xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจกัน! ไบเดนขู่จะคว่ำบาตร 'ปูติน' หากรัสเซียกรีธาทัพรุกรานยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (25 ม.ค.) เปิดเผยว่า จะพิจารณากำหนดมาตรการคว่ำบาตรส่วนบุคคลต่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย หากว่ามอสโกรุกรานยูเครน ในขณะที่บรรดาผู้นำโลกตะวันตกยกระดับเตรียมพร้อมด้านการทหารและวางแผนสำหรับป้องกันยุโรปจากความเป็นไปได้ที่อาจต้องเผชิญวิกฤตอุปทานพลังงาน

คำขู่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรที่พบเห็นยากมากนี้ มีขึ้นในขณะที่นาโต้สั่งกองกำลังให้เตรียมพร้อมและเสริมกำลังในยุโรปตะวันออก ด้วยการส่งกองเรือและเครื่องบินขับไล่เข้าประจำการเพิ่มเติม ตอบโต้รัสเซียที่เสริมกำลังทหารหลายแสนนายตามแนวชายแดนติดกับยูเครน

รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้มีแผนโจมตีใดๆ และระบุวิกฤตครั้งนี้ขับเคลื่อนโดยพฤติกรรมของนาโต้และสหรัฐฯ ทั้งนี้ รัสเซียยื่นเงื่อนไขขอคำรับประกันด้านความมั่นคงจากตะวันตก ในนั้นรวมถึงคำสัญญาจากนาโต้ว่าจะไม่รับยูเครนเป็นรัฐสมาชิกตลอดกาล เนื่องด้วยมอสโกมองประเทศอดีตสหภาพโซเวียตแห่งนี้ในฐานะเป็นแนวกันชนระหว่างรัสเซียกับบรรดาประเทศสมาชิกนาโต้

ตามหลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียหลายต่อหลายรอบเกี่ยวกับประเด็นยูเครน ซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลวไม่สามารถผ่าทางตันใดๆ ประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งเตือนมอสโกมานานเกี่ยวกับผลสนองทางเศรษฐกิจ ได้ยกระดับคำขู่หนักหน่วงขึ้นในวันอังคาร (25 ม.ค.) โดยบอกว่าปูติน อาจเผชิญมาตรการคว่ำบาตรด้วยตัวเอง

ท่ามกลางข้อมูลว่ารัสเซียยระดมกองกำลังราว 100,000 นายใกล้ชายแดนยูเครน ไบเดนบอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า หากรัสเซียเคลื่อนพลเข้าสู่ยูเครน "มันจะกลายเป็นการรุกรานครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และ "จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้"

เมื่อถามว่าเขาจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานปูตินโดยตรงหรือไม่ หากว่ารัสเซียรุกรานยูเครน ไบเดนตอบว่า "ใช่ ผมคิดเช่นนั้น"

การที่สหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรผู้นำต่างชาติโดยตรงนั้นหาได้ยากมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยผู้นำคนอื่นๆ ที่เคยเผชิญมาตรการคว่ำบาตรก่อนหน้านี้ ก็มีอย่างนิโคลัส มาดูโร ของเวเนซุเอลา บาชาร์ อัล อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย และมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย

เมื่อวันอังคาร (25 ม.ค.) เครื่องบินของสหรัฐฯ ลำหนึ่ง บรรทุกยุทโธปกรณ์ทางทหารและกระสุนลงจอดในกรุงเคียฟ นับเป็นงวดที่ 3 ของแพกเกจช่วยเหลือมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อยกระดับศักยภาพการป้องกันตนของยูเครน

เพนตากอนพร้อมส่งทหาร 8,500 นายเข้าประจำการตามปีกตะวันออกของนาโต้ และไบเดนบอกในวันอังคาร (25 ม.ค.) ว่าเขาอาจเคลื่อนกำลังทหารเหล่านั้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะส่งกองกำลังของสหรัฐฯ เข้าไปยังยูเครนแต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากยูเครนไม่ใช่ชาติสมาชิกนาโต้

จนถึงตอนนี้ นาโต้มีทหารราว 4,000 นาย ในกองพันนานาชาติ ในเอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลัตเวีย และโปแลนด์ โดยมีรถถัง ระบบป้องกันภัยทางอากาศ หน่วยข่าวกรองและหน่วยสอดแนมเป็นกำลังหนุน

ในขณะที่บรรดาผู้นำชาติตะวันตกเรียกร้องความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่กลับพบเห็นความแตกแยกในบรรดาประเทศยุโรปเกี่ยวกับแนวทางตอบโต้รัสเซีย โดยปูติน มีกำหนดพบปะกับเหล่าประธานบริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งในอิตาลี คู่หูการค้าใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของรัสเซีย ในวันพุธ (26 ม.ค.) แม้ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น

"แน่นอนมันสำคัญมากที่ตะวันตกต้องเป็นหนึ่งเดียวกันในเวลานี้ เพราะว่าความเป็นหนึ่งเดียวกันของเราในตอนนี้จะก่อประสิทธิผลอย่างมากในการป้องปรามรัสเซียจากการรุกรานใดๆ" บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษระบุ พร้อมเผยว่า อังกฤษกำลังหารือกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะแบนรัสเซียออกจากระบบชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ระบุว่า เขาจะเสาะหาความชัดเจนเกี่ยวกับเจตนาของรัสเซีย ระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์กับปูติน ในวันศุกร์ (28 ม.ค.) ขณะที่บรรดาที่ปรึกษาทางการเมืองจากรัสเซีย ยูเครน เยอรมนี และฝรั่งเศส มีกำหนดพูดคุยกันในกรุงปารีสในวันพุธ (26 ม.ค.)

ด้วยความหวาดวิตกเป็นอย่างสูงว่ากองทัพรัสเซียจะเปิดฉากจู่โจมรอบใหม่ หลังเคยรุกรานผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปี 2014 ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เรียกร้องบรรดาผู้รักชาติทั้งหลายในวันอังคาร (26 ม.ค.) ให้อยู่ในความสงบ พร้อมเผยว่ากำลังดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดการประชุมหารือระหว่างเขากับผู้นำรัสเซีย เยอรมนีและฝรั่งเศส

"ไม่ใช่การมองโลกในแง่ดี ไม่ใช่เรื่องหลอกเด็ก ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ยังมีความหวัง" เซเลนสกี กล่าวระหว่างปราศรัยผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ "ปกป้องร่างกายของคุณจากไวรัส ปกป้องสมองของคุณจากเรื่องโกหก ปกป้องหัวใจของคุณจากความตื่นตระหนก"

ในวอชิงตัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลของไบเดน เปิดเผยว่า สหรัฐฯ กำลังพูดคุยกับบรรดาประเทศผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ทั้งหลายและบริษัทต่างๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการป้อนอุปทานที่หลากหลายแก่ยุโรป หากว่ารัสเซียรุกรานยูเครน

อียูพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากถึง 1 ใน 3 ของอุปทานก๊าซธรรมชาติทั้งหมด และปัญหาการติดขัดใดๆ ในการนำเข้าจากรัสเซียจะยิ่งซ้ำเติมวิกฤตทางพลังงานในปัจจุบัน ซึ่งมีต้นตอจากภาวะขาดแคลน

"เรากำลังทำงานเพื่อควานหาปริมาณก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมที่ไม่ได้มาจากรัสเซีย จากพื้นที่ต่างๆ ของโลก ทั้งจากแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ไปจนถึงเอเชียและสหรัฐฯ" เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกล่าว

เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามรายนี้ไม่ได้ระบุชื่อประเทศอย่างเจาะจง หรือบริษัทใดๆ ที่ทางสหรัฐฯ กำลังเจรจาอยู่ แต่บอกว่าในนั้นรวมถึงเหล่าซัปพลายเออร์ต่างๆ อย่างกว้างขวาง และประกอบด้วยบรรดาบริษัทผู้ขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น