มาตรการรวมหนี้ของแบงก์ชาติ คุมสถาบันการเงิน บล.เคทีบีเอสที เชื่อกลุ่มแบงก์ยังคงเน้นปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว คงน้ำหนักการลงทุนเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก SCB เป็น Top pick แต่มองลบเล็กน้อยกลุ่มไฟแนนซ์ โดยเฉพาะกลุ่มบัตรเครดิต ส่วน บล.ทิสโก้ คาดกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลกระทบจำกัด SCB แนวโน้มได้รับประโยชน์สูงสุดในฐานะผู้ให้กู้มีหลักประกันรายใหญ่ที่สุด ขณะแบงก์ชาติยกเว้นค่าธรรมเนียมการทําธุรกรรม คาดหนุนให้มีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนของประชาชนที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้สถาบันการเงินที่ให้บริการด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นๆ ของรัฐและเอกชนได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในปี 2564 และสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยเล็งเห็นว่าการออกมาตรการดังกล่าวทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ได้ปรับปรุงมาตรการการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ได้รับดอกเบี้ยลดลงจากเดิม ลดวงเงินค่างวดให้ผ่อนชำระในระหว่างฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 โดย ขยายขอบเขตให้รวมหนี้ข้ามสถาบันการเงิน ข้ามไปยังผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) และธนาคารรัฐได้ จากเดิมรวมหนี้ได้เฉพาะหนี้สถาบันการเงินเดียวกัน คาดเริ่มใช้สิ้นเดือน ธ.ค.64-31 ธ.ค.66
พร้อมปรับวิธีการรวมหนี้ตามแนวทางใหม่ โดยทำได้ 3 แนวทางคือ การนำหนี้รายย่อยจากสถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์อื่นมารวมกับหนี้ของสถาบันการเงินที่ลูกหนี้มีสินเชื่อบ้านอยู่ โดยรีไฟแนนซ์สินเชื่อรายย่อย ปิดยอดจากที่เดิม แล้วมารวมกับสินเชื่อบ้านที่มีอยู่ อีกทั้งให้นำหนี้บ้านจากสถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์อื่นมารวมกับสินเชื่อรายย่อยที่มีอยู่ โดยให้รีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน ปิดยอดจากที่เดิมมารวมได้ และสุดท้ายรีไฟแนนซ์ทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรายย่อยจากสถาบันการเงินเดิมมารวมในสถาบันการเงินใหม่ โดยหลักการรวมหนี้ วงเงินสินเชื่อใหม่ที่รวมกันต้องต่ำกว่าราคาบ้านที่ใช้เป็นหลักประกัน
นอกจากนี้ ยังกำหนดอัตราดอกเบี้ยหลังจากรวมหนี้ไว้ด้วย เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับดอกเบี้ยที่ลดลงจากเดิม เพราะมีบ้านเป็นหลักประกันแล้ว โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้คิดดอกเบี้ยไม่เกินดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม ส่วนสินเชื่อรายย่อยที่นำมารวมหนี้ หากเคยคิดที่ 16-28% ให้กำหนดดอกเบี้ยใหม่ได้ไม่เกินดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย บวก 2% ต่อปี เช่น หากดอกเบี้ยบ้าน 6% ให้คิดได้ไม่เกิน 8% ส่วนกรณีที่รับโอนสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่น ให้คิดดอกเบี้ยบ้านตามความเสี่ยงของลูกหนี้ และบวกเพิ่มไม่เกิน 2% สำหรับสินเชื่อรายย่อย
ทั้งนี้ การรวมหนี้ที่ดำเนินการภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการ คาดสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะทยอยเสนอผลิตภัณฑ์การรวมหนี้ได้ในสิ้นเดือน ธ.ค.2564 ซึ่งลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงินโดยตรงเพื่อสมัครเข้าร่วมมาตรการ และภายใต้มาตรการดังกล่าวครั้งนี้ แบงก์ชาติขอให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจเร่งดำเนินการเพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ ตลอดจนกำหนดค่างวดการผ่อนชำระของลูกหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ในสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งลูกหนี้สามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้
บล.เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวเพิ่มเติมเมื่อ 23 พ.ย.ที่ผ่านมาด้วยการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้ โดยทาง ธปท. สนับสนุนให้สถาบันการเงินทำการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยให้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.66 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1) ปรับปรุงแนวทางการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) โดยขยายขอบเขตให้สามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงิน จากเดิมที่สามารถรวมหนี้ได้เฉพาะหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกัน โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นอัตราที่ใช้หลังการส่งเสริมการขาย (teaser rate) บวก 2% ต่อปี
2) ห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ ทาง KTBST มีมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มธนาคาร ขณะที่มองเป็นลบเล็กน้อยต่อกลุ่ม Finance (Unsecured loan) จากการรวมหนี้ต่างสถาบันการเงิน
มุมมองกลุ่มแบงก์เป็นกลาง SCB เด่น
โดยกลุ่มธนาคารมีมุมมองเป็นกลาง โดยการรวมหนี้ข้ามธนาคารได้เป็นเพียงการสนับสนุนจาก ธปท. ไม่ได้มีการบังคับให้ทุกธนาคารต้องทำตาม ซึ่งคาดว่ามีโอกาสเกิดยาก เพราะจะทำให้สูญเสีย Loan yield ไปมาก อิงจากประกาศข้างต้นคิดอัตราดอกเบี้ยที่ MRR+2% หรือที่ราว 8% ซึ่งต่างจากอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ 16% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 25% แต่แลกกับการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง และทำให้ลูกหนี้มีความสามารถในการจ่ายหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มี NPL ลดลงได้ในอนาคต
ธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อบ้านในสัดส่วนที่สูง อย่าง SCB (สินเชื่อบ้าน 30%) TTB (สินเชื่อบ้าน 22%) และ KTB, KBANK (สินเชื่อบ้าน 17%) น่าจะเห็นการไหลเข้าของสินเชื่อเพื่อขอรวมหนี้ได้บ้างขึ้นอยู่กับ Loan to value (LTV) ด้วยว่าปัจจุบันให้เกิน LTV แล้วหรือยัง
อย่างไรก็ดี เชื่อว่ากลุ่มธนาคารจะยังคงเน้นการปรับโครงสร้างหนี้เป็นระยะยาวมากกว่า ส่วนประเด็นเรื่องไม่เก็บ prepayment feeKTBST คาดว่าผลกระทบน้อยเพราะไม่ใช่รายได้ค่าธรรมเนียมหลักของกลุ่มธนาคาร และธนาคารได้ทำการยกเว้นค่าปรับนี้ให้ลูกค้าบางรายอยู่แล้ว ทั้งนี้ KTBST ยังคงน้ำหนักการลงทุนเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก SCB (ซื้อ/เป้า 150.00 บาท) เป็น Top pick
มองลบกลุ่มบัตรเครดิต กลุ่มสินเชื่อเป็นกลาง
กลุ่มไฟแนนซ์มีมุมมองเป็นกลางถึงลบเล็กน้อยต่อกลุ่ม Finance โดย KTBST มองเป็นกลางสำหรับกลุ่มสินเชื่อ Auto backed loan (MTC, SAWAD, TIDLOR) เนื่องจาก KTBST ประเมินว่าลูกหนี้กลุ่มนี้จะเป็นลูกหนี้รายย่อย ที่มีอาชีพอิสระ หรือกลุ่มรากหญ้า ทำให้มีฐานะ หรือเงินกู้ยืมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถเอามารวมหนี้ได้ต่ำ ส่วนกลุ่ม Unsecured loan (AEONTS และ KTC) อาจได้รับผลกระทบเชิงลบเล็กน้อย โดย KTBST ประเมินว่าลูกหนี้กลุ่มนี้มีโอกาสที่จะมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์กับสถาบันการเงินที่สูง ทำให้ลูกหนี้จะโอนย้ายสินเชื่อไปสถาบันการเงินอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ส่งผลกระทบต่อสินเชื่อ รายได้ดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง
ขณะประเด็นเรื่อง prepayment fee นั้น KTBST มองผลกระทบที่จำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น MTC, TIDLOR รวมทั้งสินเชื่อ Unsecured loan ไม่มีการคิด prepayment fee ทั้งนี้ สำหรับกลุ่ม Finance คงน้ำหนักการลงเป็น "เท่ากับตลาด" top pick เป็น SINGER (ซื้อ/เป้า 47.00 บาท)
บล.ทิสโก้ จำกัด คาดว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลกระทบจำกัดจากโครงการรวมหนี้ไม่มีหลักประกันกับหนี้มีหลักประกันระหว่างธนาคาร โดย ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์สูงสุดในฐานะผู้ให้กู้มีหลักประกันรายใหญ่ที่สุด โดยประกอบด้วยสินเชื่อบ้าน 30% และสินเชื่อรถ 10%
สำหรับรวมหนี้ครั้งนี้ลูกหนี้สามารถแปลงสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เป็นสินเชื่อมีหลักประกันได้ โดยจะเป็นการนำสินเชื่อไม่มีหลักประกันผูกเข้ากับสินเชื่อบ้านเพื่อให้ได้รับดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยสินเชื่อที่มีหลักประกัน ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่มีหลักประกันที่คิดดอกเบี้ย 16-35% ลดเหลือไม่เกิน10% ทำให้ยอดชำระรวมต่อเดือนจะลดลงเช่นกัน เนื่องจากเงินกู้จำนองมีระยะเวลานานกว่าโดยสูงสุด 30 ปี (สูงสุด 5 ปี สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และ 20 เดือนสำหรับบัตรเครดิตหากชำระผ่อนต่องวดต่ำสุด) นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังยกเว้นค่าธรรมเนียมการทําธุรกรรมบางอย่างเพื่อสนับสนุนการเข้าโครงการดังกล่าวด้วย
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่มักจะมีทั้งสินเชื่อไม่มีหลักประกันและสินเชื่อจำนองในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน อย่างเช่น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ดังนั้น คาดจะไม่เห็นจำนวนสินเชื่อไม่มีหลักประกันไหลออกอย่างมีนัย ทั้งนี้ ไม่มีรายละเอียดสินเชื่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เนื่องจากธนาคารรายงานเฉพาะยอดสินเชื่อค้าปลีกทั้งหมด (3.15 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาสที่ 2/2564) แต่เชื่อว่าสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้านทำให้ความเสี่ยงต่อสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันอยู่ในระดับต่ำและอาจได้รับประโยชน์ไปด้วย แนะนำให้ "ซื้อ" SCB โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 136 บาท และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ราคาเป้าหมาย 1.51 บาท
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบโดยรวมน่าจะยังน้อย คาดมีผู้เข้าร่วมโครงการต่ำ และคาดว่าธนาคารที่ให้กู้แบบไม่มีหลักประกันจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้แทน นอกจากนี้่ ลูกหนี้บางรายอาจกังวลการรวมสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันกับมีหลักประกันเข้าด้วยกันอาจทำให้ถูกยึดหลักประกันง่ายขึ้น หากผิดนัดชำระหนี้รวมก้อน ต่างจากเดิมที่หากผิดนัดชำระหนี้ไม่มีหลักประกันก็จะไม่กระทบต่อหลักประกันในหนี้สินเชื่อบ้าน
เนื่องจากปกติแล้วจะไม่มีการตามยึดหลักประกันผ่านกระบวนการทางกฎหมาย จากค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดของสินเชื่อคุณภาพ สินทรัพย์โดยรวมยังมีความแข็งแกร่งอย่างน่าประหลาดใจ ขณะสัดส่วนสินเชื่อพักชำระยังคงต่ำตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แม้จะเผชิญการระบาดระลอก 3 สินเชื่อภายใต้การช่วยเหลือทั้งหมดเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% เป็น 14.4% ในเดือนกรกฎาคม ตั้งแต่เดือนมิถุนายนทำให้คาดว่าความต้องการเข้าร่วมโครงการจะยังต่ำ
ขณะที่ มาตรการดังกล่าวไม่ใช่มาตรการใหม่ เพราะโครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากมีอุปสรรคสำคัญอย่างสินเชื่อต่างๆ ต้องอยู่ในธนาคารเดียวกัน ซึ่งคาดการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ครั้งนี้จะทำให้มีผู้เข้าร่วมมากขึ้น
ด้านธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK) ออกมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (Debt Consolidation) โดยปรับลดอัตรากำไรและขยายระยะเวลาผ่อนชำระ พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบุคคลของธนาคารตามมาตรการแบงก์ชาติ ซึ่งมาตรการ Debt Consolidation เป็นมาตรการที่ IBANK ช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบุคคลของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามการค้า หรือภัยธรรมชาติ ในการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่างวดให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมมาตรการต้องเป็นลูกหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและเป็นลูกหนี้สินเชื่ออเนกประสงค์แบบไม่มีหลักประกันกับธนาคารที่ยังคงมีศักยภาพในการชำระหนี้ ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยการนำสินเชื่ออเนกประสงค์แบบไม่มีหลักประกันที่มีภาระหนี้คงเหลือไม่เกินส่วนต่างของมูลค่าหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มารวมกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และปรับลดอัตรากำไรสินเชื่ออเนกประสงค์จากเดิม SPRR +12% ตลอดอายุสัญญา คิดอัตรากำไรใหม่เท่ากับ SPRR ตามประกาศธนาคาร (ปัจจุบัน SPRR = 8.00 ต่อปี) พร้อมขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไปไม่เกิน 5 ปี จากสัญญาคงเหลือเดิม และไม่เกินระยะเวลาคงเหลือตามสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ นอกจากนี้้ ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการจะได้รับการยกเวนค่าธรรมเนียมนิติกรรมสัญญา ค่าธรรมเนียมชำระคืนเสร็จสิ้นก่อนครบกำหนดอายุสัญญา (Prepayment Fee)
ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า เรื่องมาตรการรวมหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น ตามปกติพอร์ตของ KTC หากลูกค้ามีการผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 6 เดือน จะมีการตัดออกจากพอร์ตอยู่แล้ว ส่วนที่ยังไม่ถึงหรือมีการจ่ายไม่สม่ำเสมอนั้นอยู่ในการดูแลอยู่แล้ว ซึ่งเราคงจะไม่ได้นำส่วนของสถาบันการเงินอื่นมารวมเนื่องจากเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน แต่สถาบันการเงินอื่นจะนำหนี้ KTC ไปรวมก็ไม่มีปัญหาถ้าจะทำให้สถานะโดยรวมของหนี้ดีขึ้น