xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกา-รัสเซียเริ่มหารือสถานการณ์ยูเครน คาดแค่ปลดชนวนวิกฤต-ไร้ข้อตกลงสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - อเมริกา-รัสเซียเริ่มต้นหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ยูเครนที่ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ โดยตะวันตกกดดันหนักขึ้นให้มอสโกถอนกำลังออกจากแนวชายแดน ขณะที่เครมลินต้องการข้อตกลงความมั่นคงใหม่ที่ครอบคลุม อย่างไรก็ตาม บลิงเคนประกาศชัดเจนว่า การเจรจาจะไม่มีความคืบหน้าตราบที่รัสเซียยัง “เอาปืนจ่อหัวยูเครน” สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่า การหารือมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยูเครนเลวร้ายลงมากกว่าการบรรลุข้อตกลงสำคัญ

การหารือระดับสูงนี้เป็นการโหมโรงสู่สัปดาห์ทางการทูตที่รัสเซียจะต้องร่วมประชุมกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี)

นับจากปลายปีที่แล้ว รัสเซียได้ระดมทหารหลายหมื่นนายที่แนวชายแดนติดกับยูเครน และเรียกร้องให้นาโตรับประกันว่า จะไม่แผ่ขยายอิทธิพลทางด้านตะวันออก หรือตั้งฐานทัพเพิ่มในประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต

เวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ตกลงหารือแม้ระบุชัดเจนว่า ข้อเสนอจำนวนมากของมอสโกไม่มีทางเป็นไปได้

เดิมทีนั้นการหารือกำหนดเริ่มต้นในวันจันทร์ (10 ม.ค.) แต่ล่าสุด เชอร์แมนเตรียมหารือระหว่างอาหารค่ำกับเซียร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยรัสเซียในช่วงค่ำวันอาทิตย์ (9 ม.ค.)

ขณะเดียวกัน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อเรียกร้องของมอสโกเป็น “การปั่นหัว” และยืนกรานว่า การเจรจาจะไม่มีความคืบหน้าตราบที่รัสเซียยัง “เอาปืนจ่อหัวยูเครน”

บลิงเคนสำทับเมื่อวันศุกร์ (7 ม.ค.) ว่าวอชิงตันพร้อมตอบโต้อย่างรุนแรงหากรัสเซียรุกรานยูเครน แต่วิธีแก้ปัญหาทางการทูตยังเป็นไปได้และดีกว่าถ้ารัสเซียเลือก

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย พบกับโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ในเจนีวาเมื่อเดือนมิถุนายน และตกลงจัดการหารือด้านเสถียรภาพเป็นประจำระหว่างเชอร์แมน กับรยาบคอฟ ซึ่งจะเป็นผู้นำคณะตัวแทนของรัสเซียอีกครั้ง

นอกจากนั้น ในระหว่างการหารือทางโทรศัพท์ 2 ครั้ง ไบเดนยังเตือนปูตินว่า จะต้องเผชิญผลลัพธ์ร้ายแรงหากรัสเซียบุกยูเครน โดยมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณารวมถึงการแซงก์ชันคนใกล้ชิดปูติน การยกเลิกท่อส่งน้ำมันนอร์ดสตรีม 2 ของรัสเซียไปยังเยอรมนี หรือในสถานการณ์รุนแรงที่สุดคือ ตัดการเข้าถึงระบบการเงินโลก

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสหรัฐฯ เตือนว่า วอชิงตันอาจส่งทหารไปประจำการในประเทศสมาชิกนาโตทางด้านตะวันออกเพิ่ม เช่น โปแลนด์ และประเทศในแถบบอลติก หากรัสเซียบุกยูเครน

นอกจากนั้น ยุโรปยังโชว์ความสามัคคี โดยโจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) เดินทางไปเยือนพื้นที่ชายแดนของยูเครน แม้คาดว่า บางประเทศอาจลังเลที่จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดที่สุดกับมอสโกก็ตาม

ด้านรัสเซียยืนกรานว่า ตนถูกหลอกหลังสงครามเย็นและเข้าใจว่า นาโตจะไม่แผ่ขยายอิทธิพล แต่กลายเป็นว่า กลุ่มพันธมิตรที่นำโดยอเมริกาแห่งนี้อ้าแขนรับประเทศส่วนใหญ่ที่เคยเข้าร่วมกติกาสัญญาวอร์ซอ รวมทั้ง 3 ประเทศในแถบบอลข่านที่เคยอยู่ภายใต้โซเวียต

รัสเซียจุดชนวนความตึงเครียดกับยูเครนตั้งแต่ปี 2014 หลังการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลในเคียฟที่สนับสนุนเครมลินและต่อต้านการร่วมมือกับยุโรป

หลังจากนั้น มอสโกเข้าผนวกไครเมียและสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 13,000 คน และในเวลาเดียวกับที่รัสเซียเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือพันธมิตรที่ถูกประชาชนลุกฮือต่อต้านในเบลารุสและคาซัคสถาน มอสโกยืนกรานว่า ต้องการความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการเจรจากับวอชิงตัน

ยูริ ยูชาคอฟ ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของปูติน เตือนหลังจากประมุขเครมลินคุยโทรศัพท์กับไบเดนว่า ถ้าอเมริกาแซงก์ชันจะถือเป็นความผิดพลาดมหันต์

ทางฝ่ายเจนส์ สโตลเทนเบิร์ก ประธานนาโต ที่ประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศชาติสมาชิกเมื่อวันศุกร์ กล่าวว่า ยังมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่รัสเซียจะบุกยูเครน

จอห์น เฮิร์บสต์ อดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำยูเครน กล่าวถึงการที่รัสเซียซ่องสุมกำลังใกล้ชายแดนว่า เป็นการ “ขู่ขวัญ” ของปูตินเพื่อให้ตะวันตกยอมตกลงในการเจรจา ดังนั้น ตราบที่คณะบริหารของไบเดนยังแสดงท่าทีแข็งขันอย่างน้อยในระดับปัจจุบันก็เพียงพอแล้วที่จะปรามไม่ให้ปูตินบุกยูเครน

ขณะเดียวกัน แมทธิว โรจานสกี้ ผู้อำนวยการสถาบันเคนแนนของวูดโรว์ วิลสัน อินเตอร์เนชันแนล เซ็นเตอร์ ฟอร์ สกอลาร์สในวอชิงตัน มองว่า การเจรจาในเจนีวามีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยูเครนเลวร้ายลงมากกว่าการบรรลุข้อตกลงสำคัญ และแม้เชื่อว่า มีโอกาสน้อยที่รัสเซียจะเปิดฉากบุกยูเครนเต็มอัตราศึก แต่เขาคิดว่า การระดมทหารของรัสเซียถือเป็นความเสี่ยงอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น