xs
xsm
sm
md
lg

อังกฤษชี้รัสเซียจ้องล้มรัฐบาลยูเครน ปูทางตั้งคณะบริหารใหม่ฝักใฝ่มอสโก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - อังกฤษกล่าวหารัสเซียพยายามล้มรัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบันและผลักดันคณะบริหารที่สนับสนุนมอสโกขึ้นปกครองประเทศแทน รวมทั้งยังเผยชื่อนักการเมืองยูเครนหลายคนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยข่าวกรองมอสโก

รัฐบาลอังกฤษออกมากล่าวหาเรื่องดังกล่าวเมื่อวันเสาร์ (22 ม.ค.) โดยอ้างอิงผลการประเมินข้อมูลข่าวกรอง แต่ไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยัน ขณะที่มอสโกเปิดสงครามน้ำลายกับตะวันตกกรณียูเครน

ทั้งนี้ อังกฤษระบุตัวเลือกที่อาจเป็นไปได้ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของยูเครนคือ เยฟเฮนี มูราเยฟ อดีตนักการเมืองยูเครนที่ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคนาซี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กที่สนับสนุนรัสเซียและขณะนี้ยังไม่มีตัวแทนในรัฐสภายูเครน

นอกจากนั้น กระทรวงต่างประเทศอังกฤษยังเปิดเผยรายชื่อนักการเมืองยูเครนคนอื่นๆ ที่มีสายสัมพันธ์กับหน่วยข่าวกรองรัสเซีย อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนว่า อังกฤษเชื่อว่า รัสเซียจะใช้วิธีใดในการทำให้รัฐบาลที่เป็นมิตรตนได้ขึ้นปกครองยูเครน

ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ข้อมูลนี้เผยให้เห็นระดับกิจกรรมของรัสเซียที่มุ่งหวังโค่นล้มรัฐบาลยูเครน พร้อมเรียกร้องให้รัสเซียผ่อนคลายสถานการณ์และยุติความก้าวร้าวและการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ รวมทั้งปฏิบัติตามแนวทางประชาธิปไตย

ทรัสส์ ย้ำว่า การส่งทหารบุกยูเครนจะถือเป็นความผิดพลาดมหันต์ด้านกลยุทธ์และรัสเซียจะต้องจ่ายราคาแพง นอกจากนั้น อังกฤษยังส่งอาวุธต่อต้านรถถังให้ยูเครนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเสริมสร้างการป้องกันแนวโน้มการโจมตีจากรัสเซีย

ขณะเดียวกัน คาดว่า เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ จะหารือกับเซียร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียที่มอสโก เพื่อผ่อนคลายวิกฤตด้วยแนวทางการทูต กระนั้น ไม่มีการเปิดเผยกำหนดเวลาการหารือซึ่งจะถือเป็นการเจรจาทางการทหารทวิภาคีอังกฤษ-รัสเซียครั้งแรกนับจากปี 2013

ทางด้านอเมริกาปรับกลยุทธ์ก้าวร้าวขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อกระชับความร่วมมือกับพันธมิตรตะวันตกในการรับมือแนวโน้มที่รัสเซียอาจรุกรานยูเครน โดยทำเนียบขาวกล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ของอังกฤษว่า น่ากังวลอย่างมากและประกาศเคียงข้างสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งของยูเครน

รายงานการประเมินนี้มีขึ้นขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประชุมกับทีมความมั่นคงแห่งชาติที่แคมป์เดวิดเกี่ยวกับสถานการณ์ยูเครน ซึ่งรวมถึงความพยายามในการผ่อนคลายสถานการณ์ด้วยแนวทางการทูตและมาตรการป้องปรามที่จะเป็นการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรที่ครอบคลุมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ยูเครน

ขณะเดียวกัน ประเทศในแถบบอลติก ได้แก่ เอสโตเนีย แลตเวีย และลิทัวเนีย มีแผนส่งขีปนาวุธต่อต้านรถถังและขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานที่ผลิตในอเมริกาไปให้ยูเครน หลังจากที่วอชิงตันให้การรับรองเมื่อวันเสาร์ โดยรัฐมนตรีกลาโหม 3 ชาติออกแถลงการณ์ร่วมระบุถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการช่วยปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนที่เผชิญความก้าวร้าวจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ทวิตยกย่อง 3 ประเทศดังกล่าวที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตและปัจจุบันเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) สำหรับการสนับสนุนยูเครนมายาวนาน

นอกจากนี้ เอสโตเนียยังขอให้เยอรมนีอนุมัติการส่งปืนใหญ่ที่ผลิตในโซเวียตและเคยเป็นของเยอรมนีตะวันออกไปให้ยูเครน ซึ่งเบอร์ลินบอกว่า กำลังพิจารณาร่วมกับฟินแลนด์ที่ต้องให้การอนุมัติเช่นเดียวกัน เนื่องจากเอสโตเนียซื้ออาวุธดังกล่าวต่อจากฟินแลนด์ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต และฟินแลนด์ซื้อมาจากเยอรมนีอีกทีในช่วงทศวรรษ 1990

อย่างไรก็ตาม สื่อบางสำนักชี้ว่า คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ของเยอรมนี อาจขัดขวางไม่ให้เอสโตเนียส่งอาวุธดังกล่าวให้เคียฟ ตอกย้ำความแตกแยกเกี่ยวกับแนวทางการรับมือวิกฤตยูเครนในหมู่ชาติตะวันตก

ทางด้านรัสเซียนั้น ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกเครมลิน วิจารณ์ว่า การที่ตะวันตกจัดส่งอาวุธให้ยูเครนเป็นการกระทำที่อันตรายอย่างยิ่งและไม่ได้ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ให้เบาลง

ปัจจุบัน มอสโกส่งทหารนับแสนนายประชิดชายแดนยูเครน ทำให้เกิดความกังวลกันว่า อาจมีการบุกโจมตียูเครนรอบใหม่ ขณะที่ตะวันตกปฏิเสธข้อเรียกร้องหลักของรัสเซียคือ คำสัญญาจากนาโตว่าจะไม่รับสมาชิกเพิ่ม และไม่ติดตั้งอาวุธใกล้ชายแดนรัสเซีย รวมถึงถอนกำลังออกจากยุโรปตอนกลางและตะวันออก

การเจรจาระหว่างบลิงเคนกับเซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เมื่อวันศุกร์ (21 ม.ค.) จบลงโดยปราศจากความคืบหน้าสำคัญ และมีรายงานว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กำลังพิจารณาตัวเลือกต่างๆ เพื่อรับประกันความปลอดภัยของสถานทูตอเมริกัน ตลอดจนถึงเจ้าหน้าที่และครอบครัวในเคียฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น