xs
xsm
sm
md
lg

5 มหาอำนาจร่วมแถลงเลี่ยง 'สงครามนิวเคลียร์' แต่ 'จีน' ยืนยันปรับปรุงคลังแสง 'นุก' ที่ยังล้าหลัง US-รัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากแฟ้มซึ่งไม่ระบุว่าถ่ายเมื่อใด ภาพนี้เป็นภาพมุมกว้างของสถานปฏิบัติการวิจัยแห่งชาติลอส อะลามอส ในเมืองลอส อะลามอส รัฐนิวเม็กซิโก ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสถานที่ทดลองสร้างอาวุธนิวเคลียร์แห่งแรกของสหรัฐฯ และยังคงมีฐานะสำคัญในการศึกษาวิจัยด้านนี้ของอเมริกา
5 มหาอำนาจนิวเลียร์ของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส มีมติเห็นพ้องให้หลีกเลี่ยงการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ และการก่อสงครามนิวเคลียร์ โดยระบุว่า จะ “ไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ” อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านควบคุมอาวุธของแดนมังกรออกมาแถลงในวันอังคาร (4 ม.ค.) ว่า ประเทศของเขายังคงเดินหน้าปรับปรุงกำลังอาวุธด้านนิวเคลียร์สู่ความทันสมัยต่อไป ถึงแม้ไม่ได้ขยายคลังแสง “นุก” ตามที่วอชิงตันกล่าวหา

ในคำแถลงร่วมที่นานทีจะมีสักครั้งซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (3) อเมริกา จีน รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้ยืนยันเป้าหมายในการร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อสร้างโลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และป้องกันไม่ให้เกิดสงครามระหว่างพวกประเทศที่ครอบครองนิวเคลียร์ขึ้นมา รวมทั้งยังให้คำมั่นปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ในอนาคต

“เราขอประกาศยืนยันว่า ไม่มีฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะในสงครามนิวเคลียร์ และจะต้องไม่มีสงครามนี้เกิดขึ้น” คำแถลงร่วมในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ ระบุ

“เนื่องจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ย่อมสงผลกระทบเป็นวงกว้าง เราจึงขอประกาศเช่นกันว่า ตราบใดที่ยังคงมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่มันจะต้องถูกใช้เพื่อการป้องกัน ป้องปรามการรุกราน และหลีกเลี่ยงสงครามเท่านั้น”

ทว่ายังคงเห็นกันโดยทั่วไปว่า เป้าหมายที่ 5 มหาอำนาจประกาศออกมานี้อาจเป็นจริงได้ยากเมื่อพิจารณาว่า มหาอำนาจเหล่านี้เองกำลังขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับจากสงครามเย็น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ได้ออกรายงานฉบับหนึ่งในเดือนพฤศิกายนปีที่แล้ว ระบุว่า จีนกำลังขยายคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ด้วยความรวดเร็วกว่าที่เคยคาดหมายกัน โดยคาดว่า อาจจะมีหัวรบถึง 700 หัวรบในปี 2027 และอาจเพิ่มเป็น 1,000 หัวรบในปี 2030 นอกจากนั้น วอชิงตันยังแสดงความกังวลมากกับการที่จีนดูเหมือนพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ที่มีความเร็วกว่าเสียง 5 เท่าขึ้นไป ถึงแม้ปักกิ่งยังไม่เคยยอมรับเรื่องนี้ก็ตาม

ในวันอังคาร (4) ฝู กง อธิบดีกรมควบคุมอาวุธ กระทรวงต่างประเทศจีน ออกมาแถลงปกป้องนโยบายอาวุธของประเทศ และกล่าวว่า รัสเซียและอเมริกาในฐานะมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์รวมกันถึง 90% ของทั่วโลก ควรเป็นฝ่ายเริ่มต้นปลดอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยวิธีการที่ไม่สามารถนำอาวุธเหล่านี้กลับมาใช้ได้อีก รวมทั้งให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย

ฝูยังปฏิเสธคำกล่าวอ้างของอเมริกาที่ว่า จีนกำลังเพิ่มแสนยานุภาพนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว และสำทับว่า จีนประกาศนโยบายจะไม่เป็นคนแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีคนอื่นก่อนมาโดยตลอด และคงแสนยานุภาพนิวเคลียร์ในระดับต่ำสุดสำหรับการปกป้องความมั่นคงของชาติ

กระนั้น เขาสำทับว่าปักกิ่งจะเดินหน้าปรับปรุงคลังแสงนิวเคลียร์สู่ความทันสมัยเพื่อความไว้วางใจได้และความปลอดภัย

นอกจากนั้น ฝูปฏิเสธการคาดเดาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จีนจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ใกล้ช่องแคบไต้หวัน โดยยืนยันว่า อาวุธนิวเคลียร์ใช้เพื่อป้องปรามขั้นสุดท้าย ไม่ใช่เพื่อทำสงคราม หรือสู้รบ

ในอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับรัสเซียยังย่ำแย่ลงจากการที่รัสเซียส่งทหารนับแสนนายไปประจำการใกล้ชายแดนยูเครน ทำให้เกิดความกลัวว่า รัสเซียที่กังวลว่า นาโตอาจแผ่ขยายอิทธิพลมาใกล้ตน กำลังวางแผนโจมตียูเครนที่ฝักใฝ่เป็นพันธมิตรกับตะวันตก

สำหรับคำแถลงร่วมล่าสุดของ 5 ชาติมหาอำนาจ เดิมทีมุ่งหมายให้ออกมาในจังหวะเวลาที่จะมีการประชุมสหประชาชาติเพื่อทบทวนสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (เอ็นเอฟที) ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 1970 ทว่าการประชุมนี้ถูกเลื่อนจากกำหนดเดิมในวันอังคาร (4) ไปเป็นปลายปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

คำแถลงร่วมนี้ยังออกมาขณะที่มหาอำนาจโลกพยายามเจรจากับอิหร่านเพื่อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่ง่อนแง่นมาโดยตลอด นับจากที่อเมริกาประกาศถอนตัวเมื่อปี 2018

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น