xs
xsm
sm
md
lg

ทิ้งกันเฉยเลย! ยูเครนโวยวายใส่เยอรมนี หลังเบอร์ลินไม่ส่งอาวุธให้-แสดงท่าทีเลือกข้างรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดมิทรี คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนในวันเสาร์ (22 ม.ค.) ประณามเยอรมนีต่อกรณีปฏิเสธจัดหาอาวุธแก่เคียฟ เรียกร้องเบอร์ลินหยุดบ่อนทำลายความสามัคคีและเลิกสนับสนุนวลาดิมีร์ ปูติน ท่ามกลางความกังวลรัสเซียยกพลรุกราน หนำซ้ำผู้บัญชาการกองทัพเรือเยอรมนียังกล่าวแสดงความเคารพต่อผู้นำรัสเซีย และแสดงความคิดเห็นอีกว่าเคียฟไม่มีวันได้แหลมไครเมียคืนมาจากมอสโก คำพูดที่เรียกเสียงวิพาษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจนผู้บัญชาการรายนี้ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง

ด้วยทหารของรัสเซียหลายแสนนาย เช่นเดียวกับรถถัง ยานยนต์สู้รบ ปืนใหญ่และขีปนาวุธ ถูกระดมอยู่ตามแนวชายแดนติดกับยูเครน มันจึงโหมกระพือความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่าความขัดแย้งครั้งใหญ่อาจปะทุขึ้นในยุโรป และแม้มอสโกยืนกรานปฏิเสธว่าไม่มีแผนรุกราน แต่ทำเนียบขาวเชื่อว่าปฏิบัติการโจมตีอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ยูเครนเรียกร้องพันธมิตรตะวันตกให้เสริมแสนยานุภาพการป้องกันตนเองแก่พวกเขา เสียงเรียกร้องที่กระตุ้นให้สหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและประเทศต่างๆ ในแถบบอลติก ตอบตกลงจัดส่งอาวุธแก่เคียฟ ในนั้นรวมถึงขีปนาวุธต้านรถถัง และขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเยอรมนี คริสติน ลัมเบรชท์ รัฐมนตรีกลาโหม บอกว่าเบอร์ลิน จะส่งโรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่งไปยังยูเครน แต่เป็นอีกครั้งที่พวกเขาปฏิเสธเสียงร้องขออาวุธจากเคียฟ



รัฐมตรีกลาโหมหญิงรายนี้ เผยว่า เบอร์ลิน ได้จัดส่งเครื่องช่วยหายใจไปยังยูเครนแล้ว และเวลานี้ทหารยูเครนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสกำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลต่าง ของกองทัพ "การส่งมอบอาวุธไม่มีประโยชน์อะไรในเวลานี้ และมันเป็นความคิดเห็นที่เป็นเอกฉันท์ภายในรัฐบาล"

คูเลบา เขียนบนทวิตเตอร์ตอบโต้ว่าถ้อยแถลงของเยอรมนี "ที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดหาอาวุธป้องกันตนเองแก่ยูเครน ไม่เป็นไปตามสถานการณ์ในปัจจุบัน" และเน้นว่า ณ วันนี้ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของตะวันตกในเรื่องเกี่ยวกับรัสเซียมีความสำคัญมากกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา

"พันธมิตรเยอรมนีควรหยุดบ่อนทำลายความเป็นหนึ่งเดียวด้วยคำพูดและความเคลื่อนไหวต่างๆ และหยุดสนับสนุน วลาดิมีร์ ปูติน ให้ลงมือโจมตีรอบใหม่ใส่ยูเครน" คูเลบา กล่าว "ยูเครนรู้สึกขอบคุณเยอรมนีสำหรับแรงสนับสนุนที่พวกเขามอบให้ก่อนหน้านี้ แต่ถ้อยแถลงปัจจุบันของพวกเขามันน่าผิดหวังอย่างยิ่ง"

มอสโกยืนกรานว่าไม่มีแผนรุกรานยูเครน แต่ในขณะเดียวกัน วางข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงต่างๆ ในนั้นรวมถึงขอให้แบนยูเครนจากการเข้าร่วมสมาชิกนาโต้อย่างถาวร แลกกับความเคลื่อนไหวลดสถานการณ์ความตึงเครียด

นอกเหนือจากคำปฏิเสธมอบอาวุธแก่ยูเครนแล้ว ความเคลื่อนไหวของผู้บัญชาการกองทัพเรือเยอรมนียังก่อความเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้นไปอีก หลังจากเขาบอกว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ควรได้รับความเคารพและแสดงความคิดเห็นว่าเคียฟจะไม่มีวันทวงคืนไครเมียได้สำเร็จ หลังมันถูกรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเมื่อหลายปีก่อน

ความเห็นของ พล.ร.ท.เคย์-อาคิม เชินบัค เรียกเสียงวิพากษ์กว้างขวาง และสุดท้ายแล้วผู้บัญชาการกองทัพเรือแห่งเยอรมนีรายนี้ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในวันเสาร์ (22 ม.ค.) "ผมขอให้ท่านรัฐมนตรีกลาโหม ปลดผมออกจากตำแหน่ง และให้มีผลในทันที" เขาระบุในถ้อยแถลง "ท่านรัฐมนตรีตอบรับคำร้องขอลาออกของผม"

(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น