สหรัฐฯ จะส่งทหารเพิ่มเติมอีกเกือบ 3,000 นายเข้าไปยังโปแลนด์และโรมาเนีย เพื่อปกป้องยุโรปตะวันออก จากความเป็นไปได้ที่วิกฤตอาจลุกลาม จากกรณีที่รัสเซียระดมกำลังหลายแสนนายใกล้ชายแดนยูเครน ตามการเปิดเผยของบรรดาเจ้าหน้าที่ของอเมริกาในวันพุธ (2 ก.พ.)
รัสเซียยืนกรานปฏิเสธว่าไม่มีแผนรุกรานยูเครน แต่ในวันพุธ (2 ก.พ.) ส่งสัญญาณว่าพวกเขาไม่อยู่ในอารมณ์แห่งการประนีประนอม ด้วยการเยาะเย้ยสหราชอาณาจักร เรียกนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน "สับสนสุดขั้ว" และกล่าวหาบรรดานักการเมืองสหราชอาณาจักร "โง่เขลา"
มอสโกประจำการทหารใกล้ชายแดนยูเครนมากกว่า 100,000 นาย และบอกว่าอาจใช้มาตรการทางทหารที่ไม่เจาะจง หากข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ได้รับการตอบสนอง ในนั้นรวมถึงคำสัญญาจากนาโต้ว่าจะไม่รับเคียฟเข้าเป็นสมาชิกไปตลอดกาล
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยว่ากองพันยานเกราะหนึ่ง มีกำลังพลประมาณ 1,000 นาย ซึ่งประจำการอยู่ในเมืองวิลเซค ประเทศเยอรมนี จะถูกส่งไปยังโรมาเนีย ส่วนกำลังพลอีกประมาณ 1,000 นาย ส่วนใหญ่มาจากหน่วยพลร่มที่ 82 จะถูกส่งตัวจากฐานทัพฟอร์ตแบรกก์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ไปยังโปแลนด์ ขณะที่กำลังพลอีก 300 นายจากฐานทัพฟอร์ตแบรกก์ จะถกส่งไปยังเยอรมนี
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า การประจำการครั้งนี้สอดคล้องกับสิ่งที่เขาเคยบอกกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ไปว่า "ตราบใดที่เขายังคงมีพฤติกรรมกาวร้าว เราจะทำให้แน่ใจว่าเราสามารถรับประกันกับพันธมิตรนาโต้และยุโรปตะวันออกว่าเราอยู่ที่นั่นแล้ว"
จอห์น เคอร์บี โฆษกของเพนตากอน ระบุว่าวัตถุประสงค์ของการส่งทหารในครั้งนี้ คือการ "ส่งสัญญาณที่หนักแน่นถึงปูติน และตรงไปตรงมากับทั่วโลก ว่าประเด็นของนาโต้สำคัญกับสหรัฐฯ และมันสำคัญกับพันธมิตรของเรา"
มาริอุสซ์ บลัชตัก รัฐมนตรีกลาโหมโปแลนด์ ระบุว่า การเข้าประจำการของทหารสหรัฐฯ คือสัญญาณอันหนักแน่นของความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน ส่วน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ก็ยินดีกับความเคลื่อนไหวนี้ โดยบอกว่าแนวทางการตอบโต้ของพันธมิตรที่มีต่อรัสเซีย คือป้องกันตนเองอย่างสมเหตุสมผล
ความพยายามบรรลุทางออกด้านการทูตดูเหมือนประสบอุปสรรค โดยบรรดาประเทศตะวันตกโวยวายข้อเรียกร้องหลักของรัสเซีย ว่าจบลงตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นเจรจาด้วยซ้ำ ส่วนมอสโกเองก็ไม่แสดงท่าทีใดๆ ว่าจะถอนข้อเรียกร้องดังกล่าว
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เผยว่าเขาจะหารือเกี่ยวกับวิกฤตดังกล่าว กับ ไบเดน ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า และบางทีเขาอาจเดินทางไปยังรัสเซีย เพื่อพบปะกับ ปูติน "เป้าหมายหลักคือหลีกเลี่ยงโหมกระพือความตึงเครียด" มาครงกล่าว ส่วน โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเผยว่าเขาจะพูดคุยกับ ปูติน ในกรุงมอสโก เร็วๆ นี้ แต่ไม่ได้ให้วันเวลาที่แน่ชัด
เครมลินเผยว่าปูตินได้บอกกับจอห์นสันไปว่านาโต้ไม่ตอบสนองต่อความกังวลด้านความปลอดภัยของรัสเซียอย่างเพียงพอ ส่วนทำเนียบนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เผยว่าจอห์นสัน ได้บอกกับปูตินกลับไปว่าการรุกรานใดๆ จะเป็นการ "คำนวณพลาดครั้งหายนะ" และพวกเขาต่างเห็นพ้องในการใช้จิตวิญญาณแห่งการทูตคลี่คลายความตึงเครียด
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคาร (1 ก.พ.) จอห์นสันกล่าวหารัสเซียเอาปืนจ่อศีรษะของยูเครน คำพูดที่เรียกเสียงตอบโต้เหน็บแนมจาก ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของวังเครมลิน ก่อนหน้าที่ปูตินจะพูดคุยทางโทรศัพท์กับจอห์นสัน "รัสเซียและประธานาธิบดีปูติน เปิดกว้างติดต่อสื่อสารกับทุกคน ทุกคนแม้กระทั่งบางคนที่สับสนสุดขั้ว
ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า สหราชอาณาจักร "กำลังจัดหาและเสนอมอบการสนับสนุนเพิ่มเติมแก่เหล่าพันธมิตรบอลติกของเราข้ามทะเลดำ (ซึ่งในข้อเท็จจริงคือมันอยู่คนละฟากฝั่งของยุโรป) เช่นเดียวกับจัดหาอาวุธป้องกันตนเองแก่ยูเครน"
ในเรื่องนี้ มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาเย้นหยันว่า "นางทรัสส์ ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของคุณเทียบไม่ได้เลยกับความรู้ทางภูมิศาสตร์" ชาคาโรวาเขียนบนทวิตเตอร์ "หากใครต้องการปกป้องโลกจากอะไรบางอย่าง บางทีควรเป็นการปกป้องจากนักการเมืองสหราชอาณาจักรที่โง่เขลาและเบาปัญหา"
ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน ปูตินได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะในวิกฤตยูเครนเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ โดยบ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังถูกบีบให้ต้องปกป้องตนเองจากการรุกรานของสหรัฐฯ
วอชิงตันเคยบอกว่าพวกเขาจะไม่ส่งทหารเข้าไปยังยูเครนด้วยตนเอง เพื่อปกป้องยูเครนจากการถูกรัสเซียโจมตี แต่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อมอสโกและส่งอาวุธเข้าช่วยชาวยูเครนปกป้องตนเองแทน
รัสเซียยังคงเป็นผู้ป้อนพลังงานรายใหญ่ของยุโรป แม้ถูกสหรัฐฯ และอียูคว่ำบาตรมาตั้งแต่ที่พวกเขาผนวกไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปี 2014 ขณะที่พวกเขายักไหล่ใส่มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม โดยบอกว่ามันเป็นเพียงแค่คำขู่ที่ว่างเปล่า
วอชิงตันและพันธมิตรปฏิเสธ 2 ข้อเรียกร้องหลักของรัสเซีย นั่นคือห้ามยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ไปตลอดกาล และขอให้นาโต้ถอนกำลังทหารออกจากบรรดาประเทศยุโรปตะวันออกที่เข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ ตั้งแต่ช่วงหลังสิ้นสุดสงครามเย็น
(ที่มา : รอยเตอร์)