ผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดน เปิดศึก 2 ด้านทั้งการเมือง การค้า การกีฬากับ 2 ชาติมหาอำนาจพร้อมกัน เหมือนอยากแสดงให้เห็นว่าถึงจะแก่ แต่เสือเฒ่ายังพร้อมเผชิญกับวิกฤต เพื่อรักษาศักดิ์ศรีผู้นำโลกเสรีซึ่งกำลังสูญเสียบารมีในกลุ่มที่เป็นพันธมิตร
สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรทางการทูตในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพต้นปีหน้า โดยจะไม่ส่งตัวแทนภาครัฐเข้าร่วม แต่จะมีนักกีฬาเข้าร่วมเพื่อไม่ให้เสียโอกาส เพราะได้ทำการฝึกซ้อมมาเพื่อการแข่งขันครั้งนี้
สหรัฐฯ อ้างว่าการคว่ำบาตรทางการทูตเพื่อตอบโต้จีนที่ใช้มาตรการต่างๆ เล่นงานชุมชนอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง ปัญหากับไต้หวัน การปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกง และการยึดครองทิเบต รวมทั้งปัญหาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ของจีน
ฝ่ายตัวแทนของจีนก็ประกาศว่าจะมีมาตรการตอบโต้เช่นกัน แต่ยังไม่ระบุ ทั้งยังบอกว่าฝ่ายจีนยังไม่ได้ออกหนังสือเชิญตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ สื่อจีนและตัวแทนทูตก็บอกว่าถ้าสหรัฐฯ ไม่มาก็ไม่มีปัญหา ไม่ได้สร้างผลกระทบแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศมาโดยตลอดว่าจะคว่ำบาตรทางการทูต และชักชวนให้พันธมิตรทำตาม ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ 2 ที่ประกาศคว่ำบาตรทางการทูตเช่นกัน ซึ่งไม่น่าประหลาดใจ เพราะออสเตรเลียมีปัญหาด้านการค้ากับจีนอยู่
ผู้นำออสเตรเลีย สกอตต์ มอร์ริสัน ถูกมองว่าเป็นลูกไล่ของสหรัฐฯ มาโดยตลอดและเป็นชาติแรกที่เรียกร้องตามสหรัฐฯ ให้มีการสอบสวนต้นตอของการระบาดของโควิด-19 ในอู่ฮั่น ทำให้จีนตอบโต้โดยหยุดสั่งสินค้าต่างๆ จากออสเตรเลีย
สินค้าที่ส่งไปจีนมีมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบอย่างแรง
จีนยังห้ามไม่ให้นักศึกษาจีนหลายแสนคนกลับไปเรียนต่อในออสเตรเลีย ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งขาดรายได้ ทำให้ประสบวิกฤตทางการเงินรุนแรง
การตัดสินใจเดินตามสหรัฐฯ จะทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างออสเตรเลียกับจีนมีปัญหาต่อไป จะทำให้นายมอร์ริสันมีปัญหาทางการเมือง เมื่อภาคธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรไม่สามารถหาตลาดทดแทนได้
ยังเหลือแคนาดาและอังกฤษซึ่งยังไม่ตัดสินใจว่าจะคว่ำบาตรทางการทูตตามสหรัฐฯ หรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้มีท่าทีอยากเดินตามสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนดูเหมือนจะดีขึ้นเมื่อไบเดนเจรจาผ่านวิดีโอกับผู้นำจีน สี จิ้นผิงเดือนก่อน
ปัญหาการค้ายังจะเป็นเรื่องใหญ่ บริษัทไฮเทคของจีนยังถูกกีดกันในสหรัฐฯ ทำให้หลายบริษัทถอนตัวออกจากตลาดหุ้นนิวยอร์ก ตามแรงบีบของรัฐบาลจีนด้วย นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังเพิ่มบทบาทในพื้นที่ทะเลจีนใต้ด้วยนโยบายปิดล้อมจีน
โอกาสที่ 2 ประเทศจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้ดีกันเหมือนแต่ก่อนจึงดูยาก เพราะไบเดนเกรงว่าจะโดนโจมตีโดยโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเปิดฉากสงครามการค้ากับจีน สร้างปัญหาอย่างแรงด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบไปหลายประเทศด้วย
ปัญหาการคว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิกคงไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะในปี 2028 สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกในลอสแองเจลิส และออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพในปี 2032
ต้องดูว่าในงานที่สหรัฐฯ และออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพ จีนจะเอาคืนหรือไม่
ไม่มีคำอธิบายชัดเจนว่าทำไมไบเดนจึงเน้นสร้างปัญหานอกประเทศ ขณะที่ในประเทศก็มีปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรัง ปัญหาด้านงบประมาณ ความนิยมเริ่มถดถอย การระบาดของโควิด-19 ยังไม่หายขาดทั้งยังมีโอมิครอนระบาดไปกว่า 15 ประเทศ
ล่าสุด ไบเดนสำแดงพลังกับรัสเซีย พร้อมมาตรการสารพัดเพื่อตอบโต้
ไบเดนเปิดฉากเจรจากับผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน วันอังคาร พร้อมขู่ฟ่อๆ ว่าจะมีมาตรการเข้มข้นในการตอบโต้ถ้ารัสเซียส่งกำลังทหารบุกเข้ายูเครนซึ่งกำลังมีปัญหาการสู้รบกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนซึ่งมีพื้นที่ติดกับรัสเซีย
ข่าวกรองของสหรัฐฯ ระบุว่ามีทหารรัสเซียประมาณ 1.75 แสนคนชุมนุมอยู่ตามพรมแดนติดกับยูเครน มีหน่วยกำลังบำรุง อาหารพร้อมอยู่ได้ประมาณ 7-10 วัน
ในการเจรจากับปูติน ไบเดนยังแสดงท่าทีว่ามาตรการต่างๆ ในการตอบโต้นั้นมีทั้งการปิดกั้นทางการเงิน ระบบสวิฟต์เคลียริ่งเพื่อชำระการซื้อสินค้าและธุรกรรมทางการเงิน การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างรูเบิลของรัสเซียกับเงินตราสกุลอื่นๆ
นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังไม่สนับสนุนให้ยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะเยอรมนีซื้อก๊าซผ่านระบบท่อ ถ้ามีปัญหาความขัดแย้ง ก็พร้อมจะสั่งให้ปิดท่อก๊าซได้ แต่ท่าทีเช่นนี้ยังไม่มีประเทศใดในกลุ่มพันธมิตรนาโต้แสดงท่าทีว่าเห็นด้วยกับไบเดนหรือไม่
ไบเดนยังพร้อมที่จะส่งอาวุธเพื่อช่วยเหลือยูเครน และส่งทหารเข้าไปประจำการเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศภาคีองค์การนาโต เพื่อแสดงให้เห็นว่าเอาจริง
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง นายเจค ซัลลิแวน ยังเตือนว่าท่าทีคุกคามของรัสเซียจะทำให้สหรัฐฯ ไม่นิ่งเฉยเหมือนกรณีที่รัสเซียผนวกแหลมไครเมียของยูเครนในปี 2014
ปูตินย้ำกับไบเดนในการเจรจาประมาณ 2 ชั่วโมงว่าทหารรัสเซียจะไม่บุกเข้ายูเครน แต่ต่อรองว่าสหรัฐฯ จะต้องไม่พยายามชักนำประเทศในยุโรปตะวันออก เช่นยูเครนเข้าสังกัดในภาคี สนธิสัญญานาโต เพื่อเป็นการคุกคามรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ผู้นำยูเครน นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ อ้างว่ามีความพยายามรัฐประหารยึดอำนาจในยูเครน โดยรัสเซียอยู่เบื้องหลัง แต่ปูตินปฏิเสธ
โลกกำลังเฝ้าดูว่าวิกฤตระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและรัสเซียจะเลวร้ายกว่านี้หรือไม่