xs
xsm
sm
md
lg

‘ปูติน’ฉับไวทำลายแผน‘ปฏิวัติสี’มุ่งเปลี่ยนระบอบปกครองใน‘คาซัคสถาน’ของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร


หน่วยทหารส่งกำลังทางอากาศของรัสเซีย ขึ้นเครื่องบินขนส่งทหาร ออกเดินทางจากสนามบินที่อยู่นอกกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 6 ม.ค. มุ่งหน้าสู่คาซัคสถาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (ซีเอสทีโอ)
Putin draws the line for colour revolutions
BY M.K. BHADRAKUMAR
12/01/2022

ถึงแม้สายตาเขม้นมองไปที่ความตึงเครียดทางด้านตะวันตกบริเวณชายแดนติดต่อกับยูเครน แต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ก็ไม่เผลอเรอ และตัดสินใจฉับไวในการส่งกองทหารเข้าไปช่วยเหลือคาซัคสถาน ในการปราบปรามความไม่สงบ ซึ่งเขามองว่าเป็น “การปฏิวัติสี” ภายใต้การบงการของซีไอเอ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของรัสเซีย

ด้วยการนำเอานายพลผู้เก่งกาจรอบด้าน ซึ่งมีเกียรติประวัติผ่านการสู้รบทั้งในแคว้นเชชเนีย, แหลมไครเมีย, และดินแดนดอนบาสส์ (Donbass ดินแดนด้านตะวันออกของยูเครน ซึ่งพวกแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซียเข้ายึดครองและพยายามต่อสู้เพื่อสถาปนาตนเองเป็นรัฐอิสระอยู่ในเวลานี้ -ผู้แปล) มาเป็นผู้บังคับบัญชากองทหาร ซีเอสทีโอ เป็นระยะเวลา 5 วันในคาซัคสถาน วังเครมลินก็สามารถประกาศข้อความสำคัญให้ฝ่ายตะวันตกได้รับรู้ด้วยความเจ็บแสบ นั่นคือ ‘ไม่มีการปฏิวัติสีใดๆ เกิดเพิ่มขึ้นมาได้อีกต่อไปแล้ว’

นี่จะต้องเป็นเรื่องซึ่งหาได้ยากเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์การทูตอเมริกันทีเดียว สำหรับการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯแสดงให้เห็นว่าอยู่ในอาการ “น็อตหลุด" การบันดาลโทสะของ แอนโทนี บลิงเคน เกี่ยวกับเหตุการณ์ในคาซัคสถาน ไม่เพียงแค่หยาบคายเท่านั้น หากยังไร้เหตุผลอีกด้วย

บลิงเคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของประธานาธิบดีคาซัคสถาน คัสซิม-โจมาร์ต เคเมเลวิช โตกาเยฟ (Kazakhstan Kassym-Jomart Kemelevich Tokayev) ในการร้องขอความช่วยเหลือจาก องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organisation หรือ CSTO) ให้จัดส่งกำลังทหารมาช่วยสร้างเสถียรภาพในประเทศของเขาซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์สาหัสร้ายแรง บลิงเคนบอกว่า มันไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมจึงต้องมีการจัดส่งกองทหารเช่นนี้!

มอสโกกล่าวย้ำกันตั้งแต่ตอนต้นๆ เลยว่า การส่งทหารเข้ามาของ ซีเอสทีโอ จะเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น กระนั้นก็ตามที บลิงเคนยังคงแขวะว่า “บทเรียนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในระยะไม่นานมานี้ก็คือว่า ทันทีที่ให้รัสเซียเข้ามาในบ้านคุณแล้ว บางครั้งก็เป็นเรื่องยากลำบากมากๆ ที่จะทำให้พวกเขาออกไป”

กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียออกมาประณามการแสดงความเห็นแบบดูถูกดูเหมิ่นของบลิงเคนนี้อย่างเดือดาล โดยระบุว่า บลิงเคนพูดเช่นนี้ “ตามแบบฉบับมารยาทอันหยาบคายของเขา” จากนั้นคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศแดนหมีขาวก็กล่าวต่อไปว่า “เมื่ออเมริกาเข้าไปในบ้านของคุณแล้ว มันก็อาจเป็นเรื่องยากลำบากที่คุณจะยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ และไม่ถูกปล้นชิงหรือถูกข่มขืน ทั้งนี้ ไม่ว่าชาวอินเดียนในทวีปอเมริกาเหนือ, ชาวเกาหลี, ชาวเวียดนาม, ชาวอิรัก, ชาวปานามา, ชาวยูโกสลาเวีย, ชาวลิเบีย, ชาวซีเรีย, และประชาชนผู้โชคร้ายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ผู้ซึ่งประสบเคราะห์หามยามซวยจริงๆ ที่ต้องเห็นแขกผู้ไม่ได้รับเชิญเหล่านี้เข้าไปใน “บ้าน” ของพวกเขา คนเหล่านี้แหละจะต้องมีอะไรมากมายเลยที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้”

ในวันอังคาร (11 ม.ค.) โตกาเยฟประกาศว่า กองทหารของ ซีเอสทีโอ ที่เข้ามาในประเทศเอเชียกลางซึ่งประสบความลำบากของเขาแห่งนี้ จะเริ่มถอนตัวออกไปภายในเวลา 2 วัน และจะถอนออกไปทั้งหมดจนเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 10 วัน! ขณะที่วังเครมลินตอบโต้ด้วยการแถลงว่า มันเป็นสิทธิของรัฐบาลคาซัคโดยสิ้นเชิงที่จะตัดสินใจในเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ!

บลิงเคนควรที่จะต้องทราบอยู่แล้วว่า ภายหลังการฆาตกรรมโหด โซเลมานี (Soleimani) นายพลชาวอิหร่าน ด้วยการที่สหรัฐฯใช้โดรนเข้าโจมตีในกรุงแบกแดดเมื่อ 2 ปีก่อน รัฐสภาอิรักได้มีมติเรียกร้องให้กองทหารอเมริกันถอนออกไปให้หมดสิ้นในทันที ทว่าจวบจนถึงขณะนี้ฝ่ายอเมริกันก็ยังทำเพิกเฉยไม่สนใจกับเรื่องนี้!

กระนั้น บลิงเคนคือคนที่เฉลียวฉลาดคนหนึ่ง เมื่อนำสิ่งต่างๆ ทั้งหมดมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ก็มองเห็นได้ว่าเขายินยอมแสดงพฤติการณ์แห่งความเสแสร้งอย่างตั้งใจ ด้วยการเอ่ยปากพูดสิ่งซึ่งไม่มีเหตุมีผลออกมา โดยที่แท้จริงแล้วบลิงเคนกำลังสาละวนมุ่งปกปิดอำพรางร่อยรอยต่างๆ ของความพยายามในการแปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในคาซัคสถาน ตามการวางแผนและการบงการของซีไอเอ ด้วยการอนุมัติเห็นชอบของประธานาธิบดีไบเดน

นี่ไม่ใช่เป็นกโลบายที่แสนคุ้นเคยสำหรับพวกคนเจ้าเล่ห์ทั้งหลายหรอกหรือ –นั่นคือเบี่ยงเบนความสนใจออกไปจากสิ่งที่เป็นประเด็นแกนกลาง ด้วยการทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายขึ้นมาในอากาศจนกระทั่งภาพมัวซัวไปหมด? สำหรับในกรณีที่น่าสังเวชนี้ ความพยายามที่ล้มเหลวของคณะบริหารไบเดนในการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในประเทศซึ่งห่างไกลแต่ตั้งอยู่ในตำแหน่งทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์โดยถูกกระหนาบอยู่ระหว่างรัสเซียกับจีน (และดังนั้นจึงทำให้คาซัคสถานมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ยิ่งกว่ายูเครนมากมายหลายเท่านัก) กำลังเปิดโปงการดำเนินการทางการทูตของอเมริกัน ให้เป็นที่หัวเราะเยาะกันสนั่นในภูมิภาคอันกว้างใหญ่ของดินแดนเอเชียตอนใน แล้วมันยังกลายเป็นการขัดขวางแผนการที่จัดวางเอาไว้อย่างเลิศล้ำใดๆ ก็ตามขององค์การนาโต้ ในการบุกขยายอาณาเขตข้ามทะเลแคสเปียน

อย่างไรก็ดี จุดที่เลวร้ายที่สุดจากเรื่องนี้ก็คือ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ในเมื่อเวลานี้จะมีส่วนเสี้ยวพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่โตทีเดียว (หมายถึงประเทศคาซัคสถาน ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก -ผู้แปล) ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของจีน ที่กลายเป็นอาณาบริเวณซึ่งสหรัฐฯไม่สามารถนำมาใช้เพื่อการปิดล้อมแดนมังกรได้เสียแล้ว หลังจากที่อเมริกันต้องสูญเสียอิทธิพลไปอย่างมโหฬารขนาดนี้ ขณะที่รัสเซียสามารถบรรลุผลที่ว่ามาเหล่านี้ได้ทั้งหมดโดยต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ต่ำแสนต่ำ –นั่นคือ การดำเนินภารกิจทางการทหารในคาซัคสถานที่ใช้เวลากันจริงๆ เป็นเวลา 5 วัน

วังเครมลินนั้นสงบปากสงบคำไม่ค่อยเปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเองรู้ แต่จากรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมาในคาซัคสถานคือความพยายามในการก่อ “การปฏิวัติสี” (colour revolution) ซึ่งประสบความล้มเหลว โดยที่ “กองกำลังมุ่งทำลายล้างทั้งที่อยู่ภายในและภายนอก (คาซัคสถาน) พยายามฉวยใช้หาประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” อย่างที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน พูดออกมา

ขณะที่ ทางด้าน อนาโตลี อันโตคนอฟ (Anatoly Antonov) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ เขียนเอาไว้อย่างตรงไปตรงมามากกว่า บนเว็บเพจของสถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย เมื่อเขาระบุว่ามีนักรบญิฮาดจำนวนหลายพันคนเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในความพยายามที่จะก่อความวิบัติเสียหายขึ้นในคาซัคสถาน

เขายังเขียนด้วยว่า “คาซัคสถานถูกโจมตีโดยพวกหัวรุนแรงผู้เที่ยวเทศนาสั่งสอนอุดมการณ์แนวความคิดซึ่งมุ่งทำให้เกลียดชังคนอื่น นักรบญิฮาดและพวกฉกชิงปล้นสะดมจำนวนหลายพันคนใช้ความพยายามในการฉีกทำลายระเบียบปกครองตามรัฐธรรมนูญ ... นี่คือความพยายามครั้งใหม่ในการก่อการปฏิวัติสี โดยอาศัยความช่วยเหลือของพวกมีปืนเป็นอาวุธและพวกฉกชิงปล้นสะดม”

เมื่อเขาไปให้สัมภาษณ์กับสื่อนิวสวีก (Newsweek) เอกอัครราชทูตอันโตนอฟกล่าวเพิ่มเติมว่า “มีความวิตกกังวลกันอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับเรื่องที่ความคิดอุดมการณ์ทางศาสนาแบบหัวรุนแรง จะแพร่กระจายออกไปอีกในเอเชียกลาง มันมาจากภาวะไร้เสถียรภาพในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถานนั่นแหละเป็นต้นเหตุ ซึ่งเมื่อสาวต่อไปอีก ก็คือมันเนื่องมาจากการที่ฝ่ายตะวันตกเข้าแทรกแซงทางการทหาร (ในตะวันออกกลาง เช่น อิรัก และในอัฟกานิสถาน -ผู้แปล) โดยใช้ข้ออ้างบังหน้าว่ากำลังพิทักษ์ปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

พันธมิตรผู้ใกล้ชิดของวังเครมลิน 2 ราย ได้แก่ ประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูชิช (Aleksandar Vucic) แห่งเซอร์เบีย และประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก (Alexander Lukashenko) แห่งเบลารุส ต่างออกมากล่าวหาอย่างเปิดเผยว่า “พวกองค์การข่าวกรองต่างชาติของกองกำลังสำคัญหลายๆ แห่ง ได้แทรกแซง” เข้าไปในคาซัคสถาน

สำหรับกระทรวงการต่างประเทศคาซัค ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (10 ม.ค.) ว่า ประเทศของตน “ตกเป็นเหยื่อของความก้าวร้าวรุกรานด้วยกำลังอาวุธ โดยฝีมือพวกกลุ่มผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับการฝึกอบรมจากต่างแดนและมีการประสานงานร่วมมือกันเป็นอย่างดี ตามข้อมูลเบื้องต้นที่รวบรวมได้ ผู้เข้าโจมตีเหล่านี้มีทั้งบุคคลบางคนซึ่งผ่านประสบการณ์การสู้รบแบบทหารในฐานะเป็นพลพรรคของกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรงกลุ่มต่างๆ”

ขณะที่ตัวประธานาธิบดีโตกาเยฟเอง พูดถึง “พฤติการณ์ก้าวร้าวรุกรานคาซัคสถานที่มีการจัดองค์กรกันอย่างดีและมีการเตรียมการกันมาเป็นอย่างดี โดยที่มีนักรบต่างชาติเข้าร่วมด้วย ซึ่งส่วนสำคัญมาจากเหล่าประเทศในเอเชียกลาง รวมทั้งอัฟกานิสถานด้วย นอกจากนั้นยังมีนักรบจากตะวันออกกลาง ความคิดของพวกนี้ก็คือการจัดตั้งพื้นที่แห่งการปั่นป่วนวุ่นวายซึ่งสามารถควบคุมขีดวงได้ ขึ้นมาในดินแดนของเรา โดยที่ติดตามมาด้วยการเข้ายึดอำนาจ”

ทางด้าน ปูตินได้เปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในคาซัคสถาน กับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในยูเครนเมื่อปี 2014 ที่อุปถัมภ์โดยสหรัฐฯ โดยที่พวกเส้นสายนักปั่นป่วนยุยงของสหรัฐฯได้ทำให้กองกำลังความมั่นคงของยูเครนในตอนนั้นเกิดการเสียขวัญหมดกำลังใจ บังคับให้ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช (Vikor Yanukovich) ต้องหลบหนี และส่งผลให้ยูเครนเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ และพวกนักการทูตสหรัฐฯก็เร่งรีบดันเอาระบอบปกครองหุ่นเชิดที่ไม่เป็นมิตรกับมอสโก ขึ้นสู่อำนาจ

มีพวกนักรบหัวรุนแรงต่างชาติเข้าร่วมในการก่อจลาจลในคาซัคสถาน โตกาเยฟยืนยันเช่นนี้ระหว่างพูดสนทนากับ ชาร์ลส์ มิเชล (Charles Michel) ประธานของคณะมนตรียุโรป (European Council องค์กรของบรรดาผู้นำรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป) ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อวันจันทร์ (10 ม.ค.) และ “ผมไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่า นี่เป็นการโจมตีแบบก่อการร้ายแน่ๆ” สื่อรายงานข่าวโดยอ้างอิงว่าเป็นคำพูดของโตกาเยฟ

“นี่เป็นพฤติการณ์ก้าวร้าวรุกรานด้วยกำลังอาวุธต่อคาซัคสถานที่มีการจัดองค์กรกันอย่างดีและมีการเตรียมการกันมาเป็นอย่างดี โดยที่มีนักรบต่างชาติเข้าร่วมด้วย ส่วนใหญ่มาจากเหล่าประเทศในเอเชียกลาง รวมทั้งอัฟกานิสถาน นอกจากนั้นยังมีนักรบจากตะวันออกกลาง” โตกาเยฟ บอก “เจตนาของพวกเขาคือการสร้างพื้นที่แห่งการปั่นป่วนวุ่นวายซึ่งสามารถควบคุมขีดวงได้ ขึ้นมาในดินแดนของเรา โดยที่ติดตามมาด้วยการเข้ายึดอำนาจ” เขากล่าวต่อ

พลโท อันเดรย์ เซียร์ดีอูคอฟ ผู้บัญชาการเหล่าทหารส่งกำลังทางอากาศของรัสเซีย คือผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของ ซีเอสทีโอ ในคาซัคสถาน คราวนี้
ทั้งนี้ คาซัคสถานรายงานว่า มีบุคลากรด้านความมั่นคงถูกฆ่าตายไป 16 คน และอีกกว่า 1,300 คนได้รับบาดเจ็บ ขณะที่รถตำรวจราว 500 คันถูกเผา นอกจากนั้นยังมีการโจมตีแบบพุ่งเป้าเจาะจงต่อพวกอาคารที่ทำการของรัฐบาลในเมืองใหญ่หลายๆ แห่งพร้อมๆ กันอีกด้วย

ขณะเดียวกัน พวกทฤษฎีสมคบคิดก็ถูกตอกไข่ระบายสีเสนอกันออกมาเต็มไปหมด ในบางความเชื่อนั้นระบุถึงการเกี่ยวข้องพัวพันของตุรกีและอิสราเอล ขณะที่คาซัคสถานได้สั่งปิดจุดข้ามแดนที่ติดต่อกับคีร์กิซสถานไป 5 แห่งจากจำนวนทั้งสิ้น 7 แห่ง เรื่องที่พูดลือกันแบบสนั่นเมืองก็คือว่า พวกข่าวกรองฝ่ายตะวันตกได้ลำเลียงเอาบรรดานักรบอิสลามิสต์ชาญศึกจากซีเรียมายังคีร์กิซสถาน เพื่อแทรกซึมผ่านชายแดนที่เต็มไปด้วยรูโหว่เข้าสู่ดินแดนคาซัค

ทางการบิชเคก (เมืองหลวงของคีร์กิซสถาน) ทั้งรู้สึกละอายใจและรู้สึกผิด จนกระทั่งประธานาธิบดีซาดีร์ จาปารอฟ (Sadyr Japarov) ไม่ได้โผล่หน้าให้เห็น ณ การประชุมระดับผู้นำขององค์การซีเอสทีโอ ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อ 2 วันก่อน โดยที่มีนายกรัฐมนตรีของเขาออกมาเป็นตัวแทน

รายละเอียดต่างๆ เพิ่มมากกว่านี้แน่นอนทีเดียวว่าจะปรากฏออกมาอีก เป็นที่ทราบกันว่าในจำนวนผู้ที่ถูกทางการคาซัคควบคุมตัวเอาไว้ 2-3 พันคนนั้น มีผู้ที่ถือสัญชาติต่างประเทศรวมอย่ด้วย ขณะที่มีองค์กรที่อยู่นอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) จำนวนประมาณ 16,000 แห่งดำเนินงานอยู่ในคาซัคสถาน โดยหลายๆ แห่งเป็นที่ทราบกันดีว่าได้รับเงินทุนสนับสนุนจากพวกองค์การสหรัฐฯ อย่างเช่น กองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National Endowment for Democracy) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน และให้เงินทุนสนับสนุนโปรเจ็กต์เปลี่ยนแปลงระบอบปกครองหลายๆ โครงการในบรรดาประเทศที่เคยเป็นสาธารณรัฐในสหภาพโซเวียตมาก่อน

สหรัฐฯนั้นสร้างเครือข่ายเอาไว้อย่างกว้างขวางในหมู่นักชาตินิยมชาติพันธุ์คาซัค, กลุ่มโปรตะวันตกในคาซัค, และพวกเยาวชนชาวคาซัค ทั้งนี้ “ชาวคาซัครุ่นใหม่” ซึ่งเป็นพวกที่ได้รับการศึกษาในอเมริกา กลายเป็นเผ่าพันธุ์ซึ่งแตกต่างออกไปอย่างมหาศาลกับคนรุ่น “ที่ถูกทำให้กลายเป็นรัสเซีย” (Russified) ในยุคโซเวียต

คาซัคสถานถือเป็นถ้วยรางวัลที่อยากได้กันใจจะขาดของพวกนักรบสงครามเย็น เนื่องจากคาซัคสถานมีพรมแดนติดต่อกับซินเจียง รวมทั้งเป็นฮับการคมนาคมขนส่งสำหรับพวกโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่มุ่งไปทางตะวันตกของปักกิ่ง ปักกิ่งนั้นมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมหึมาทั้งในด้านการค้า, การลงทุน, และความร่วมมือทางด้านพลังงานกับคาซัคสถาน

สำหรับมอสโกก็เช่นกัน เสถียรภาพของคาซัคสถานเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญยิ่งยวดกับชาวชาติพันธุ์รัสเซียจำนวน 3.5 ล้านคนซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในประเทศนี้ ยิ่งไปกว่านั้น รัสเซียยังมีทรัพย์สินทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์อยู่ที่นี่ เป็นต้นว่า ศูนย์อวกาศไบโคนอร์ คอสโมโดรม (Baikonur Cosmodrome) และ พื้นที่ทดสอบ ซารี ชากัน สำหรับขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป (Sary Shagan testing range for ICBMs) ขณะที่พื้นที่กว้างใหญ่แต่มีประชากรพำนักกันอย่างกระจัดกระจายของคาซัคสถาน ทำให้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นเส้นทางการแทรกซึมสำหรับพวกผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ

คำพูดแบบยั่วยุของบลิงเคนเกี่ยวกับ ซีเอสทีโอ และรัสเซีย เป็นการเบี่ยงเบนสปอตไลน์ให้หันเหออกไปจากความพยายามก่อปฏิวัติสี กระนั้นก็ตาม พวกเกลียดชังรัสเซียในคณะบริหารไบเดนก็กำลังต้องยุติปิดฉากในฐานะที่เป็นผู้แพ้

พวกเขาฝันเฟื่องว่า ขณะที่สายตาของมอสโกยังคงเฝ้าจับจ้องเขม็งอยู่ที่พรมแดนด้านตะวันตกของรัสเซีย (พรมแดนติดต่อกับยูเครน -ผู้แปล) พวกเขาอาจสามารถสร้างเรื่องใหญ่ที่ปิดฉากลงได้อย่างรวดเร็วจนเกินกว่าที่รัสเซียจะไหวตัวทัน ตามแนวชายแดนเปิดกว้างความยาว 7,600 กิโลเมตรทางด้านใต้ของแดนหมีขาว ทั้งนี้พวกเขาไม่ได้นึกเอะใจเลยว่าปูตินจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้อย่างว่องไวและเด็ดขาดเช่นนี้

ด้วยการนำเอานายพลผู้เก่งกาจรอบด้าน ซึ่งมีเกียรติประวัติผ่านการสู้รบทั้งในแคว้นเชชเนีย, แหลมไครเมีย, และดินแดนดอนบาสส์ (Donbass ดินแดนด้านตะวันออกของยูเครน ซึ่งพวกแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซียเข้ายึดครองและพยายามต่อสู้เพื่อสถาปนาตนเองเป็นรัฐอิสระอยู่ในเวลานี้ -ผู้แปล) มาเป็นผู้บังคับบัญชากองทหาร ซีเอสทีโอ เป็นระยะเวลา 5 วันในคาซัคสถาน วังเครมลินก็สามารถประกาศข้อความสำคัญให้ฝ่ายตะวันตกได้รับรู้ด้วยความเจ็บแสบ นั่นคือ ‘ไม่มีการปฏิวัติสีใดๆ เกิดเพิ่มขึ้นมาได้อีกต่อไปแล้ว’

เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/putin-draws-the-line-for-colour-revolutions/
กำลังโหลดความคิดเห็น