ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอนแลนติกเหนือ (นาโต) ต่อกรณียูเครนยังคงร้อนระอุ และมีความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตากันแบบวันต่อวัน โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนในสัปดาห์นี้ว่า อาจจะพิจารณาคว่ำบาตรประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน โดยตรงหากรัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครน ขณะที่ชาติตะวันตกเริ่มส่งสัญญาณเตรียมความพร้อมทางทหาร และวางแผนรับมือวิกฤตพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นกับยุโรป ในกรณีที่ความขัดแย้งครั้งนี้ลุกลามจนถึงขั้นเกิดสงคราม
คำขู่คว่ำบาตรที่ไม่เห็นได้บ่อยนักนี้เกิดขึ้นในขณะที่นาโตสั่งกองกำลังให้เตรียมพร้อม และเสริมกำลังในยุโรปตะวันออกด้วยการส่งกองเรือและเครื่องบินขับไล่เข้าประจำการเพิ่มเติม โดยเป็นการตอบโต้รัสเซียที่เสริมกำลังทหารหลายแสนนายตามแนวชายแดนติดกับยูเครน
รัสเซียยืนกรานว่า ไม่ได้มีแผนโจมตียูเครน พร้อมโทษว่าความตึงเครียดทั้งหมดเกิดจากพฤติกรรมของนาโต และสหรัฐอเมริกา
รัสเซียได้ยื่นเงื่อนไขขอคำรับประกันด้านความมั่นคงจากตะวันตก ซึ่งรวมถึงคำสัญญาจากนาโตว่าจะไม่รับยูเครนเข้าเป็นรัฐสมาชิก เนื่องจากมอสโกถือว่าอดีตรัฐในสหภาพโซเวียตแห่งนี้เป็น “รัฐกันชน” ระหว่างรัสเซียกับกลุ่มสมาชิกนาโต
ภายหลังจากที่สหรัฐฯ และรัสเซียพูดคุยกันหลายรอบ แต่ก็จบลงด้วยความล้มเหลวไม่สามารถผ่าทางตันใดๆ ประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งพยายามเตือนมอสโกมานานให้ระวังผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ล่าสุด ยกระดับคำขู่หนักขึ้นในวันอังคาร (25 ม.ค.) โดยบอกว่าสหรัฐฯ อาจจะใช้มาตรการคว่ำบาตรกับตัวผู้นำหมีขาวโดยตรง
ไบเดน กล่าวว่า หากรัสเซียยกพลบุกยูเครนด้วยทหารจำนวน 100,000 นายที่ตรึงกำลังประชิดยูเครนอยู่ในขณะนี้ มันจะกลายเป็น “การรุกรานครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2” และ "จะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ"
ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามกับ ไบเดน ว่า เขาพร้อมหรือไม่ที่จะสั่งคว่ำบาตร ปูติน โดยตรงหากว่ารัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่ง ไบเดน ก็ตอบว่า "ใช่... ผมต้องพิจารณาเรื่องนั้นแน่"
แม้สหรัฐฯ จะแทบไม่เคยใช้วิธีคว่ำบาตรผู้นำต่างชาติโดยตรง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างเช่นกรณีของ นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา บาชาร์ อัล อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย และมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย ซึ่งล้วนแต่ถูกอเมริกาคว่ำบาตรมาแล้วทั้งสิ้น
มีรายงานว่า เครื่องบินของสหรัฐฯ ลำหนึ่งได้บรรทุกยุทโธปกรณ์ทางทหารและเครื่องกระสุนไปลงจอดที่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เมื่อวันอังคาร (25) ซึ่งถือเป็นอาวุธล็อตที่ 3 จากแพกเกจช่วยเหลือมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ที่วอชิงตันมอบให้ เพื่อยกระดับศักยภาพการป้องกันตนเองของยูเครน
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้สั่งให้ทหาร 8,500 นายในยุโรปและอเมริกาเตรียมพร้อมเข้าประจำการในรัฐสมาชิกฝั่งตะวันออกของนาโตหากมีความจำเป็น ขณะที่ ไบเดน ยอมรับว่าอาจจะสั่งเคลื่อนกำลังพลเหล่านั้นในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะสหรัฐฯ จะส่งทหารเข้าไปยังยูเครนแต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากยูเครนไม่ใช่รัฐสมาชิกนาโต
“จะไม่มีทหารอเมริกันถูกส่งเข้าไปในยูเครน” ไบเดน ระบุ
ปัจจุบันนาโตมีทหารราว 4,000 นายอยู่ในกองพันนานาชาติซึ่งประจำการในเอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลัตเวีย และโปแลนด์ และยังมีกองรถถัง ระบบป้องกันภัยทางอากาศ หน่วยข่าวกรอง และหน่วยสอดแนมคอยเป็นกำลังเสริมด้วย
ในขณะที่ผู้นำชาติตะวันตกเรียกร้องความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ก็ยังปรากฏสัญญาณความแตกแยกในกลุ่มประเทศยุโรปเกี่ยวกับแนวทางตอบโต้รัสเซีย โดยจะเห็นได้ว่า ปูติน ยังมีกำหนดพบปะกับเหล่าประธานบริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งใน “อิตาลี” ซึ่งเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 5 ของรัสเซียในวันพุธ (26) แม้สถานการณ์จะอยู่ในภาวะตึงเครียดหนักก็ตามที
นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษยอมรับว่ากำลังหารือกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะแบนรัสเซียออกจากเครือข่ายชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT ขณะที่ประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ระบุว่า เขาจะแสวงหาความชัดเจนเกี่ยวกับเจตนาของรัสเซีย ระหว่างที่คุยโทรศัพท์กับ ปูติน ในวันศุกร์ที่ 28 ม.ค. ขณะที่บรรดาที่ปรึกษาทางการเมืองจากรัสเซีย ยูเครน เยอรมนี และฝรั่งเศส มีกำหนดหารือกันที่กรุงปารีสในวันพุธ (26)
ชาร์ลส มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ได้ออกมากล่าวแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันยูเครนในวันพุธ (26) โดยระบุว่า ภัยคุกคามที่รัสเซียมีต่อยูเครนนั้นถือเป็น “ภัยคุกคามต่อยุโรป” ด้วยเช่นกัน
ด้วยความหวั่นวิตกว่ารัสเซียจะเปิดฉากจู่โจมรอบใหม่ หลังจากที่เคยรุกรานผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนมาแล้วเมื่อปี 2014 ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนได้ออกมาเรียกร้องเมื่อวันอังคาร (25) ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ พร้อมเผยว่ากำลังเร่งประสานงานเพื่อให้เกิดการเจรจาระหว่างตนเองกับผู้นำรัสเซีย เยอรมนี และฝรั่งเศส
เซียร์เก คอร์ซันสกี เอกอัครราชทูตยูเครนประจำญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ในวันพุธ (26) ว่า รัฐบาลยูเครนมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหากับรัสเซียด้วยวิธีทางการทูต และตนเชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามเต็มรูปแบบ “มีน้อยมาก”
อย่างไรก็ตาม ทูตผู้นี้เตือนว่าการโจมตียูเครนซึ่งเป็นประเทศที่มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่มากกว่า 10 แห่ง จะนำมาซึ่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อยุโรปทั้งภูมิภาค
ในส่วนของสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล ไบเดน เปิดเผยว่า สหรัฐฯ กำลังพูดคุยกับบรรดาประเทศผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่และบริษัทต่างๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผันอุปทานเชื้อเพลิงเข้ามาสู่ยุโรป ในกรณีที่รัสเซียเปิดศึกรุกรานยูเครน
อียูนั้นพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากถึง 1 ใน 3 ของอุปทานก๊าซธรรมชาติทั้งหมด และหากเกิดปัญหาติดขัดใดๆ ในการนำเข้าจากรัสเซียก็จะยิ่งซ้ำเติมวิกฤตขาดแคลนพลังงานให้รุนแรงขึ้นอีก
"เรากำลังมองหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมที่ไม่ใช่รัสเซีย เช่น แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง เอเชีย รวมถึงในสหรัฐฯ" เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ระบุ
คีตา โคปีนาถ รองผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาย้ำเตือนว่า หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและนาโตทวีความรุนแรงมากไปกว่านี้จะยิ่งทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับต้นทุนราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และยังกระพือวิกฤตเงินเฟ้อด้วย
- เหตุใดรัสเซียจึงต้อง ‘ขีดเส้นแดง’ เรื่องยูเครน
นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง นาโตก็เริ่มขยายอิทธิพลไปทางฝั่งตะวันออกอย่างต่อเนื่อง จนรวบรวมรัฐสมาชิกใหม่ได้อีก 14 ประเทศ ในจำนวนนี้รวมถึงรัฐที่เคยเป็นภาคีสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) และ 3 ชาติริมทะเลบอลติกที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียตมาก่อน รัสเซียมองว่าความเคลื่อนไหวนี้เป็นอันตรายที่คืบคลานเข้าใกล้ตนมากขึ้นทุกที และกล่าวหาว่าตะวันตกทรยศหักหลัง-ละเมิดสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยืนกรานปฏิเสธ
ยูเครนแม้ไม่ใช้สมาชิกนาโต แต่เคยได้รับคำมั่นสัญญาเมื่อปี 2008 ว่าจะได้รับโอกาสเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรในสักวันหนึ่ง
หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งมีจุดยืนโปรรัสเซียถูกโค่นล้มโดยการปฏิวัติประชาชนเมื่อปี 2014 ยูเครนก็เริ่มเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการซ้อมรบร่วมกับนาโต และรับมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เช่น ขีปนาวุธต่อต้านรถถังจากสหรัฐฯ และโดรนจากตุรกี เป็นต้น
เคียฟและวอชิงตันอ้างว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำ “โดยชอบ” เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการป้องกันตนเองของยูเครน หลังจากที่รัสเซียเข้ามายึดแหลมไครเมียไปเมื่อปี 2014 และยังสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออกให้จับอาวุธสู้กับทหารฝ่ายรัฐบาล
ปูติน ระบุว่า ความสัมพันธ์ยูเครน-นาโตที่นับวันก็จะยิ่งใกล้ชิดอาจเปิดทางให้นาโตใช้ยูเครนเป็นจุดประจำการขีปนาวุธที่สามารถโจมตีรัสเซียได้ ดังนั้น รัสเซียจึงจำเป็นจะต้อง “ขีดเส้นแดง” เพื่อไม่ให้สถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น
ในแง่ของภูมิศาสตร์และทรัพยากร ยูเครนถือเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของยุโรปรองจากรัสเซีย มีเมืองท่าสำคัญหลายแห่งตั้งอยู่ริมทะเลดำ และยังแชร์พรมแดนกับรัฐสมาชิกนาโตหลายประเทศ
ยูเครนยังเป็นทางผ่านของหนึ่งในท่อส่งก๊าซหลักจากรัสเซียไปยังยุโรป ดังนั้น การควบคุมดินแดนยูเครนได้ย่อมจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้แก่รัสเซีย และยังทำให้มอสโกมีอำนาจต่อรองกับตะวันตกมากขึ้นอีก
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่ารัสเซียคงไม่ถึงขั้นพยายามบุกยึดดินแดนส่วนใหญ่ของยูเครน เนื่องจากมีต้นทุนทางการทหารที่สูงเกินไป
รัสเซียและยูเครนยังมีความใกล้ชิดทางด้านภาษา ซึ่งทำให้ชาวรัสเซียจำนวนมากรู้สึกผูกพันกับยูเครนมากกว่าอดีตรัฐในสภาพโซเวียตอื่นๆ
ปูติน เคยเขียนเอาไว้ในบทความเมื่อปี 2021 ว่า ชาวรัสเซียและชาวยูเครนคือ “ชนชาติเดียวกัน” ที่มีประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณร่วมกัน และ “กำแพง” ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องน่าเสียใจ ขณะที่รัฐบาลยูเครนออกมาโต้แย้งคำพูดผู้นำหมีขาวว่าเต็มไปด้วยแรงจูงใจทางการเมือง และเป็นการยกประวัติศาสตร์มาอ้างแบบรวบรัดตัดความเกินไป