xs
xsm
sm
md
lg

ปูตินกล่าวหาสหรัฐฯ กำลังใช้ยูเครนเป็นเครื่องมือล่อรัสเซียเข้าสู่สงคราม!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวหาตะวันตกในวันอังคาร (1 ก.พ.) กำลังจงใจสร้างสถานการณ์หนึ่งขึ้นมาเพื่อล่อลวงรัสเซียเข้าสู่สงคราม และเพิกเฉยต่อความกังวลด้านความมั่นคงของมอสโกในเรื่องเกี่ยวกับยูเครน

ในการพูดถึงวิกฤตยูเครนต่อสาธารณะอย่างตรงๆ เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 สัปดาห์ ปูตินไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ว่าจะยอมอ่อนข้อต่อข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงต่างๆ ที่ทางตะวันตกเรียกว่า "ไม่มีทางแม้แต่จะเริ่มต้น" และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการเปิดฉากรุกรานยูเครน แม้รัสเซียยืนกรานปฏิเสธมาตลอด

"เวลานี้มันชัดเจนแล้ว ความกังวลพื้นฐานของรัสเซียถูกเพิกเฉย" ปูตินกล่าวระหว่างแถลงข่าว ครั้งที่ต้อนรับการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีฮังการี หนึ่งในบรรดาผู้นำนาโต้ที่พยายามประนีประนอมกับเขา ท่ามกลางวิกฤตที่หนักหน่วงขึ้น

ปูติน คาดเดาว่าในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา ซึ่งนาโต้อ้างแขนรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกและจากนั้นก็พยายามยึดคืนไครเมีย ซึ่งรัสเซียบุกยึดและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปี 2014 "ลองจินตนาการดู ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้และเริ่มปฏิบัติการทางทหารนี้ เราตั้งใจจะทำสงครามกับกลุ่มนาโต้หรือไม่? แน่นอนว่าไม่" เขากล่าว

รัสเซียระดมกำลังพลมากกว่า 100,000 นายตามแนวชายแดนติดกับยูเครน และบรรดาชาติตะวันตกเกรงว่าปูตินอาจมีแผนยกพลรุกราน

มอสโกปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว แต่บอกว่าพวกเขาอาจใช้ปฏิบัติการทางทหารโดยไม่เจาะจง จนกว่าข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของพวกเขาจะได้รับการตอบสนอง ขณะที่ทางตะวันตกบอกว่า การรุกรานใดๆ จะนำมาซึ่งมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

เครมลินต้องการให้ตะวันตกเคารพข้อตกลงหนึ่งในปี 1999 ที่ระบุว่าไม่มีประเทศไหนสามารถขยายอาณาเขตความมั่นคงของตนเองภายใต้ความสูญเสียของประเทศอื่นๆ ซึ่งทางรัสเซียมองว่าประเด็นนี้คือแก่นกลางของวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าว

เขาหยิบยกกฎบัตรที่ลงนามในอิสตันบูล โดยสมาชิกองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ และแคนาดา ระหว่างพูดคุยกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และลาฟรอฟ เผยว่า บลิงเคน ยอมรับจำเป็นต้องมีการหารือในประเด็นดังกล่าวอีกในอนาคต ส่วนฝ่ายสหรัฐฯ เรียกร้องให้มุ่งเน้นความจำเป็นที่มอสโกต้องถอนทหารออกจากแนวชายแดนติดกับยูเครน

"ถ้าประธานาธิบดีปูตินไม่มีความตั้งใจทำสงครามอย่างแท้จริงหรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใดๆ ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศบอกกับรัฐมนตรีต่างประเทศลาฟรอฟไปว่า เมื่อนั้นก็ถึงเวลาถอนทหารและอาวุธหนัก และหันมามีส่วนร่วมในการเจรจาอย่างจริงจัง" เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รายหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าว

ปูตินไม่ได้พูดถึงวิกฤตยูเครนกับสาธารณะมาตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม ก่อความคลุมเครือเกี่ยวกับจุดยืนส่วนตัวของเขา ในขณะที่บรรดาผู้แทนทางการทูตจากรัสเซียและตะวันตกกำลังเปิดเจรจากันรอบแล้วรอบเล่าเพื่อหาทางออกแก่วิกฤตดังกล่าว

ปูติน กล่าวว่า ความคิดเห็นของเขาเมื่อวันอังคาร (1 ก.พ.) สะท้อนมุมมองว่ารัสเซียจำเป็นต้องปกป้องตนเองจากท่าทีก้าวร้าวและเป็นปรปักษ์ของสหรัฐฯ และบอกว่าความสนใจลำดับต้นๆ ของวอชิงตันไม่ใช่ประเด็นความมั่นคงของยูเครน แต่เป็นความพยายามควบคุมรัสเซีย

"จากความเข้าใจคือ ตัวยูเครนเองเป็นแค่เครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้" เขากล่าว "มันสามารถทำได้ในหลายแนวทาง ด้วยการลากเราเข้าสู่ความขัดแย้งติดอาวุธบางอย่าง และภายใต้ความช่วยเหลือจากพันธมิตรของพวกเขาในยุโรป บีบบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรรุนแรงกับเรา อย่างที่พวกเขากำลังพูดกันอยู่ในสหรัฐฯ ในตอนนี้"

อย่างไรก็ตาม วิคเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี กล่าวหลังจากพูดคุยกับปูติน เชื่อว่ายังเหลือช่องว่างสำหรับการประนีประนอม "ผมเชื่อว่าความเห็นต่างในจุดยืนต่างๆ ในปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อกันได้ และมีความเป็นไปได้ที่จะลงนามในข้อตกลงหนึ่งๆ ซึ่งจะรับประกันสันติภาพ รับประกันความมั่นคงของรัสเซีย และเป็นที่ยอมรับของรัฐสมาชิกนาโต้เช่นกัน"

บรรดาชาติตะวันตกรุดแสดงความเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับยุโรป โดยบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษเข้าพบประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ โซเลนสกี ในกรุงเคียฟ และกล่าวหารัสเซียกำลังถือปืนจ่อศีรษะของยูเครน ขู่ให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านความมั่นคงในยุโรป

"มันสำคัญที่รัสเซียต้องถอยออกมาและเลือกเส้นทางด้านการทูต" จอห์นสันกล่าว "และผมเชื่อว่ายังคงมีความเป็นไปได้ เรามุ่งหวังประสานงานเจรจา และแน่นอน ในขณะเดียวกัน เราก็พร้อมคว่ำบาตร เรามอบการสนับสนุนด้านการทหารและเราพร้อมมอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นเช่นกัน"

นอกจากนี้ จอห์นสันยังเตือนด้วยว่าการรุกรานยูเครนใดๆ ของรัสเซีย อาจนำมาซึ่งหายนะทางทหารและมนุษยธรรม

เซเลนสกี ซึ่งพยายามกลบกระแสความกังวลซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียใกล้ยกพลรุกรานแล้ว ได้ลงนามในคำสั่งฉบับหนึ่งสำหรับเพิ่มกำลังพลในกองทัพอีก 100,000 นายในช่วง 3 ปีข้างหน้า แต่ขณะเดียวกัน เรียกร้องให้บรรดาสมาชิกรัฐสภาอยู่ในความสงบและหลีกเลี่ยงความตื่นตระหนก

"การเพิ่มกำลังทหารไม่ใช่เพราะว่าเร็วๆ นี้เราจะมีสงคราม แต่เร็วๆ นี้หรือในอนาคตจะมีสันติภาพในยูเครน" เซเลนสกี ระบุ

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น