xs
xsm
sm
md
lg

คณะมนตรีความมั่นคงนัดหารือวิกฤตยูเครน มะกัน-อังกฤษชูมาตรการแซงก์ชันขู่ขวัญรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ครูฝึกทหารอเมริกัน สอนทหารยูเครนถึงวิธีใช้ขีปนาวุธทำลายบังเกอร์ M141 Bunker Defeat Munition (SMAW-D) ที่ลานฝึก ใกล้ๆ กับเมืองลาวีฟ ทางภาคตะวันตกของยูเครน เมื่อวันอาทิตย์ (30 ม.ค.) (ภาพจากสำนักงานสารนิเทศ กระทรวงกลาโหมยูเครน)
รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียและสหรัฐฯ ตั้งท่าเจรจากันครั้งใหม่ในวันอังคาร (1 ก.พ.) ภายหลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินัดหารือวิกฤตยูเครนในวันจันทร์ (31 ม.ค.) ขณะอเมริกากับอังกฤษโหมประโคมข่าวไม่ยอมเลิก เรื่องรัสเซียจะบุกยูเครนแน่ พร้อมเตรียมยกระดับมาตรการแซงก์ชันหากหมีขาวทำเช่นนั้น ถึงแม้มอสโกยืนกรานปฏิเสธเรื่องนี้ กระทั่งผู้นำยูเครนเองก็เรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการปลุกปั่น “ความตื่นตระหนก”

มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย จะหารือทางโทรศัพท์ในวันอังคาร กับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน

การหารือครั้งนี้นับเป็นการเจรจาทางการทูตครั้งล่าสุดระหว่างเหล่านักการทูตอาวุโสจากมอสโก วอชิงตัน และทางยุโรป เกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครน และความไม่ลงรอยกันในเรื่องความกังวลด้านความมั่นคงในยุโรป

ลาฟรอฟ กับ บลิงเคน หารือกันคราวนี้ ภายหลังกำหนดนัดหมายประชุมเรื่องยูเครนในวันจันทร์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ถึงแม้ว่า ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น กล่าวกับสื่อเอบีซี นิวส์ ของอเมริกาในวันอาทิตย์ว่า มีแนวโน้มที่รัสเซียจะพยายามสกัดกั้นไม่ได้คณะมนตรีความมั่นคงที่ประกอบด้วยสมาชิก 15 ชาติ ประชุมตามที่วอชิงตันเรียกร้อง แต่เธอยืนยันว่า คณะมนตรีมีความเป็นเอกภาพและจะเรียกร้องให้รัสเซียอธิบายเหตุผลของสิ่งที่ตนเองทำในยูเครน รวมทั้งเตรียมพร้อมที่จะตอบโต้หากมอสโกพยายามแพร่ข่าวเท็จใดๆ ในระหว่างการประชุม

ขณะเดียวกัน วิกตอเรีย นูแลนด์ ปลัดกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ซีบีเอสว่า ดูเหมือนรัสเซียสนใจข้อเสนอด้านความมั่นคงที่อเมริกาและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เสนอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งรวมถึงแนวโน้มการหารือรอบใหม่ระหว่างบลิงเคน กับ ลาฟรอฟ

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง บ็อบ เมเนนเดซ ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า อเมริกาต้องส่งข้อความที่ชัดเจนถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เพื่อเตือนว่า รัสเซียจะต้องจ่ายแพงหากรุกรานยูเครน และชี้ว่า บทลงโทษบางอย่างอาจใช้กับกิจกรรมที่รัสเซียลงมือทำไปแล้ว ซึ่งรวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ และสำทับว่า จะมีมาตรการแซงก์ชันรุนแรงที่บดขยี้รัสเซียหากรุกรานยูเครน

ขณะที่นูแลนด์ กล่าวเสริมว่า ทำเนียบขาวกำลังร่วมมือกับวุฒิสภา และว่า มาตรการแซงก์ชันที่จะออกมาจะเป็นแนวทางเดียวกับพันธมิตรยุโรป

ส่วนที่ลอนดอน ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวว่า อังกฤษจะเปิดเผยกฎหมายแซงก์ชันที่พุ่งเป้าเศรษฐกิจรัสเซียอย่างครอบคลุม กระทั่งเหล่าผู้มีอำนาจที่เป็นพวกพ้องของปูตินก็ไม่สามารถหลบหลีกได้

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์กลุ่มหนึ่งมองว่า มาตรการแซงก์ชันธนาคารและสถาบันการเงินของรัสเซียอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวรัสเซียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศเศรษฐกิจชั้นนำในยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ ด้วย

ขณะนี้บรรดาผู้นำตะวันตกกำลังใช้แนวทางแบบสองขั้นตอนคือ การเพิ่มความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน ควบคู่กับการใช้ความพยายามทางการทูตอย่างเต็มที่เพื่อปลดชนวนวิกฤต

ตัวอย่างเช่น อังกฤษประกาศก้องเตรียมเสนอส่งทหารและอาวุธไปสมทบกับนาโต้ครั้งใหญ่ จากที่ปัจจุบันมีอยู่ 1,150 คน จะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว นั่นคือ 2,300 คน โดยที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ยังได้รับการคาดหมายว่า จะหารือกับปูตินในสัปดาห์หน้า

ด้านรัสเซียนั้นยืนกรานปฏิเสธว่า ไม่มีแผนบุกยูเครน และต้องการความสัมพันธ์ที่เคารพกันและกันกับอเมริกา

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ก็ได้เรียกร้องให้ตะวันตกงดการเติมเชื้อไฟปลุกปั่นให้เกิดความตื่นตระหนกเกี่ยวกับรัสเซีย

เมื่อวันอาทิตย์ ออกซานา มาร์กาโรวา เอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหรัฐฯ ยืนยันผ่านสื่อซีบีเอส ว่า ยูเครนซาบซึ้งกับการสนับสนุนของอเมริกา แต่หลังจากอยู่กับการคุกคามต่อเนื่องของรัสเซียมา 8 ปี ยูเครนไม่สามารถรับสถานการณ์ตื่นตระหนกได้อีกต่อไป

ขณะเดียวกัน ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ทวิตเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารจากแนวชายแดนและดำเนินการทางการทูต หากต้องการผ่อนคลายสถานการณ์จริง

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น