5 ชาติมหาอำนาจของโลก ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส ลงมติเห็นพ้องหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์และการก่อสงครามนิวเคลียร์ ระบุ “จะไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ” นับเป็นการแสดงจุดยืนร่วมที่นานๆ จะมีสักครั้งสำหรับผู้นำซีกโลกตะวันตกและตะวันออกซึ่งมีความขัดแย้งพัวพันกันอยู่หลายด้าน และเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ดีของการก้าวไปสู่จุดหมายในการสร้างโลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์
คำแถลงร่วมจาก 5 ชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า “เราเชื่อมั่นอย่างจริงจังว่าการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์จะต้องถูกยับยั้ง”
“เราขอประกาศยืนยันว่า ไม่มีฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะในสงครามนิวเคลียร์ และจะต้องไม่มีสงครามนี้เกิดขึ้น”
“เนื่องจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ย่อมสงผลกระทบเป็นวงกว้าง เราจึงขอประกาศเช่นกันว่า ตราบใดที่ยังคงมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่มันจะต้องถูกใช้เพื่อการป้องกัน ป้องปรามการรุกราน และหลีกเลี่ยงสงครามเท่านั้น”
คำแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่แผนการทบทวนสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-proliferation of Nuclear Weapons - NPT) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1970 ถูกเลื่อนออกไปจากวันที่ 4 ม.ค. เป็นช่วงหลังของปีนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
แม้ความตึงเครียดระหว่างจีน รัสเซีย กับกลุ่มมหาอำนาจตะวันตกจะยังคงคุกรุ่น แต่ทั้ง 5 ชาติเล็งเห็นถึงความรับผิดชอบที่จะต้องหลีกเลี่ยงสงครามระหว่างรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และลดความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์ลง ขณะเดียวกัน จะต้องร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความมั่นคง
“เราต่างมีความตั้งใจที่จะธำรงและเสริมสร้างมาตรการต่างๆ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่เจตนา” คำแถลงร่วมระบุ
ทั้ง 5 ชาติยังให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญา NPT ที่ระบุให้รัฐต่างๆ ต้องมุ่งไปสู่การปลอดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ในอนาคต
แม้อาวุธทำลายล้างสูงชนิดนี้จะเคยถูกนำมาใช้เพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ คือ ตอนที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูโจมตีญี่ปุ่นช่วงก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทว่า ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมถึงรัสเซียกับชาติตะวันตก ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาวุธร้ายแรงเหล่านี้อาจจะถูกนำออกมาใช้ในสงครามจริงอีกครั้ง
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียอยู่ในช่วงตกต่ำที่สุดในยุคหลังสงครามเย็น และรัสเซียซึ่งกังวลเรื่องที่นาโตพยายามแผ่ขยายอิทธิพลไปทางตะวันออกมากขึ้นได้มีการส่งทหารนับแสนนายเข้าประชิดพรมแดนยูเครน ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ต้องเอ่ยเตือนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียว่า การรุกรานยูเครนจะทำให้รัสเซียถูกโลกตะวันตกตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรขนานใหญ่ และบีบให้สหรัฐฯ ต้องเสริมกำลังทหารในยุโรป
ขณะเดียวกัน การก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างสูงของจีนในยุคประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าความตึงเครียดกับสหรัฐฯ อาจลุกลามไปสู่การเผชิญหน้าทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นไต้หวัน
การที่จีนทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อยกระดับกองทัพสู่ความทันสมัยอย่างรวดเร็วสร้างความกังวลต่อทั้งสหรัฐฯ และเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาประเมินว่าจีนกำลังขยายคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ด้วยความเร็วที่เหนือความคาดหมาย โดยคาดว่าจีนจะมีหัวรบนิวเคลียร์ถึง 700 หัวรบภายในปี 2027 และอาจจะเพิ่มเป็น 1,000 หัวรบภายในปี 2030
จีนได้ออกมาปกป้องนโยบายนิวเคลียร์ของตนเองเมื่อวันอังคาร (4) และเรียกร้องให้สหรัฐฯ กับรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจที่มีคลังแสงนิวเคลียร์ขนาดใหญ่กว่าจีนหลายเท่า แสดงความเป็นผู้นำในการ “ลดอาวุธ” ก่อน
“สหรัฐฯ และรัสเซียยังครอบครองหัวรบนิวเคลียร์มากถึง 90% ของโลก” ฟู่ ชง (Fu Cong) อธิบดีกรมควบคุมอาวุธในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศจีน ให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงปักกิ่ง “พวกเขาจะต้องลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ลงอย่างชนิดที่เปลี่ยนแปลงหวนกลับไม่ได้ (irreversible) และมีผลผูกพันทางกฎหมายด้วย”
ฟู่ ยังปฏิเสธข้อครหาของสหรัฐฯ ที่ว่าจีนกำลังเสริมศักยภาพด้านนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
“สำหรับเรื่องที่สหรัฐฯ อ้างว่าจีนขยายศักยภาพด้านนิวเคลียร์อย่างกว้างขวางนั้น ผมขอชี้แจงตรงนี้ว่า ไม่เป็นความจริง”
“จีนยึดถือนโยบายว่าเราจะไม่เป็นผู้นำ (อาวุธนิวเคลียร์) ออกมาใช้ก่อน และเราคงศักยภาพด้านนิวเคลียร์ไว้ในระดับปกติ เท่าที่จำเป็นต่อการป้องกันประเทศ”
อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าปักกิ่งจะยังเดินหน้ายกระดับคลังแสงนิวเคลียร์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อจุดประสงค์ในด้านความปลอดภัยและความไว้วางใจได้ (reliability)
นักวิเคราะห์ได้เผยแพร่รายงานที่อ้างอิงจากภาพถ่ายดาวเทียมว่า จีนกำลังสร้าง “ไซโลเก็บขีปนาวุธ” ขึ้นกลางทะเลทรายในเขตมณฑลกานซู่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และเมื่อปีที่แล้วก็ได้มีการทดสอบ “ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก” ซึ่งสามารถเดินทางได้เร็วกว่าเสียงถึง 5 เท่า แม้ว่าปักกิ่งจะไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการก็ตาม
ฟู่ ปฏิเสธที่จะยืนยันเรื่องไซโลขีปนาวุธ และย้ำว่าขนาดของกองกำลังนิวเคลียร์จีนนั้น “ไม่ใช่สิ่งที่จะประเมินกันได้ โดยอาศัยเพียงแค่ภาพถ่ายดาวเทียม”
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนผู้นี้ยังปฏิเสธกระแสคาดเดาที่ว่า จีนอาจจะนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการใกล้ช่องแคบไต้หวัน โดยระบุว่า “อาวุธนิวเคลียร์มีไว้เพื่อการป้องปรามขั้นสุดท้าย ไม่ใช่เอาไว้ทำสงครามหรือต่อสู้กับใคร”