สหรัฐฯ ออกคำสั่งให้ครอบครัวของคณะผู้แทนทูตในกรุงเคียฟ เดินทางออกจากยูเครน สืบเนื่องจากภัยคุกคามที่มีอย่างไม่ลดละเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะยกพลรุกรานประเทศแห่งนี้ กระทรวงการต่างประเทศอเมริกาแถลงในวันอาทิตย์ (23 ม.ค.)
นอกจากนี้ วอชิงตันยังอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานทูตที่ไม่มีความจำเป็นเดินทางออกจากยูเครนบนพื้นฐานของความสมัครใจ และเร่งเร้าพลเมืองสหรัฐฯ ในประเทศยุโรปตะวันออกแห่งนี้ "ให้พิจารณาเดินทางออกมาเดี๋ยวนี้เลย" โดยระบุว่าหากเกิดการรุกรานใดๆ จากมอสโก พวกเขาจะไม่อยู่ในสถานะอพยพพลเมืองสหรัฐฯ ได้
รัสเซียระดมกำลังทหารหลายแสนนายตามแนวชายแดนติดกับยูเครน เช่นเดียวกับกองรถถัง ยานยนต์สู้รบ ปืนใหญ่ และขีปนาวุธ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวโหมกระพือเสียงเตือนมาจากวอชิงตันและยุโรป แต่จนถึงตอนนี้ความพยายามทางการทูตอันเข้มข้นยังไม่ผลิดอกออกผลใดๆ
สถานทูตสหรัฐฯ ยังคงเปิดทำการ และเวลานี้อุปทูตคริสตินา เควีน ยังคงอยู่ในยูเครน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกาบอกกับพวกผู้สื่อข่าว
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากทำเนียบขาวส่งเสียงเตือนว่าปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซียอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และในวันอาทิตย์ (23 ม.ค.) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศรายดังกล่าวก็สะท้อนคำเตือนนี้อีกรอบ
"วอชิงตันไม่อยู่ในสถานะที่อพยพพลเมืองสหรัฐฯ ในกรณีฉุกเฉินแบบนี้" เจ้าหน้าที่ระบุ พร้อมเรียกร้องพลเมืองอเมริกาให้พิจารณาเดินทางออกมาผ่านการขนส่งทางพาณิชย์หรือส่วนตัวเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เจ้าหน้าที่ปฏิเสธให้ตัวเลขอย่างเจาะจงว่ามีพลเมืองอเมริกันเท่าใดที่อยู่ในแผ่นดินของยูเครน แต่บรรดาผู้แทนของกระทรวงการต่างประเทศเคยให้ตัวเลขเมื่อเดือนที่แล้ว ว่าอยู่ระหว่าง 10,000 ถึง 15,000 คน
ก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกคำแนะนำให้งดเดินทางไปยังยูเครนในทุกกรณี สืบเนื่องจากความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะรุกราน
ในวันอาทิตย์ (23 ม.ค.) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังออกคำแนะนำให้งดเดินทางเยือนรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่างๆ ตามแนวชายแดนติดกับยูเครน พร้อมเตือนอเมริกันชนว่าอาจเจอการตามรังควาน และวอชิงตันอาจมีความสามารถอย่างจำกัดในการช่วยเหลือพวกเขา
"พลเมืองสหรัฐฯ ที่กำลังเดินทางเยือนหรือกำลังพักอาศัยอยู่ในรัสเซีย อาจถูกซักถามโดยไม่มีสาเหตุ ถูกเจ้าหน้าที่รัสเซียข่มขู่ และอาจตกเป็นเหยื่อของการตามรังควาน ปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมและขู่กรรโชก" คำแนะนำระบุ
เครมลินปฏิเสธว่าไม่มีเจตนารุกรานชาติเพื่อนบ้าน แต่บอกว่าจะลดสถานการณ์ความตึงเครียดแบบมีเงื่อนไข ภายใต้ข้อตกลงที่ห้ามรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกตลอดไปและตะวันตกต้องไม่ตั้งฐานทัพทางทหารในพื้นที่กลุ่มอดีตประเทศสหภาพโซเวียต
ก่อนหน้านี้ในวันอาทิตย์ (23 ม.ค.) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธแนวคิดกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานมอสโก ก่อนที่รัสเซียจะเปิดฉากรุกรานใดๆ โดยระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรควรถูกใช้เป็นหนทางสำหรับยับยั้งการโจมตีมากกว่า "ครั้งที่คุณใช้มาตรการคว่ำบาตร คุณจะสูญเสียผลลัพธ์ของการป้องปราม"
"ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังทำคือร่วมมือกันในการดำเนินการต่างๆ ที่จะขึ้นอยู่กับการคำนวณความเคลื่อนไหวต่างๆ ของวลาดิมีร์ ปูติน ในนั้นรวมถึงยกระดับการป้องกันตนเองในยูเครน ด้วยการมอบความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติม" บลิงเคน ระบุ
(ที่มา : เอเอฟพี)