WHO เตือนภัยโควิดจะกลายเป็นคลื่นยักษ์สึนามิที่ถล่มระบบสาธารณสุขพังพินาศ ขณะเดียวกับที่ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน แผลงฤทธิ์ดันยอดผู้ติดเชื้อในหลายประเทศพุ่งทุบสถิติ ทำลายบรรยากาศการเฉลิมฉลองปีใหม่ทั่วโลกอีกครั้ง
รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามหาสมดุลระหว่างมาตรการสกัดไวรัสกับการเปิดระบบเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นมาก ดันให้จำนวนผู้ติดเชื้อในอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเดนมาร์กพุ่งทะยานในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ข้อมูลจากการรวบรวมของสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 22-28 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีผู้ติดโควิดเพิ่มขึ้น 6.55 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดนับจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2020
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ระหว่างวันที่ 22-28 ที่ผ่านมา มีผู้ติดโควิดเพิ่มขึ้นวันละเกือบ 900,000 คน นอกจากนั้น ยังมีหลายประเทศที่พบเคสใหม่รายวันทำสถิติสูงสุดตลอดกาลในวันพุธ (29) เช่น อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย โบลิเวีย อเมริกา และหลายชาติในยุโรป
เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า กังวลมากว่า โอมิครอนอาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงเหมือนคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งจะเพิ่มความกดดันอย่างต่อเนื่องต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่อ่อนล้าอยู่แล้ว รวมทั้งระบบสาธารณสุขที่จวนเจียนล่ม
โอมิครอนเริ่มทำให้เกิดปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลบางแห่งในอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิดหนักที่สุด โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยวันละ 265,427 คนในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์
ไมเคิล ไมนา นักระบาดวิทยาและนักภูมิคุ้มกันวิทยาของฮาร์วาร์ด ทวิตว่า ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง โดยตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านั้นมากเนื่องจากขณะนี้ชุดตรวจโควิดขาดแคลนจึงทำให้ไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง
กระนั้น ยังพอมีความหวังอยู่บ้างจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อกับจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้าโรงพยาบาลนั้นไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ แม้มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมากมาย แต่ผู้ป่วยหนักกลับไม่ได้มากขึ้นตามไปด้วย
ทว่า นพ.แอนโทนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนำของอเมริกา เตือนว่า ไม่ควรชะล่าใจ แม้สิ่งบ่งชี้ทั้งหมดระบุว่า โอมิครอนทำให้เกิดอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ก็ตาม
การมาเยือนของโอมิครอนทำให้ผู้คนทั่วโลกต้อนรับปีใหม่ในบรรยากาศของความกังวลกับโรคระบาดอีกครั้ง งานฉลองใหญ่ในหลายประเทศถูกลดขนาดหรือยกเลิก
ตัวอย่างเช่น กรีซที่ประกาศเมื่อวันพุธห้ามจัดแสดงดนตรีสดในบาร์และร้านอาหาร และพยายามจำกัดงานสังสรรค์ส่งท้ายปีด้วยการยกเลิกกิจกรรมของทางการ
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของสหราชอาณาจักรและอังกฤษ ปกป้องการตัดสินใจของตนเองในการไม่ห้ามการจัดงานฉลองปีใหม่ โดยระบุว่า 90% ของผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวในแผนกผู้ป่วยวิกฤตคือผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
ผู้นำอังกฤษเสริมว่า อัตราการฉีดวัคซีนกระตุ้นที่เพิ่มขึ้นทำให้อังกฤษเดินหน้าฉลองปีใหม่ได้ภายใต้มาตรการเฝ้าระวัง ถึงแม้ทางการบริหารของดินแดนอื่นๆ ของสหราชอาณาจักร ไม่ว่าไอร์แลนด์เหนือ สกอตแลนด์ หรือเวลส์ ซึ่งมีอิสระในการตัดสินใจเรื่องเช่นนี้ ต่างสั่งงดจัดงานปีใหม่แล้วก็ตาม
ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยโควิดที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในอังกฤษทะลุ 10,000 คน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดนับจากเดือนเมษายน นอกจากนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันของทั่วทั้งสหราชอาณาจักรยังพุ่งทำสถิติสูงสุดใหม่เมื่อวันพุธที่ 183,037 คน
ทางด้านฝรั่งเศสรายงานเคสใหม่รายวันทำสถิติสูงสุดเช่นเดียวกันที่กว่า 200,000 คน มากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเมื่อวันคริสต์มาสที่ผ่านมากว่าเท่าตัว และรัฐบาลประกาศปิดไนต์คลับต่อจนถึงเดือนหน้า รวมทั้งบังคับให้ประชาชนอายุ 11 ปีขึ้นไปต้องสวมหน้ากากนอกอาคารในปารีสตั้งแต่วันศุกร์ (31) ยกเว้นขณะอยู่ในรถ ผู้ขี่จักรยาน ผู้ใช้รถสองล้อ เช่น สกูตเตอร์ และนักกีฬาในขณะแข่งขัน
เดนมาร์ก ซึ่งกลายเป็นประเทศที่มีอัตราผู้ติดเชื้อต่อหัวสูงสุดในโลกในขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทำสถิติที่ 23,228 คนเมื่อวันพุธ ซึ่งทางการระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดตั้งศูนย์ตรวจขนาดใหญ่หลังเทศกาลคริสต์มาส
โปรตุเกสรายงานยอดผู้ติดเชื้อทุบสถิติเช่นกันที่เกือบ 27,000 คนในวันพุธ
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)