xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : รัสเซีย-นาโตถกปัญหา ‘ยูเครน’ ไม่ลงตัว สหรัฐฯ ขู่แซงก์ชัน-มอสโกฮึ่ม ‘พร้อมลุย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(จากซ้ายไปขวา) อเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย, อเล็กซานเดอร์ กรุชโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย และ เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เข้าร่วมการประชุมสภานาโต-รัสเซีย ณ สำนักงานใหญ่นาโต ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.
การเจรจาลดความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในสัปดาห์นี้ยังคงไม่ได้ข้อสรุป ท่ามกลางความหวาดระแวงของชาติตะวันตกที่เกรงว่ารัสเซียอาจนำกำลังบุก “ยูเครน” ขณะเดียวกัน ก็มองว่าข้อเรียกร้องของมอสโกที่ให้นาโตหยุดขยายอิทธิพลไปทางตะวันออกเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

ภายหลังการพูดคุยที่นครเจนีวา ซึ่งใช้เวลานานกว่า 7 ชั่วโมงเมื่อวันจันทร์ (10 ม.ค.) เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และรัสเซียต่างเห็นพ้องว่าจะเจรจากันต่อ แม้จะยังไม่เห็นสัญญาณพบกันครึ่งทางก็ตาม

เซียร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ให้คำมั่นต่อ เวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า กระแสวิตกกังวลเรื่องการบุกยูเครนนั้น “ไม่มีมูล” พร้อมทั้งยืนยันว่า รัสเซีย “ไม่มีแผนและไม่มีเจตนาที่จะโจมตียูเครน ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องกังวลเรื่องนี้”

ทางฝ่ายสหรัฐฯ แย้งว่า รัสเซียไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยันอย่างน่าเชื่อถือว่าจะไม่รุกรานยูเครน อีกทั้งยังไม่มีคำอธิบายที่ฟังขึ้นว่า เหตุใดจึงรู้สึกว่าตัวเองกำลังเผชิญภัยคุกคามจากเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่ามาก จนถึงขั้นต้องมีการซ้อมยิงกระสุนจริง และส่งทหาร 100,000 นายไปประชิดชายแดนยูเครนในตอนนี้

“นี่มันเรื่องอะไรหรือ? เป็นการรุกรานหรือเปล่า? หรือแค่ข่มขู่? ต้องการบ่อนทำลายงั้นหรือ? ดิฉันเองก็ไม่ทราบ แต่มันไม่ช่วยสนับสนุนการคลี่คลายปัญหาด้วยวิธีทางการทูต” เชอร์แมน ระบุ

เชอร์แมน ระบุว่า สหรัฐฯ พร้อมจะใช้แนวทางต่างตอบแทนกับรัสเซีย ทั้งในแง่ของการลดการเผชิญหน้า การประจำการขีปนาวุธ และการซ้อมรบต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน ย้ำว่า ข้อเรียกร้องบางอย่างของรัสเซีย “ไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ดี” ตัวอย่างเช่น การที่มอสโกขอให้นาโตหยุดขยายกองกำลังไปทางทิศตะวันออกเข้าใกล้พรมแดนรัสเซีย เป็นต้น

“เราจะไม่ยอมให้ใครมาปิดกั้นนโยบายเปิดประตู (open-door policy) ของนาโต” เชอร์แมน กล่าว

รัฐมนตรีช่วยฯ สหรัฐฯ เตือนด้วยว่า หากรัสเซียโจมตียูเครนอีกครั้ง “จะนำมาซึ่งราคาและผลลัพธ์ที่ใหญ่หลวง มากกว่าที่พวกเขาเคยโดนเมื่อปี 2014” ซึ่งหมายถึงตอนที่มอสโกบุกยึดคาบสมุทรไครเมีย และสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก

รยาบคอฟ วิจารณ์คำขู่ของสหรัฐฯ ว่าเป็นการ “แบล็กเมล์และคุกคาม” รัสเซีย แต่ถึงกระนั้นยังเชื่อว่า สถานการณ์โดยรวม “ไม่ได้สิ้นหวังเสียทีเดียว”

คณะผู้แทนนาโตและรัสเซียยังมีการประชุมหารือร่วมกันที่กรุงบรัสเซลส์ในวันพุธ (12) ซึ่งภายหลังจากที่การพูดคุยสิ้นสุดลง เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ออกมายอมรับกับสื่อมวลชนว่า “มีความเสี่ยงอย่างจริงจังที่จะเกิดการเผชิญหน้าด้วยอาวุธขึ้นในยุโรป”

“พันธมิตรนาโตกับรัสเซียยังคงเห็นต่างกันในหลายๆ เรื่อง... ซึ่งความแตกต่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาจุดประสาน แต่อย่างน้อยการที่นาโตและรัสเซียได้มีโอกาสมาร่วมโต๊ะเจรจาเพื่อพูดถึงประเด็นต่างๆ เหล่านี้นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี”

สโตลเตนเบิร์ก ยังเอ่ยย้ำจุดยืนของนาโตว่า มีเพียง “ยูเครน” และ “นาโต” เท่านั้นที่มีสิทธิตัดสินใจว่าจะยูเครนจะได้เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรหรือไม่ ซึ่งอันที่จริงข้อตกลงนี้มีการพูดคุยกันในเชิงหลักการเอาไว้แล้วตั้งแต่ปี 2008

อย่างไรก็ดี เขายืนยันว่านาโตพร้อมที่จะหารือเพิ่มเติมกับรัสเซียในประเด็นอื่น เช่น การควบคุมอาวุธ การประจำการขีปนาวุธ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และเตือนว่าหากรัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครนจะเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ “ผิดพลาดมหันต์” และจะถูกตอบโต้อย่างหนักหน่วงแน่นอน


ทางด้าน อเล็กซานเดอร์ กรุชโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่า มอสโกยินดีที่จะพูดคุยเรื่องอาวุธและมาตรการรับรองต่างๆ แต่จะไม่ยอมให้นาโต “เลือก” รับข้อเสนอของรัสเซียเพียงบางอย่างและปฏิเสธส่วนอื่นๆ

กรุชโก กล่าวว่า รัสเซียไม่อาจเชื่อถือคำกล่าวอ้างของนาโตที่ระบุว่าเป็นเพียง “กลุ่มพันธมิตรเพื่อการป้องกันตนเอง” และไม่เป็นพิษเป็นภัยใดๆ ต่อรัสเซีย และหากว่านาโตพยายามที่จะควบคุมหรือข่มขู่ รัสเซียก็พร้อมที่จะตอบโต้ในทางเดียวกัน

“ถ้ามีความพยายามค้นหาจุดอ่อนในระบบป้องกันของรัสเซีย เราเองก็จะค้นหาจุดอ่อนของนาโตบ้างเช่นกัน” เขากล่าว

“นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเลือก แต่ก็ไม่มีหนทางอื่น หากไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะก้าวไปสู่ความรุนแรงนี้ได้”

รัฐมนตรีผู้นี้ย้ำว่า มอสโกพร้อมใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อ “ปลดชนวน” ภัยคุกคามความมั่นคง หากการเจรจาทางการทูตไม่เป็นผล

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์ของรัสเซียอ้างคำแถลงของ อเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งฝากเตือนไปยังนาโตว่าหากยังคง “ละเลย” ข้อเรียกร้องต่างๆ ของรัสเซียอาจจะทำให้ความขัดแย้งลุกลามไปสู่สถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้

รัฐสมาชิกนาโตได้ขยายจำนวนจาก 16 ประเทศในช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น กลายมาเป็น 30 ประเทศในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศยุโรปกลางและตะวันออกที่เป็นอดีตรัฐคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต

รัสเซียชี้ว่า ความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรง และมีความจำเป็นที่จะต้อง “ขีดเส้นแดง” เอาไว้เพื่อปกป้องตนเอง

สำหรับชนวนความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครนนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2014 ภายหลังเกิดการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ที่มีจุดยืนสนับสนุนเครมลินและต่อต้านความร่วมมือกับยุโรป

ต่อมาไม่นาน มอสโกได้ทำการผนวกคาบสมุทรไครเมีย และให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก จนนำมาสู่การสู้รบยืดเยื้อที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 13,000 คน

นอกจากในยูเครนแล้ว รัสเซียยังได้เข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลพันธมิตรที่ถูกประชาชนลุกฮือต่อต้านทั้งในเบลารุส และคาซัคสถาน
กำลังโหลดความคิดเห็น