xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดน-ทำเนียบขาวต้องออกมาเคลียร์ หลังจาก ‘ประธานาธิบดี’ ทำสับสนว่าสหรัฐฯ จะตอบโต้ยังไงแน่ หากรัสเซียรุกล้ำยูเครนระดับเล็กๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ รับฟังคำถาม ระหว่างการแถลงข่าวอย่างยาวเหยียดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 50 นาที ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันพุธ (19 ม.ค.)
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ต้องออกมาอธิบายในวันพฤหัสบดี (20 ม.ค.) เรื่องนโยบายของอเมริกาในกรณีที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน หลังจากที่เขาสร้างความสับสนเมื่อวันพุธ (19) ขณะตอบคำถามผู้สื่อข่าวในประเด็นที่ว่าสหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างไรต่อ “การบุกในระดับเล็กน้อย”

“ถ้าหากหน่วยกำลังชาวรัสเซียที่รวมตัวกันใดๆ ก็ตามที ยกข้ามชายแดนยูเครน นั่นคือการรุกราน” ไบเดนบอกผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี พร้อมกับสำทับว่า ถ้ารัสเซียรุกรานก็จะต้องเจอกับการถูกตอบโต้เล่นงานทางเศรษฐกิจ “อย่างหนักหน่วงและอย่างมีการร่วมมือประสานงาน” ซึ่งอเมริกากำลังมีการหารือในรายละเอียดกับเหล่าพันธมิตร และได้แจ้งอย่างคร่าวๆ ให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย รับทราบไปแล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ ระหว่างการแถลงข่าวอย่างยาวเหยียดในโอกาสครบ 1 ปีแห่งการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา ไบเดนกล่าวถึงเรื่องยูเครนว่า ไม่เชื่อว่า ปูติน อยากทำสงคราม แต่คิดว่าประมุขวังเครมลินกำลังสร้างสถานการณ์ซึ่งยากมากที่จะปลดชนวนความตึงเครียด และอาจ “เกินการควบคุม” อย่างง่ายดาย

“ผมเดาว่าเขาจะเดินหน้าเข้ามา ... เขาจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง” ไบเดนกล่าว

“รัสเซียจะถูกไล่เรียงให้ต้องรับผิดชอบ ถ้าหากพวกเขารุกราน และมันขึ้นอยู่กับสิ่งที่พวกเขากระทำ” เขาบอก “มันเป็นเรื่องหนึ่งนะ ถ้ามันเป็นการล่วงล้ำเล็กน้อย และพวกเรา (นาโต้) จบลงด้วยการต่อสู้กันว่าจะทำอะไรและจะไม่ทำอะไร อะไรอย่างนี้”

ถึงแม้ไบเดน เสริมว่า ถ้ารัสเซียรุกรานยูเครน ก็จะกลายเป็น “ความหายนะ” สำหรับแดนหมีขาว แต่จากการที่เขาดูเหมือนพูดไปในทำนองว่า รัสเซียอาจต้องรับผลลดน้อยลงไป ถ้ากระทำแค่รุกล้ำเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่การรุกรานครั้งใหญ่ รวมทั้งบ่งชี้ว่าหากเป็นการรุกล้ำเล็กน้อย อาจมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในหมู่พันธมิตรนาโต้ ว่าจะตอบโต้กันอย่างไรดี ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทันทีว่า เปิดช่องให้กองทัพรัสเซียเข้าโจมตียูเครน

ร็อบ พอร์ตแมน วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน ระบุว่า การรุกรานของกองทัพรัสเซียต่อยูเครนไม่ว่าในรูปแบบใดต้องถือเป็นการรุกรานที่สำคัญทั้งนั้น เพราะทำลายเสถียรภาพของยูเครนและประเทศที่สนับสนุนเสรีภาพในยุโรปตะวันออก

ขณะเดียวกัน พวกเจ้าหน้าที่ทำเนียบต้องสาละวนออกมาอธิบายกันทั้งในวันพุธและวันพฤหัสบดี เกี่ยวกับจุดยืนของสหรัฐฯ

หัวหน้าโฆษกทำเนียบขาว เจน ซากี แจกแจงว่า หากกองทัพรัสเซียข้ามพรมแดนเข้าไปในยูเครนย่อมถือเป็นการรุกรานครั้งใหม่ซึ่งจะต้องเผชิญการตอบโต้อย่างรวดเร็ว รุนแรง และมีเอกภาพจากอเมริกาและพันธมิตร

ซากีตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียมีวิธีรุกรานมากมายที่นอกเหนือจากการดำเนินการทางทหาร ซึ่งรวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์และยุทธศาสตร์การใช้กองกำลังกึ่งทหาร

ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวในการประชุมหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีที่กรุงเบอร์ลินว่า มอสโกจะต้องเผชิญกับการตอบโต้แบบสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน “อย่างรวดเร็ว ... รุนแรงสาหัส” หากกองกำลังของพวกเขาข้ามเข้าไปในยูเครน

ด้านรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส พูดทางเครือข่ายทีวีเอ็นบีซีว่า “เราจะตีความการล่วงละเมิดใดๆ ต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน โดยรัสเซียและวลาดิมีร์ ปูติน ว่าเป็นพฤติการณ์ก้าวร้าวรุกราน และจะต้องเผชิญกับการตอบโต้ที่มีราคาแพง หนักหน่วงสาหัส และต้องเจออย่างแน่นอน”

ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า ทางกระทรวงเปิดไฟเขียวให้ ลิทัวเนีย แลตเวีย และเอสโทเนีย เรียบร้อยแล้วเรื่องการส่งขีปนาวุธและอาวุธอื่นๆ ที่ผลิตในอเมริกาไปให้ยูเครน โดยเอสโทเนียจะส่งขีปนาวุธต่อต้านรถถังเจฟลิน ขณะที่ลิทัวเนียได้รับอนุญาตให้ส่งขีปนาวุธสติงเกอร์ให้กรุงเคียฟ

ตะวันตกต่างจับตาสถานการณ์ด้วยความกังวลหลังจากที่รัสเซียส่งทหารกว่า 100,000 นายประชิดพรมแดนยูเครนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แถมล่าสุดยังเคลื่อนพลเข้าสู่เบลารุส ด้วยข้ออ้างว่า เพื่อร่วมซ้อมรบ แต่ความเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจเป็นการเพิ่มทางเลือกในการบุกยูเครนจากด้านเหนือ ตะวันออก และใต้

ไบเดน ย้ำมาตลอดว่า อเมริกาและพันธมิตรพร้อมทำให้รัสเซียและเศรษฐกิจรัสเซียหายนะ หากรุกรานยูเครน

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนผู้นำสหรัฐฯ จะเสนอวิธีผ่อนคลายสถานการณ์และบรรเทาความกังวลหลักของปูตินคือ การที่ยูเครนอาจร่วมเป็นสมาชิกนาโต และการที่ตะวันตกติดตั้งอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ในยูเครน นอกจากนั้น ไบเดนยังเปิดทางสำหรับการประชุมสุดยอดครั้งที่ 3 กับประมุขวังเครมลิน

ขณะเดียวกัน แม้เข้ายึดไครเมียและสนับสนุนกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่ควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่ในยูเครนตะวันออกมานาน 8 ปี แต่ตอนนี้รัสเซียยืนกรานว่า ไม่มีแผนบุกยูเครน

ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกเครมลิน โต้ว่า การที่ตะวันตกส่งอาวุธให้ยูเครนและโยกย้ายกำลังพล รวมทั้งปฏิบัติการการบินของนาโตคือสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์รอบๆ ยูเครนทวีความตึงเครียด

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น