ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียกรณีมอสโกส่งทหารประชิดพรมแดนยูเครนลุกลามสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ในวันจันทร์ (31 ม.ค.) โดยทูตทั้ง 2 ฝ่ายเปิดศึกปะทะคารมกันอย่างเผ็ดร้อน และต่างโทษว่าอีกฝ่ายเป็นตัวการ “ยั่วยุ” ให้สถานการณ์ตึงเครียด
การประชุมคราวนี้ถูกจัดขึ้นตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ซึ่งวิจารณ์ท่าทีของรัสเซียว่าเป็นการ “คุกคามสันติภาพและความมั่นคงในระดับนานาชาติ” แต่สุดท้ายแล้วที่ประชุม UNSC ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ต่อได้ เนื่องจากรัสเซียเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรที่ถือสิทธิ “วีโต” เช่นเดียวกับสหรัฐฯ จีน ฝรั่งเศส และอังกฤษ
“การคุกคามที่เกิดขึ้นบริเวณพรมแดนยูเครนถือเป็นพฤติกรรมยั่วยุ แต่การที่เราออกมาพูดถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ใช่การยั่วยุ” ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นกล่าวต่อที่ประชุมคณะมนตรีทั้ง 15 ประเทศ
“รัสเซียต่างหากที่เป็นฝ่ายยั่วยุ ไม่ใช่เราหรือชาติสมาชิกอื่นๆ ในคณะมนตรีแห่งนี้” เธอกล่าว
ทูตหญิงของอเมริกากล่าวหารัสเซียว่าส่งทหารกว่า 100,000 นายไปประชิดชายแดนยูเครนและเบลารุส เพื่อเตรียม “ปฏิบัติการเชิงรุก (offensive action) เข้าไปในยูเครน” และเธออ้างว่าวอชิงตัน “ได้เห็นหลักฐาน” ว่ามอสโกมีแผนจะส่งทหารอีก 30,000 นายเข้าไปในเบลารุสภายในต้นเดือน ก.พ.
วาสซิลีย์ เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซีย โต้กลับว่า สหรัฐฯ กล่าวอ้างโดย “ปราศจากหลักฐาน” ว่ารัสเซียมีแผนรุกรานยูเครน ทั้งๆ ที่มอสโกก็ปฏิเสธอย่างชัดเจนมาโดยตลอด
“เพื่อนร่วมงานชาวตะวันตกของเราเอ่ยถึงความจำเป็นที่จะต้องลดการเผชิญหน้า แต่พวกเขากลับเป็นฝ่ายกระพือความตึงเครียด และใช้ถ้อยคำยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าเสียเอง” เนเบนเซีย กล่าว
“การยกเรื่องสงครามมาพูดถือเป็นการยั่วยุอยู่แล้วโดยตัวของมันเอง พวกคุณแทบจะเรียกร้องหามันด้วยซ้ำ คุณต้องการให้มันเกิดขึ้น คุณรอคอยให้มันเกิดขึ้น ราวกับว่าคุณอยากจะให้สิ่งที่คุณพูดกลายเป็นความจริง”
เนเบนเซีย ย้ำว่า รัสเซีย “ไม่กลัว” ที่จะคุยเรื่องยูเครน แต่ไม่เข้าใจเหตุผลของการเรียกประชุมครั้งนี้ อีกทั้งไม่เคยประกาศยืนยันว่ามีการส่งทหารเข้าประจำการมากน้อยเท่าใด
ประเด็นคำถามหลักในการหารือครั้งนี้ก็คือ การที่รัสเซียส่งทหารเข้าประชิดยูเครนถือเป็น “ภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงนานาชาติ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ UNSC มีหน้าที่จะต้องธำรงรักษาไว้หรือไม่
จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น เตือนว่า “สิ่งจำเป็นมากที่สุดในเวลานี้คือการพูดคุยทางทูตแบบเงียบๆ (quiet diplomacy) ไม่ใช่การทูตแบบป่าวร้องใส่เครื่องขยายเสียง (megaphone diplomacy)” ขณะที่ทูตรัสเซียเองก็ย้ำว่า ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัสเซียคนไหนขู่จะรุกรานยูเครนซึ่งเป็นอดีตรัฐในสหภาพโซเวียต และชาวยูเครนกำลังถูกตะวันตก “ล้างสมอง” ให้มีความ “หวาดกลัวรัสเซีย” (Russiaphobia)
นิโกลาส์ เดอ ริวิแยร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำยูเอ็น ชี้ว่า การเสริมกำลังทหารของรัสเซียเข้าข่ายเป็นการ “คุกคาม” และหากรัสเซียปฏิเสธการเจรจา ไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ “ก็จะได้รับผลตอบสนองที่หนักหน่วงที่เป็นเอกภาพ”
“หากมีการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนยูเครน รัสเซียจะต้องเผชิญผลลัพธ์ที่ใหญ่หลวง และต้องจ่ายราคาแพง” ทูตเมืองน้ำหอมกล่าว
ด้าน เซียร์เก คีสลีตสยา เอกอัครราชทูตยูเครน ขอให้ทุกฝ่ายลดการเผชิญหน้า เพื่อนำไปสู่การรื้อฟื้นการเจรจายุติสงครามที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคดอนบาสส์ (Donbass) ทางตะวันออกของยูเครน
“ท่านประธานาธิบดีของผมกล่าวย้ำเมื่อเร็วๆ นี้ว่าพร้อมที่จะพบกับผู้นำรัสเซีย” คีสลีตสยา กล่าวต่อที่ประชุม UNSC
“หากรัสเซียมีคำถามที่อยากจะถามยูเครน ก็ขอให้มาเจอและพูดคุยกันดีกว่า อย่าส่งทหารมาตรึงชายแดนและข่มขู่ประชาชนชาวยูเครน สำหรับยูเครนแล้ว ภารกิจสำคัญที่สุดที่จะต้องทำให้สำเร็จก็คือ การบรรลุข้อตกหยุดยิงที่ยั่งยืนและปราศจากเงื่อนไขในดอนบาสส์”
รัสเซียเคยร้องขอการ “การันตีความมั่นคง” จากวอชิงตันหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือสัญญาที่ว่า จะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) โดยเด็ดขาด
ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี