xs
xsm
sm
md
lg

กูรู มองลบหุ้นไฟแนนซ์ หลัง ธปท.ออกมาตรการรวมหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เคทีบีเอสที ประเมินผลกระทบแบงก์ - ไฟแนนซ์ หลังธปท.ออกมาตรการรวมหนี้ มองกลุ่มแบงก์เป็นกลาง เหตุเป็นเพียงขอความร่วมมือ ไม่ได้บังคับให้ทุกแบงก์ต้องทำตาม และเชื่อกลุ่มแบง์ยังคงเน้นปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวมากกว่า ดังนั้นยังคงน้ำหนักการลงทุนเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก SCB เป็น Top pick แต่มองลบเล็กน้อยในกลุ่มไฟแนนซ์ โดยเฉพาะกลุ่มบัตรเครดิต

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จาก บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวเพิ่มเติม วานนี้ (23 พ.ย.) ด้วยการรีไฟแนนซ์ และการรวมหนี้ โดยทางธปท. สนับสนุนให้สถาบันการเงินทำการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยให้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.66 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1) ปรับปรุงแนวทางการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) โดยขยายขอบเขตให้สามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงิน จากเดิมที่สามารถรวมหนี้ได้เฉพาะหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกัน โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นอัตราที่ใช้หลังการส่งเสริมการขาย (teaser rate) บวก 2% ต่อปี   

2) ห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นการชั่วคราว   

ทั้งนี้ทาง KTBST มีมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มธนาคาร ขณะที่มองเป็นลบเล็กน้อยต่อกลุ่ม Finance (Unsecured loan) จากการรวมหนี้ต่างสถาบันการเงิน

มุมมองกลุ่มแบงก์เป็นกลาง หนักมากกว่าตลาด เชียร์ SCB

โดยกลุ่มธนาคาร มีมุมมองเป็นกลาง โดยการรวมหนี้ข้ามธนาคารได้เป็นเพียงการสนับสนุนจาก ธปท. ไม่ได้มีการบังคับให้ทุกธนาคารต้องทำตาม ซึ่งคาดว่ามีโอกาสเกิดยาก เพราะจะทำให้สูญเสีย Loan yield ไปเยอะ อิงจากประกาศข้างต้นคิดอัตราดอกเบี้ยที่ MRR+2% หรือที่ราว 8% ซึ่งต่างจากอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ 16% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 25% แต่ก็แลกกับการตั้งสำรองฯที่ลดลง และทำให้ลูกหนี้มีความสามารถในการจ่ายหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มี NPL ที่จะลดลงได้ในอนาคต

ธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อบ้านในสัดส่วนที่สูง อย่าง SCB (สินเชื่อบ้าน 30%), TTB (สินเชื่อบ้าน 22%) และ KTB, KBANK (สินเชื่อบ้าน 17%) น่าจะเห็นการไหลเข้าของสินเชื่อเพื่อขอรวมหนี้ได้บ้างขึ้นอยู่กับ Loan to value (LTV) ด้วยว่าปัจจุบันให้เกิน LTV แล้วหรือยัง   

แต่อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่ากลุ่มธนาคารจะยังคงเน้นการปรับโครงสร้างหนี้เป็นระยะยาวมากกว่า ส่วนประเด็นเรื่องไม่เก็บ prepayment fee เราคาดว่าผลกระทบน้อยเพราะไม่ใช่รายได้ค่าธรรมเนียมหลักของกลุ่มธนาคาร และธนาคารได้ทำการยกเว้นค่าปรับนี้ให้ลูกค้าบางรายอยู่แล้ว ทั้งนี้เรายังคงน้ำหนักการลงทุนเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก SCB (ซื้อ/เป้า 150.00 บาท) เป็น Top pick

มุมมองลบเล็กน้อยกลุ่มบัตรเครดิต แต่กลุ่มสินเชื่อมองเป็นกลาง

กลุ่มไฟแนนซ์ มีมุมมองเป็นกลาง ถึงลบเล็กน้อยต่อกลุ่ม Finance โดยเรามองเป็นกลางสำหรับกลุ่มสินเชื่อ Auto backed loan (MTC, SAWAD, TIDLOR) เนื่องจากเราประเมินว่าลูกหนี้กลุ่มนี้จะเป็นลูกหนี้รายย่อย ที่มีอาชีพอิสระ หรือกลุ่มรากหญ้า ทำให้มีฐานะ หรือเงินกู้ยืมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถเอามารวมหนี้ได้ต่ำ

ส่วนกลุ่ม Unsecured loan (AEONTS และ KTC) อาจได้รับผลกระทบเชิงลบเล็กน้อย โดยเราประเมินว่าลูกหนี้กลุ่มนี้มีโอกาสที่จะมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์กับสถาบันการเงินที่สูง ทำให้ลูกหนี้จะโอนย้ายสินเชื่อไปสถาบันการเงินอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ส่งผลกระทบต่อสินเชื่อ, รายได้ดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง

ขณะที่ประเด็นเรื่อง prepayment fee เรามองผลกระทบที่จำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น MTC, TIDLOR รวมทั้งสินเชื่อ Unsecured loan นั้นไม่มีการคิด prepayment fee ทั้งนี้สำหรับกลุ่ม Finance คงน้ำหนักการลงเป็น "เท่ากับตลาด" top pick เป็น SINGER (ซื้อ/เป้า 47.00 บาท)


กำลังโหลดความคิดเห็น