xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกา-อังกฤษเล็งจัดหนักคนใกล้ชิดปูติน คณะมนตรีความมั่นคงถกเดือดวิกฤตยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - อเมริกา-อังกฤษเตรียมลงโทษชนชั้นนำที่เป็นคนใกล้ชิดของปูติน ด้วยการอายัดสินทรัพย์และแบนการเดินทาง หากรัสเซียบุกยูเครน ขณะที่บรรยากาศตึงเครียดลุกลามไปถึงยูเอ็น

อังกฤษเรียกร้องให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน “ถอยหลังจากขอบเหว” หลังจากมอสโกสะสมกำลังประชิดชายแดนยูเครนและทำให้เกิดความกังวลว่า อาจเกิดสงคราม พร้อมเตือนว่า การรุกรานยูเครนจะนำไปสู่การแซงก์ชันธุรกิจและเหล่าคนใกล้ชิดของเครมลิน

ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (31 ม.ค.) ว่าร่างกฎหมายที่วางแผนไว้จะให้อำนาจใหม่แก่ลอนดอนในการกำหนดเป้าหมายบริษัทที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลรัสเซีย

เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ขานรับว่า บุคคลที่อเมริการะบุเป็นคนใกล้ชิด หรือคนวงในเครมลินที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ หรือสมรู้ร่วมคิดกับพฤติกรรมบ่อนทำลายเสถียรภาพของเครมลิน

ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกเครมลิน โต้กลับว่า คำเตือนของอังกฤษ “น่าโมโหมาก” และทำให้อังกฤษมีแรงดึงดูดนักลงทุนน้อยลงซึ่งจะกระทบต่อบริษัทอังกฤษเอง

ทั้งนี้ นับจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 อังกฤษกลายเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนสำหรับรัสเซียและประเทศที่เคยเป็นสมาชิกสาธารณรัฐรัสเซีย

ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับอเมริกาปรากฏชัดเจนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันจันทร์ (31 ม.ค.) ที่มีการประชุมตามข้อเรียกร้องของอเมริกาเกี่ยวกับการสะสมกำลังของมอสโก

วาสสิลีย์ เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น ระบุว่า ไม่มีหลักฐานว่ามอสโกกำลังวางแผนเปิดปฏิบัติการทางทหาร และย้ำว่า รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด และไม่เคยยืนยันการกล่าวอ้างของตะวันตกว่า รัสเซียสะสมทหาร 100,000 นายใกล้ชายแดนยูเครน

เนเบนเซีย สำทับว่า การที่อเมริกาพูดถึงสงครามเป็นการยั่วยุ รวมทั้งยังบอกอีกว่า รัสเซียส่งทหารไปประจำการในพื้นที่ต่างๆ ภายในประเทศเป็นประจำ นอกจากนั้น วิกฤตยูเครนยังเป็นปัญหาภายในของยูเครนเอง อย่างไรก็ตาม ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น โต้แย้งว่ารัสเซียต่างหากที่เป็นฝ่ายยั่วยุ

ทางฝ่ายจีนนั้นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายละเว้นการทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น และยังบอกว่า ไม่คิดว่าการประจำการของทหารรัสเซียใกล้ชายแดนเป็นการคุกคามแต่อย่างใด

รัสเซียที่เข้ายึดไครเมียจากยูเครนในปี 2014 อีกทั้งสนับสนุนกลุ่มกบฏฝักใฝ่รัสเซียที่สู้รบกับรัฐบาลยูเครนในพื้นที่ด้านตะวันออกของประเทศนี้ ปฏิเสธว่าไม่ได้วางแผนรุกรานยูเครน และเรียกร้องการรับประกันความมั่นคงอย่างครอบคลุม ซึ่งรวมถึงคำสัญญาจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ว่าจะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก

ขณะเดียวกัน บรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ยังคงพยายามใช้แนวทางการทูตเพื่อปลดล็อกวิกฤต โดยประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส หารือทางโทรศัพท์กับรัสเซีย และทั้งคู่ต่างต้องการคงการหารือต่อเพื่อดำเนินการข้อตกลงมินสก์เกี่ยวกับดอนบอสส์ที่อยู่ในยูเครนตะวันออกและมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มอสโกให้การสนับสนุน

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษ ยังมีกำหนดหารือทางโทรศัพท์กับปูตินในช่วงคืนวันจันทร์หรือเช้าวันอังคาร (1 ก.พ.) ซึ่งจอห์นสันจะเดินทางไปยูเครนเพื่อเรียกร้องให้มอสโก “ถอยหลังจากปากเหว”

ขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงต่างประเทศอเมริกายังคาดว่า เซียร์เก ราฟลอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย จะหารือทางโทรศัพท์กับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันอังคาร

จากการประมาณการของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะนี้มีพลเมืองอเมริกันอาศัยอยู่ในยูเครนราว 6,600 คน และวอชิงตันเรียกร้องให้พลเมืองเหล่านั้นออกจากยูเครน

นอกจากอเมริกาและอังกฤษแล้ว สหภาพยุโรป (อียู) ที่สมาชิกหลายประเทศอยู่ในกลุ่มนาโต้ด้วยนั้น ขู่ว่า หากรัสเซียบุกยูเครนจะได้รับผลกระทบทางการเมืองอย่างรุนแรง รวมทั้งต้องจ่ายต้นทุนด้านเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล

สมาชิกนาโต้บางชาติ ที่รวมถึงอเมริกาและอังกฤษ ส่งอาวุธไปยูเครนแล้ว แต่ไม่มีแผนส่งทหารเข้าร่วมรบด้วย

วันจันทร์ทำเนียบขาวยังกล่าวหารัสเซียส่งกำลังไปเพิ่มในเบลารุสที่อยู่ระหว่างการซ้อมรบกัน อีกทั้งมีพรมแดนติดกับโปแลนด์และยูเครน

อเมริกายังขอให้กาตาร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ รวมทั้งประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ศึกษาว่า สามารถส่งพลังงานเพิ่มให้ยุโรปได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ยุโรปยังต้องพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของอียูระบุว่า อนาคตของท่อส่งก๊าซจากรัสเซียตอนนี้หยุดชะงักแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น