(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
G7 threats push Russia-China ever closer together
By MK BHADRAKUMAR
16/12/2021
เอกสารโรดแมปร่วมฉบับใหม่ที่มอสโกกับปักกิ่งลงนามกันไปเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นสัญญาณแสดงถึงความเต็มอกเต็มใจของรัสเซียและจีนในการต้านทานแรงกดดันของสหรัฐฯ โดยผ่านความพยายามทางการทหารที่สองฝ่ายนำมาสนธิกัน ทั้งนี้ถ้าหากเรื่องนี้กลายเป็นความจำเป็นขึ้นมา
การประชุมแบบเสมือนจริงระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เมื่อวันพุธ (15 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งริเริ่มเสนอขึ้นโดยฝ่ายปักกิ่งนั้น ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อหมากกลทางภูมิรัฐศาสตร์ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ที่มุ่งมั่นขยายตัวไปอย่างตะวันออกอย่างไม่ยอมบันยะบันยัง ตลอดจนต่อแผนการของฝ่ายตะวันตกในการนำเอากำลังทหารและอาวุธมาประจำการตรงบริเวณประชิดติดชายแดนรัสเซีย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aljazeera.com/news/2021/12/15/russia-putin-china-xi-to-hold-talks-amid-tensions-with-west)
การประกาศของปักกิ่งเกี่ยวกับการพบปะหารือคราวนี้ มีขึ้นในเวลาไม่ถึง 1 วันหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม จี7 (กลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก) ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เมื่อวันอาทิตย์ (12 ธ.ค.) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสียงก้องสะท้อนคำพูดของวอชิงตันในการกล่าวหาว่ารัสเซียสั่งสมแสนยานุภาพทางทหารตรงบริเวณชายแดนติดต่อกับยูเครน พร้อมกับข่มขู่คุกคามมอสโกว่า จะต้องเจอกับ “ผลพวงต่อเนื่องอย่างใหญ่โตและการถูกตอบโต้ที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง”
ตัวการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ จี7 ครั้งนี้เอง มีเจตนามุ่งให้เป็นการอวดโชว์ความสามัคคีของฝ่ายตะวันตกครั้งใหม่ในการต่อต้านรัสเซียและจีน ทั้งนี้เพื่อให้ฝ่ายตะวันตกมีความได้เปรียบขึ้นมา เวลาเดียวกันนั้น นี่ยังเป็นคราวแรกที่บรรดาประเทศอาเซียนได้รับเชิญเข้าร่วมในการประชุมระดับรัฐมนตรีของ จี7 ด้วย โดยนี่ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของคณะบริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ที่จะเริ่มต้น “กรอบโครงทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific economic framework) อันใหม่ขึ้นมา ในความพยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะบั่นทอนอิทธิพลของจีนในภูมิภาคแถบนี้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เอกอัครราชทูต หวัง เหวินปิน (Ambassador Wang Wenbin) แถลงข่าวในวันจันทร์ (13 ธ.ค.) โดยคาดหมายว่า การหารือแบบเสมือนจริงระหว่าง สี กับ ปูติน คราวนี้ จะเป็นการ “สำรวจตรวจตราความสัมพันธ์ทวิภาคี และผลของความร่วมมือกันในช่วงปีนี้, วางแผนการกันในระดับสูงสำหรับความสัมพันธ์นี้ในปีหน้า, และแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสำคัญๆ ทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน”
หวัง คาดการณ์ว่า การประชุมผ่านทางวิดีโอของ สี-ปูติน ครั้งนี้ “จะยิ่งเพิ่มพูนความไว้วางใจซึ่งกันและกันในระดับสูงของพวกเขามากขึ้นอีก ส่งเสริมสนับสนุนอย่างมีชีวิตชีวาให้แก่การประสานงานทางยุทธศาสตร์แบบ “หลังพิงกัน” (‘back-to-back’ strategic coordination) ของจีน-รัสเซีย และการพัฒนาอย่างเข้มแข็งของความร่วมมือกันในทางปฏิบัติอย่างรอบด้าน” จากนั้นเขาสรุปว่า “นี่จะเป็นการจัดหาจัดส่งเสถียรภาพและพลังงานในทางบวกเพิ่มมากขึ้น ให้แก่ภูมิทัศน์ระหว่างประเทศในปัจจุบันที่สลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ”
ทางด้าน ดมิตริ เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกของวังเครมลิน เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ในระหว่างหารือกันคราวนี้ ปูติน กับ สี จะพูดถึงภาษาถ้อยคำแบบมุ่งเป็นปรปักษ์ของนาโต้ และสถานการณ์อันตึงเครียดในยุโรป ทั้งนี้ เพื่อเห็นกันได้ชัดๆ ขอหยิบยกอ้างอิงคำพูดที่เปสคอฟแถลง มาให้พิจารณากัน เขาบอกว่า ผู้นำทั้งสอง “จะแลกเปลี่ยนทัศนะของพวกเขาในเรื่องกิจการระหว่างประเทศ พัฒนาการหลายๆ อย่างในกิจการระหว่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนภาคพื้นทวีปยุโรปนั้น เวลานี้อยู่ในภาวะตึงเครียดเอามากๆ และนี่แน่นอนว่าเรียกร้องให้มีการหารือกันระหว่างพันธมิตรทั้งสอง ระหว่างมอสโกกับปักกิ่ง”
เปสคอฟกล่าวต่อไปว่า รัสเซียกำลังเผชิญกับ “ภาษาถ้อยคำที่ก้าวร้าวมากๆ ทั้งจากนาโต้และจากสหรัฐฯ” ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาหารือกันด้วยเหมือนกัน สรุปแล้ว เปสคอฟเน้นย้ำวา สถานการณ์อันตึงเครียดที่อุบัติขึ้นบนภาคพื้นยุโรป เป็นสิ่งที่ยืนยันเรียกร้องให้รัสเซียต้องปรึกษาหารือกับจีนผู้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของตน
ไม่ต้องสงสัยเลย นี่ชี้บ่งให้เห็นถึงมิติพิเศษผิดธรรมดาของความเป็นพันธมิตรกันระหว่างรัสเซียกับจีน จีนกำลังจะแสดงบทบาทอะไรหรือไม่ ในฉากทัศน์ (scenario) ซึ่งกำลังวิวัฒนาการไปไม่ขาดสาย นี่จะเป็นสิ่งที่ถูกจับจองมองกันอย่างสนอกสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อลมกำลังกรรโชกแรงทั้งทางยุโรปตะวันออก และในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อีกทั้งทำท่าว่ามันอาจจะมาบรรจบกันจนกลายเป็นมหาวายุดุร้ายสมบูรณ์แบบ
จุดสำคัญที่สุดก็คือ การหารือระหว่าง สี กับ ปูติน คราวนี้ ถือว่าอยู่ภายในขอบเขตของแผนการโรดแมปเพื่อการร่วมมือกันทางทหารรัสเซีย-จีนสำหรับปี 2021 – 2025 ซึ่งประเทศทั้งสองได้ลงนามกันเอาไว้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมาหรือไม่?
(ดูเพิ่มเติมเรื่องการลงนามนี้ได้ที่ https://abcnews.go.com/International/wireStory/russia-china-sign-roadmap-closer-military-cooperation-81355468)
ขณะที่ลงนามกันในเอกสารฉบับนี้ รัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) ของรัสเซีย พูดเอาไว้ดังนี้ “จีนกับรัสเซียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กันมาหลายปีแล้ว ทุกวันนี้ในสภาวการณ์ที่ความปั่นป่วนทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเพิ่มทวี และศักยภาพที่จะเกิดความขัดแย้งในหลายๆ ส่วนของโลกก็สูงขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาการของปฏิสัมพันธ์ในระหว่างพวกเราจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมสอดคล้องเป็นพิเศษ”
ที่ต้องถือว่าไม่ธรรมดาก็คือ ชอยกู โน้มนำความสนใจของรัฐมนตรีกลาโหมจีน เว่ย เฟิ่งเหอ (Wei Fenghe) ผู้เป็นคู่ร่วมลงนามของเขา มายังเรื่องที่เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯบินเข้ามาใกล้ๆ ชายแดนรัสเซียถี่ขึ้นมาก เขาพูดเอาไว้อย่างนี้ “ในเดือนนี้ เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ (ของสหรัฐฯ) 10 ลำออกมาฝึกปฏิบัติภายใต้ฉากทัศน์ที่ว่ากำลังใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีรัสเซียแบบพร้อมๆ กันในทางปฏิบัติจากด้านตะวันตกและด้านตะวันออก” และบินเข้ามาใกล้มากแค่ห่างชายแดนรัสเซียเพียงแค่ 20 กิโลเมตรเท่านั้น
ชอยกู ยังชี้ให้เห็นว่า จำนวนเที่ยวบินของเครื่องบินทิ้งระเบิดสหรัฐฯเหนือทะเลโอค็อตสค์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยที่เครื่องบินอเมริกันในเที่ยวบินเหล่านี้มีการฝึกปฏิบัติเรื่องการยิงขีปนาวุธร่อน (cruise missiles) ซึ่งเขาย้ำว่ามันเป็นภัยคุกคามต่อทั้งรัสเซียและก็จีนด้วย “ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ การประสานงานกันระหว่างรัสเซีย-จีน จึงกลายเป็นปัจจัยสร้างเสถียรภาพในกิจการของโลก” ชอยกู กล่าว
ตามคำแถลงสั้นๆ ฉบับหนึ่ง รัฐมนตรีกลาโหมจีนพูดขึ้นมาในตอนนั้นว่า ทั้งสองฝ่ายจะ “สืบต่อสานความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างฝ่ายทหารของทั้งสองฝ่ายให้หยั่งรากลึกยิ่งขึ้นอีก, สืบต่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความร่วมมือในการฝึกซ้อมทางยุทธศาสตร์, การตรวจการณ์ร่วม, และอาณาบริเวณอื่นๆ รวมทั้งสืบต่อสร้างคุณูปการใหม่ๆ ในการปกป้องผลประโยชน์แกนกลางของจีนและของรัสเซีย และธำรงรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพทั้งระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค”
อันที่จริง ชอยกูก็เคยพูดเช่นนี้เพียงเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษออกในฮ่องกง ขณะรายงานการจับมือทำข้อตกลงกันครั้งนี้ ได้แสดงความเห็นเอาไว้ว่า จีนกับรัสเซีย “กำลังขยับเข้าไปใกล้ๆ การเป็นพันธมิตรทางทหารกันในทางเป็นจริง เพื่อตอบโต้ต้านทานแรงบีบคั้นที่เพิ่มขึ้นทุกทีจากสหรัฐฯ”
อย่างน้อยที่สุด การลงนามในเอกสารโรดแมปว่าด้วยความร่วมมือทางทหารครั้งนี้ คือการส่งสัญญาณให้เห็นถึงความเต็มอกเต็มใจของรัสเซียและของจีนที่จะต้านทานแรงบีบคั้นจากสหรัฐฯ ด้วยการพึ่งพาอาศัยความพยายามทางการทหารที่นำมาสนธิเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ถ้าหากมีความจำเป็นขึ้นมา
สหรัฐฯนั้นไม่สามารถที่จะเผชิญหน้าทางการทหารกับทั้งจีนและรัสเซียพร้อมๆ กันได้ และถ้าหากจีนกับรัสเซียมีการรวมแสนยานุภาพทางทหาร ตลอดจนวัตถุประสงค์ทางด้านนโยบายการต่างประเทศของตนเข้าด้วยกันอย่างสำคัญแล้ว นี่ก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในดุลแห่งอำนาจของยูเรเชีย และทำให้สหรัฐฯตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
สหรัฐฯยังคงมีกำลังทหารที่มีศักยภาพความสามารถสูงที่สุดในโลก และไม่มีคำถามใดๆ เลยในเรื่องที่ว่าสหรัฐฯมีพลังอำนาจเหนือกว่าจีนหรือรัสเซียเมื่อเปรียบเทียบกับแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ทว่าด้วยความสามัคคีกันที่เพิ่งปรากฏขึ้นมาให้เห็นใหม่ๆ หมาดๆ ระหว่างรัสเซียกับจีน นี่ก็อาจกลายเป็นตัวพล่าผลาญกำลังในทางยุทธศาสตร์สำหรับวอชิงตัน
ไลล์ โกลด์สไตน์ (Lyle Goldstein) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนและรัสเซีย ที่เคยทำงานในฐานะอาจารย์ด้านงานวิจัย อยู่ที่สถาบันสงครามทางนาวี (Naval War College) ของสหรัฐฯ เป็นเวลา 2 ทศวรรษ จวบจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บอกกับสื่อนิวสวีก (Newsweek) เมื่อวันจันทร์ (13 ธ.ค.) ว่า “ผมคิดว่ามอสโกกับปักกิ่งคิดคำนวณออกมาว่า พวกเขาสามารถที่จะทำให้พวกเรา (วอชิงตัน) ต้องตกอยู่ในสภาพของรูปแบบความสับสนวุ่นวายจนถึงระดับสูงสุดอย่างแท้จริงรูปแบบหนึ่ง เพราะยุทธบริเวณทั้ง 2 (ยูเครน กับ ไต้หวัน) นั้นห่างไกลจากกันและกันเหลือเกิน และกำลังฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็แตกต่างกันมาก
“ผมคิดจริงๆ ว่า พวกเขามองเห็นความได้เปรียบตรงนี้แหละ ในลักษณะของการดึงลากพวกเราจากสองทิศทางในเวลาเดียวกัน”
น่าแปลกใจที่ว่า ในการประเมินของ โกลด์สไตน์ นั้น “ผมไม่คิดว่าสหรัฐฯเตรียมพร้อมแล้วที่จะเข้าทำสงครามในยูเครน และผมก็ไม่คิดว่าสหรัฐฯเตรียมพร้อมแล้วที่จะเข้าทำสงครามในเรื่องไต้หวัน ผมมั่นใจในจุดนี้ของทั้งสองเรื่องนี้ ดังนั้น การที่จะมีการขยับทำอะไรกันในทั้งสองจุดนี้ (พร้อมๆ กัน) เลยหรือ ไม่หรอก ไม่มีทางเป็นอย่างนั้นไปได้เลย”
เขาอธิบายต่อไปว่า เมื่อพิจารณาฉากทัศน์ของยูเครน และของไต้หวันกันอย่างเจาะจงแล้ว จะเห็นว่าในทั้ง 2 แห่งต่าง “กำลังเกิดความเครียดเค้นในระดับสูงสุด เพราะเกี่ยวข้องกับการทำสงครามชนิดที่จะมีความดุเดือดรุนแรงสูงมาก โดยในทั้ง 2 ยุทธบริเวณต่างมีความยากลำบากอย่างที่สุด เมื่อ (สหรัฐฯ) จะต้องต่อกรกับฝ่ายปรปักษ์ (ในแต่ละยุทธบริเวณ) ซึ่งมีจุดโฟกัสแน่วแน่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เพียงแค่รายใดรายหนึ่งของปรปักษ์ 2 รายนี้ก็จะก่อให้เกิดความเครียดเค้นอย่างสูงอยู่แล้ว ดังนั้น ผมขอโต้แย้งว่า ถ้าหากเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องร่วมวงด้วยแล้ว ก็มีความเป็นไปได้อย่างสูงทีเดียวที่เราอาจจะประสบความพ่ายแพ้”
แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็ตามที การพูดจาหารือกันผ่านวิดีโอคอลล์ในวันพุธ (15 ธ.ค.) ย่อมเป็นการจัดวางเวทีให้แก่การไปเยือนปักกิ่งของปูติน ตามคำเชื้อเชิญส่วนตัวของ สี จิ้นผิง ในฐานะที่ ปูติน เป็นแขกคนสำคัญที่สุด ณ มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กำลังจะเกิดขึ้นในกรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 4 – 20
กุมภาพันธ์ พิจารณาจากเรื่องนี้แล้ว การพบปะแบบพบเห็นหน้ากันตัวเป็นๆ ของผู้นำทั้งสองในปักกิ่งตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ จะต้องกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทรงความสำคัญใหญ่หลวงสำหรับเสถียรภาพของโลก
และเป็นการกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศทั้งสองให้แนบแน่นล้ำลึกยิ่งขึ้นไปอีก
สามารถมองได้ว่า การหารือแบบเสมือนจริงในวันพุธ (15 ธ.ค.) ท่ามกลางความตึงเครียดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
ในความสัมพันธ์ที่รัสเซียมีอยู่กับสหรัฐฯ คือการแสดงออกซึ่งความตระหนักถึงความเป็นจริงในปักกิ่งที่ว่า
“จีนกับรัสเซียมีแต่จะต้องจับมือกันเท่านั้น จึงจะสามารถตอบโต้การโจมตีที่มาจากกลุ่มก๊วนซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และหลีกเลี่ยงจากการถลำลงไปสู่ภาวะอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่กล้าขยับเขยื้อนอะไร” อย่างที่ ชุ่ย เหิง (Cui Heng) นักวิชาการชาวจีนผู้มีชื่อเสียงแห่งศูนย์เพื่อรัสเซียศึกษา (Center for Russian Studies) ของ มหาวิทยาลัยฝึกหัดครูจีนตะวันออก (East China Normal University) บอกกับโกลบอลไทส์ สื่อในเครือเหรินหมินรึเป้า ที่เป็นปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ขอทบทวนย้ำเตือนความทรงจำ เพื่อไม่ให้ถูกละเลยมองข้ามไป ในสนธิสัญญาเพื่อนบ้านที่ดีและความร่วมมือกันฉันมิตร (Treaty of Good-Neighborliness and Friendly Cooperation) ซึ่งจีนกับรัสเซียลงนามกันไว้ในปี 2001 นั้น มีข้อความเน้นหนักเอาไว้ว่า “รัสเซียรับรองรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวซึ่งเป็นตัวแทนของจีนทั้งหมด ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน”
สนธิสัญญาฉบับนี้คือเอกสารรากฐาน และเป็นหลักยึดเหนี่ยวของความเป็นพันธมิตรระหว่างจีน-รัสเซีย
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับGlobetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย