xs
xsm
sm
md
lg

‘กลุ่มพันธมิตรทางทหารจีน-รัสเซีย’ยังไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องมี (ในขณะนี้)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็มเค ภัทรกุมาร


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ขวา) พบหารือผ่านทางวิดีโอลิงก์ กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย (ซ้าย) เมื่อวันพุธ (15 ธ.ค.)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

A Sino-Russian military alliance is gratuitous (as of now)
By MK BHADRAKUMAR
16/12/2021

พวกนักวิเคราะห์ชาวอเมริกันจำนวนมากยอมรับว่า สหรัฐฯจะไม่เสี่ยงเข้าแทรกแซงทางการทหารในยูเครน หรือในไต้หวัน ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ความหวาดกลัวที่จะต้องกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เท่านั้น หากยังมีความหวั่นไหวว่ามันจะเกิดผลพวงต่อเนื่องอันสร้างความวิบัติหายนะให้แก่ระเบียบโลกในปัจจุบัน

นิวยอร์กไทมส์ได้ข่าวมาอย่างถูกต้องแล้ว เมื่อสำนักงานประจำกรุงมอสโกของพวกเขา เฝ้าติดตามผลลัพธ์ของการประชุมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในวันพุธ (15 ธ.ค.) และประเมินออกมาว่า ปรปักษ์รายสำคัญของสหรัฐฯ 2 รายนี้ “เสาะแสวงความสนับสนุนซึ่งกันและกันในความขัดแย้งที่พวกเขาต่างมีอยู่กับฝ่ายตะวันตก ทว่ายังไม่ถึงขนาดออกมาประกาศการจับมือเป็นพันธมิตรกันอย่างเป็นทางการ”

พันธมิตรจีน-รัสเซีย คือความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างหนึ่งในโลกทุกวันนี้ และต้องเป็นคนตาบอดสีนั่นแหละจึงไม่สามารถมองเห็นสีสันอันสะดุดตาของมันได้ กระนั้น ความเป็นพันธมิตรนี้ก็ (ยัง) ไม่ได้กลายเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการทหาร ถ้าหากจะนำเอาความคล้ายคลึงของโลกตะวันตกมาลองประยุกต์เปรียบเทียบดู ก็คงต้องพูดว่า ขณะที่ความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างจีน-รัสเซีย มีศักยภาพมหาศาลที่จะจัดวางตนเองไปตามโมเดลของสหภาพยุโรป แต่ไม่ว่ามอสโกหรือปักกิ่งก็ต่างไม่มีความปรารถนาที่จะสร้างองค์การนาโต้แห่งยูเรเชียขึ้นมา เพื่อใช้เป็นตัวเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกันกับความเป็นหุ้นส่วนจีน-รัสเซีย

คนตะวันตกนั้นมีปัญหาในเรื่องการเรียนรู้การทำความเข้าใจอยู่ประการหนึ่ง โดยพื้นฐานเลย มันสืบเนื่องจากการที่พวกเขามีอดีตความเป็นมาที่เป็นนักไล่ล่าอาณานิคม กระนั้น ก็ยังคงมีรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป 6 ราย ซึ่งต่างประกาศว่าพวกเขาไม่มีการจับกลุ่มรวมตัวใดๆ กับกลุ่มพันธมิตรทางทหารทั้งหลาย และแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า ยังมีชีวิตที่อยู่เลยพ้นไปจากองค์การนาโต้ ทั้ง 6 ประเทศเหล่านี้ได้แก่ ออสเตรีย, ไซปรัส, ฟินแลนด์, ไอร์แลนด์, มอลตา, และสวีเดน น่าสนใจมากว่า ชาติเหล่านี้ไม่มีรายใดเลยที่มีประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมอย่างโชกเลือด

ทั้งรัสเซียและจีนก็ไม่ได้มีอดีตแห่งการล่าอาณานิคมเช่นเดียวกัน พวกเขาต่างเป็นมหาอำนาจระดับจักรวรรดิ ทว่าความยิ่งใหญ่ของพวกเขาไม่ได้บังเกิดขึ้นมาจากการใช้แรงงานทาส หรือการปล้นชิงความมั่งคั่งร่ำรวยจากแอฟริกา, เอเชียตะวันตก, หรือซีกโลกใต้ ความแตกต่างอย่างโดดเด่นสำคัญมากข้อนี้เอง คือแกนกลางของปริศนาทางภูมิรัฐศาสตร์ในทุกวันนี้

การหารือผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่าง ปูติน-สี บังเกิดขึ้นตรงทางแยกอันสำคัญยิ่งยวดในการเมืองระดับภูมิภาค ซึ่งกำลังมีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาเกี่ยวกับยูเครน และเกี่ยวกับไต้หวัน ทว่าตามการประเมินของ 2 อภิมหาอำนาจจีนและรัสเซีย ในขณะที่สิ่งต่างๆ ยังคงเป็นไปอย่างที่มันกำลังเป็นอยู่ ไม่ว่าจีนหรือรัสเซีย แต่ละฝ่ายต่างมีศักยภาพความสามารถอย่างสมบูรณ์แบบในการปกป้องรักษาผลประโยชน์แกนกลางของตนด้วยตนเอง

อันที่จริงแล้ว พวกนักวิเคราะห์ชาวอเมริกันจำนวนมากก็ยอมรับเช่นกันว่า สหรัฐฯจะไม่เสี่ยงเข้าแทรกแซงทางการทหารในยูเครน หรือในไต้หวัน ทั้งนี้ไม่เพียงแต่สืบเนื่องจากความหวาดกลัวที่จะต้องกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เท่านั้น แต่ยังมาจากความหวั่นไหวที่ว่ามันจะเกิดผลพวงต่อเนื่องอันสร้างความวิบัติหายนะแก่ระเบียบโลก จริงทีเดียว ถ้าสถานการณ์ถึงขั้นมีการสู้รบขัดแย้งปะทุขึ้นมาพร้อมๆ กันใน 2 ยุทธบริเวณ (นั่นคือที่ยูเครน และที่ไต้หวัน) มันก็กลายเป็นฉากทัศน์ที่ถือเป็นฝันร้ายสำหรับคณะบริหารไบเดน

ในบทบรรณาธิการเมื่อวันพฤหัสบดี (16 ธ.ค.) ซึ่งมุ่งอุทิศให้แก่เหตุการณ์การหารือแบบเสมือนจริง สี-ปูติน ในวันพุธ (15 ธ.ค.) โกลบอลไทมส์ (Global Times) หนังสือพิมพ์รายวันในเครือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขียนเอาไว้ดังนี้ “การมุ่งปิดล้อมจีนและรัสเซียไปพร้อมๆ กัน คือความคิดที่แสนยะโสโอหัง ถึงแม้สหรัฐฯมีความได้เปรียบในแง่ของความแข็งแกร่ง แต่สหรัฐฯก็ไม่สามารถที่จะบดขยี้ยังความพ่ายแพ้ราบคาบให้แก่จีนหรือแก่รัสเซียได้ การปะทะพุ่งชนในทางยุทธศาสตร์กับประเทศหนึ่งใดใน 2 ประเทศนี้ จะทำให้สหรัฐฯมีค่าใช้จ่ายอย่างชนิดไม่สามารถแบกรับไหว มันเป็นฝันร้ายสำหรับวอชิงตันเมื่อจีนกับรัสเซียจับมือกัน ... การข่มขู่คุกคาม หรือการใช้กำลังอำนาจเข้าบังคับมหาอำนาจใหญ่รายหนึ่งๆ ควรต้องถือเป็นทางเลือกที่เลวร้าย มันจะยิ่งเป็นการไม่ฉลาดเอามากๆ เมื่อทำเช่นนั้นกับมหาอำนาจใหญ่ทีเดียว 2 ราย วอชิงตันจึงสมควรเรียนรู้ในเรื่องการเคารพในผลประโยชน์แกนกลางของมหาอำนาจใหญ่รายอื่นๆ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202112/1241596.shtml)

ด้วยเหตุนี้ ขณะที่กลุ่มพันธมิตรทางทหารจีน-รัสเซียอยู่ในสภาพที่มีลู่ทางโอกาสกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ทุกเมื่อ แต่หากพิจารณาถึงเส้นทางโคจรของจีนและของรัสเซีย ซึ่งพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจระดับโลกแล้ว มอสโกกับปักกิ่งก็อาจจะไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องใช้กลุ่มพันธมิตรดังกล่าว กระนั้น การหารือทางไกลของ ปูติน-สี คราวนี้ ยังคงถือเป็นเครื่องเตือนสหรัฐฯอย่างโจ่งแจ้งให้ระลึกถึงลู่ทางโอกาสในเรื่องนี้

คณะบริหารไบเดนนั้นไม่สามารถที่จะข่มขู่รัสเซียหรือจีนให้กลัวหงอจนต้องยอมทำตามความประสงค์ของอเมริกาได้ สำหรับเรื่องเกี่ยวกับยูเครนนั้น มีร่องรอยปรากฏออกมาให้เห็นแล้วว่ากำลังมีการเคลื่อนไหวเพื่อขบคิดทบทวน โดยตามรายงานข่าวหลายกระแส คณะบริหารไบเดนกำลังให้คำปรึกแนะนำแก่กรุงเคียฟว่า ยูเครนควรต้องปฏิบัติตัวแบบยับยั้งชั่งใจตนเอง, ดำเนินการในเรื่องการให้อำนาจปกครองตนเองแก่พวกจังหวัดต่างๆ ในยูเครนตะวันออกซึ่งได้ประกาศแยกตัวออกไป, และหาหนทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางการเมืองภายในกรอบโครงของความตกลงกรุงมินสค์ (ซึ่งนี่ก็เป็นข้อเสนอแนะของทางมอสโกอยู่แล้ว)

ในทำนองเดียวกัน เบื้องลึกลงไปของภาษาถ้อยคำแบบเป็นปรปักษ์ วอชิงตันอาจจะกำลังมีปฏิสัมพันธ์กับมอสโกเกี่ยวกับสิ่งที่ฝ่ายหลังถือว่า “เส้นสีแดงที่ห้ามล่วงละเมิด” ทั้งในเรื่องที่ไม่ให้นาโต้ขยายตัวต่อไปทางตะวันออก และเรื่องการประจำการทางทหารของฝ่ายตะวันตกในบริเวณที่อยู่ประชิดกับชายแดนของรัสเซีย ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เซียร์เก รยาบคอฟ (Sergey
Ryabkov) ได้ส่งข้อเสนอแนะเรื่องให้ฝ่ายตะวันตกค้ำประกันความมั่นคงของรัสเซีย ไปให้แก่สหรัฐฯแล้ว
โดยบรรจุอยู่ในจดหมายฉบับหนึ่งที่ส่งให้แก่รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ แคเรน ดอนฟรีด (Karen Donfried) ผู้ไปเยือนมอสโกเมื่อวันพุธ (15 ธ.ค.)

ปักกิ่งนั้นเฝ้าติดตามพัฒนาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน สี จิ้นผิง ยังได้บอกกับปูติน ถึงแผนการของจีนที่จะขยายความร่วมมือกับรัสเซียและกับบรรดารัฐสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization หรือ CSTO กลุ่มพันธมิตรทางทหารของรัสเซียและอดีตรัฐในสหภาพโซเวียตในแถบเอเชียกลางอีก 5 ราย ดูเพิ่มเติม ได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Collective_Security_Treaty_Organization) เพื่อสนับสนุนความมั่นคงในภูมิภาคนี้ และเพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวที่แท้จริงของเรื่องนี้ ขอหยิบยกคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศจีน ซึ่งอ้างอิงว่า สี ได้พูดเอาไว้ดังนี้:

“ฝ่ายจีนมีความตั้งใจที่จะสืบต่อพัฒนาความร่วมมือแบบยืดหยุ่นและหลากหลายกับรัสเซีย และกับรัฐสมาชิกของCSTO และยืนหยัดเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้”

ในเวลาต่อมา ยูริ อูชาคอฟ (YuryUshakov) ผู้ช่วยระดับท็อปของวังเครมลิน ได้บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในมอสโกว่า ปูติน กับ สี ยังได้หารือกัน “ถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่รีบด่วนและสำคัญ เรียกได้ว่าทุกๆ เรื่อง” ตั้งแต่เรื่องการค้ำประกันความมั่นคงให้แก่รัสเซียในยุโรป ไปจนถึงการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การเป็นพันธมิตรกันระหว่างจีนและรัสเซียนั้น ไม่เหมือนกับความสัมพันธ์ใดๆ ที่สหรัฐฯสามารถอวดอ้างได้ว่ามีอยู่กับพวกหุ้นส่วนฝ่ายตะวันตกของตนไม่ว่ารายไหนก็ตามที บันทึกสรุปของทั้งสองฝ่ายถึงสิ่งที่ สี และ ปูติน พูดเอาไว้ระหว่างการหารือเมื่อวันพุธ (15 ธ.ค.) สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ได้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202112/t20211215_10470186.html และที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/67364) หัวใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า การเป็นพันธมิตรระหว่างจีนกับรัสเซียมีคุณภาพเหนือชั้นกว่าระบบพันธมิตรตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ แม้กระทั่งเมื่อพิจารณาจากเรื่องความสอดคล้องกับยุคสมัยเพียงประการเดียวเท่านั้น

วอชิงตันไม่สามารถหยิบยกความสัมพันธ์ที่ตนเองมีอยู่กับพันธมิตรไม่ว่ารายใดก็ตาม มาเปรียบเทียบแข่งขันด้วยได้เลย อย่างที่กรณีความผิดพลาดชนิดเซ่อซ่าในกรณีการจัดตั้งกลุ่ม “ออคัส” (AUKUS)
เมื่อเร็วๆ นี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมาก คณะบริหารไบเดนจึงกำลังพยายามหันไปอวดโอ่แบบพูดความจริงแค่บางส่วนว่า สหรัฐฯนั้นมี “พันธมิตร” มากกว่าที่จีนและรัสเซียจะสามารถนับได้

ความเคารพซึ่งกันและกันและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ในการเป็นพันธมิตรระหว่างจีนกับรัสเซีย  กำลังส่งผลสะเทือนอย่างสม่ำเสมอต่อความมั่นคงของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพียงเหตุบังเอิญหรือมีอะไรลึกซึ้งกว่านั้นก็ตามที ในวันเดียวกับที่ สี กับ ปูติน หารือกันแบบเสมือนจริง
เลขาธิการสภาความมั่นคงของรัสเซีย นิโคไล ปาตรูเชฟ (Nikolay Patrushev) พร้อมด้วยคณะผู้แทนระดับสูงซึ่งเป็นตัวแทนของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย, สำนักงานความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐ (Federal Security Service), กระทรวงการต่างประเทศ, และสำนักงานเพื่อความร่วมมือทางการทหาร-เทคนิคแห่งสหพันธรัฐ (the Federal Service for Military-Technical Cooperation) ก็อยู่ในภารกิจ “เยือนพร้อมกับปฏิบัติงาน” ที่กรุงพนมเปญ

บันทึกสรุปผลการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาของฝ่ายรัสเซีย กล่าวเอาไว้ว่า “ประเด็นปัญหาเรื่องความร่วมมือทางการทหาร และปฏิสัมพันธ์ทางการทหารในเส้นทางแห่งการต่อต้านการก่อการร้ายก็ถูกหยิบยกมารือกัน ทั้งสองฝ่ายชี้ว่าความร่วมมือกันตามแนวทางของโครงสร้างทางอำนาจ และตามแนวทางของหน่วยงานพิเศษต่างๆ ถือเป็นหนึ่งในรากฐานแห่งความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างรัสเซียกับกัมพูชา”

กัมพูชานั้นเป็นหนึ่งในเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของจีน และก็เป็นหุ้นส่วนอาเซียนที่สำคัญรายหนึ่ง
ฐานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของกัมพูชาเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ฐานทัพนาวีเรียม (Ream Naval Base) ที่อ่าวไทย คือฐานทัพทางทหารใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://amti.csis.org/changes-underway-at-cambodias-ream-naval-base/)

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม วอชิงตันประกาศดำเนินการแซงก์ชั่นครั้งใหม่ต่อกัมพูชา ซึ่งก็รวมถึงการห้ามจัดส่งอาวุธอเมริกันไปให้ เพื่อเป็นการตอบโต้ที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีอิทธิพลสูงในกัมพูชา (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.commerce.gov/news/press-releases/2021/12/commerce-adds-export-controls-cambodia-address-corruption-human-rights) การไปเยือนของปาตรูเชฟ เกิดขึ้นภายหลังการแซงก์ชั่นดังกล่าวประมาณ 1 สัปดาห์

ตัวแทนของฝ่ายกัมพูชาที่มาเจรจากับ ปาตรูเชฟ ในพนมเปญ ได้แก่ พลเอกฮุน มาเนต (Hun Manet) ผู้มีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการของกองทัพบกกัมพูชา รวมทั้งเป็นผู้บัญชาการของหน่วยรบพิเศษ และกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายของประเทศ ฮุน มาเนต ผู้นี้คือบุตรชายคนโตของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา

กล่าวโดยสรุป กัมพูชากลายเป็นแม่แบบอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การเป็นพันธมิตรระหว่างจีนกับรัสเซียนั้นมีรูปร่างลักษณะอย่างไรได้บ้าง รูปร่างลักษณะของความเป็นพันธมิตรทำนองเดียวกันนี้ยังกำลังปรากฏให้เห็นในกรุงเวียนนา ณ การประชุมกับอิหร่านเพื่อทำข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://iranpress.com/content/51248/iran-russia-and-china-negotiators-confer-vienna)
สิ่งเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วเช่นกันในเรื่องเกาหลีเหนือ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.newsweek.com/china-russia-take-korea-issue-together-amid-uncertainty-over-bidens-approach-1598771) แน่นอนล่ะ สิ่งเดียวกันนี้ยังปรากฏให้เห็นชัดเจนมากๆ ในอัฟกานิสถาน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.globaltimes.cn/page/202110/1236854.shtml)

ในความเป็นจริง รัฐมนตรีต่างประเทศ เอส. ชัยศังกร (S. Jaishankar) ของอินเดีย พูดเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ ณ การหารือ รัสเซีย-อินเดีย-จีน (Russia-India-China หรือ RIC) ระดับรัฐมนตรีว่า มีความจำเป็นที่ประเทศต่างๆ ใน RIC จะต้องร่วมมือประสานงานกัน เกี่ยวกับวิธีการของพวกเขาในการรับมือกับภัยคุกคามของการก่อการร้าย, กระบวนการทำให้เกิดพวกหัวรุนแรงขึ้นมา, และการค้ายาเสพติด

เป็นอันชัดเจนว่า แม้กระทั่งในอินเดีย ซึ่งถูกฝ่ายอเมริกันโหมกระหน่ำปั่นหัวไม่หยุดหย่อนในเรื่องที่ว่าการเป็นพันธมิตรระหว่างจีนกับรัสเซียจะทำให้เกิดผลพวงต่อเนื่องในทางลบต่อความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย ในวันนี้ก็ยังเกิดความประทับใจขึ้นมาว่า การเป็นพันธมิตรนี้คือปัจจัยประการหนึ่งของสันติภาพและเสถียรภาพระดับโลก ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม รัสเซีย, จีน, และอินเดีย จึงได้ยื่นเสนอร่างญัตติฉบับหนึ่งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับความช่วยเหลือที่จะให้แก่ภูมิภาคซาเฮล (Sahel region) ในแอฟริกา ซึ่งการเข้าไปแทรกแซงของฝ่ายตะวันตก ณ ที่นั้น ได้ก่อให้เกิดผลสะท้อนกลับด้านลบอย่างเตะตา อย่างที่ได้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วทั้งในอัฟกานิสถาน, อิรัก, ซีเรีย, ลิเบีย, หรือ เยเมน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://tass.com/world/1374927)

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ กลุ่มพันธมิตรทางทหารกำลังกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นไปเสียแล้วในโลกยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 เมื่อวัตถุประสงค์ของการเปิดพื้นที่ว่างให้แก่ระเบียบโลกซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถเป็นหลักประกันความมั่นคงและอำนาจอธิปไตยให้แก่ประเทศต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก รวมทั้งเพิ่มความเข้มข้นจริงจังให้แก่ระบบโลกชนิดที่ประกอบด้วยหลายๆ ขั้ว (ซึ่งกำลังเริ่มปรากฏให้เห็นกันอยู่แล้วนั้น) สามารถที่จะทำให้กลายเป็นความจริงขึ้นมาได้เช่นกัน โดยใช้วิธีการสันติผ่านการดำเนินการทางการทูต

อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องติดคำเตือนตัวโตๆ เอาไว้ตรงนี้ด้วย ปูตินนั้นได้แลกเปลี่ยนหารือกับสี ถึงข้อเสนออย่างเฉพาะเจาะจงต่างๆ ที่รัสเซียได้ส่งให้ฝ่ายอเมริกัน โดยเป็นข้อเสนอที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการค้ำประกันซึ่งมีผลทางกฎหมายสำหรับให้รัสเซียมีความมั่นใจเกี่ยวกับความมั่นคงของตน ตามรายงานชิ้นหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในสื่อ “อิซเวสเตีย” (Izvestia) ของฝ่ายรัสเซียในวันพฤหัสบดี (16 ธ.ค.) ประเด็นหลักๆ ที่บรรจุเอาไว้ในจดหมายยื่นให้แก่ฝ่ายอเมริกันนี้ มุ่งโฟกัสไปที่ “ความพยายามของสหรัฐฯและนาโต้ ในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการทหาร-ทางการเมืองในยุโรป เพื่อให้พวกตนเป็นฝ่ายได้เปรียบ”

ตรงนี้เองที่มีปัญหาสำคัญมาก ประเด็นที่ฝ่ายรัสเซียเรียกร้องให้มีการค้ำประกันซึ่งมีผลทางกฎหมายด้วยตรงนี้ ในทางเป็นจริงแล้วย่อมส่งผลในลักษณะที่จะต้องแก้ไขสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือปี 1949 (the1949 North Atlantic Treatyดูเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.nato.int/cps/en/natolive/official_texts_17120.htm) ซึ่งเป็นเอกสารที่นิยามขนาดขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของกลุ่มพันธมิตรนาโต้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะพูดแต่จะทำให้สำเร็จได้ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากจำเป็นต้องได้ฉันทามติจากพวกชาติพันธมิตรนาโต้ทุกๆ ราย โดยที่ในสหรัฐฯก็ต้องได้รับการรับรองอนุมัติจากรัฐสภาอเมริกัน

นอกจากนั้นแล้ว ประวัติผลงานในอดีตที่ผ่านมาของวอชิงตันในเรื่องการเคารพปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งหลาย ก็ชวนให้เกิดความระแวงสงสัยอย่างสูง ด้วยเหตุนี้ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะคลี่คลายออกมาอย่างไรจึงยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าจับตามองกันต่อไป และการเป็นพันธมิตรระหว่างรัสเซีย-จีน ก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับเรื่องนี้อย่างชนิดแกะไม่ออก

(เก็บความจากเว็บไซต์indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่https://www.indianpunchline.com/a-sino-russian-military-alliance-is-gratuitous-as-of-now/)


เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก



กำลังโหลดความคิดเห็น