหนดการประชุมดังกล่าว พร้อมแสดงความหวังว่า การเจรจากับอเมริกาที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ครั้งนี้ จะเป็นการเริ่มต้นกระบวนการที่นำไปสู่การรับประกันด้านความมั่นคงของรัสเซียจากฝ่ายตะวันตก
การรับประกันดังกล่าวเป็นสิ่งที่มอสโกเรียกร้องมานาน ขณะที่ชาติตะวันตกกังวลมากขึ้นกับการที่มอสโกส่งทหารราวแสนนายประจำการตามแนวชายแดนประชิดยูเครนตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากได้เข้ายึดคาบสมุทรไครเมียจากยูเครนเมื่อปี 2014 อีกทั้งสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่อสู้กับกรุงเคียฟในดินแดนด้านตะวันออกของยูเครน โดยความขัดแย้งเหล่านี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15,000 คน และแม้การรบขนาดใหญ่สิ้นสุดลงหลังข้อตกลงหยุดยิงปี 2015 แต่ยังคงมีการปะทะที่มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นเป็นประจำ
ทางด้านรัสเซียยืนยันว่า ไม่มีแผนโจมตียูเครน แต่อาจดำเนินการทางทหารบางอย่างหากข้อเรียกร้องการรับประกันด้านความมั่นคงไม่ได้รับการตอบสนอง
มอสโกที่กังวลว่า ตะวันตกกำลังติดอาวุธให้ยูเครนอีกครั้ง ต้องการการรับประกันที่มีผลทางกฎหมายว่า นาโตจะไม่แผ่ขยายอิทธิพลเพิ่มทางด้านตะวันออก และจะไม่ติดตั้งอาวุธบางประเภทในยูเครน หรือประเทศเพื่อนบ้านรายอื่นๆ ของแดนหมีขาว
ด้านวอชิงตันขู่แซงก์ชันทางเศรษฐกิจหากมอสโกบุกยูเครน และบ่ายเบี่ยงว่า ไม่สามารถให้สัญญาว่า ประเทศอธิปไตยอย่างยูเครนจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต
โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกากล่าวว่า ระหว่างการหารือต้นเดือนหน้า ทั้งสองฝ่ายจะระบุข้อกังวลของตัวเอง แต่จะไม่มีการตัดสินใจแทนยูเครน
ขณะที่เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า มอสโกจะยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และจะไม่ยอมอ่อนข้อให้อเมริกาเด็ดขาด
เวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่อเมริกันคนหนึ่งเปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า รัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน สั่งให้หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส แฮร์รี ทรูแมน ประจำอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนต่อ แทนที่จะส่งไปตะวันออกกลาง ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจของพันธมิตรและหุ้นส่วนในยุโรปว่า อเมริกายึดมั่นในการร่วมมือเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากภายนอก
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวสำทับว่า อเมริกาไม่มีแผนส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส แฮร์รี ทรูแมน เข้าใกล้ยูเครน และแม้รัสเซียระดมกำลังพลจำนวนมาก แต่ขณะนี้อเมริกายังไม่ได้ส่งเรือรบเข้าไปในทะเลดำแต่อย่างใด
อนึ่ง เมื่อวันจันทร์ (27) ที่ผ่านมา ไบเดนได้ลงนามรับรองกฎหมายงบประมาณการใช้จ่าย ซึ่งครอบคลุมถึงการให้เงินสนับสนุนกองทัพยูเครน 300 ล้านดอลลาร์ และเงินทุนอีกหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับการปกป้องยุโรป
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)