มุกดาหาร - ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคอีสานพบปะสื่อมวลชนมุกดาหารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาทางการเงินแก่ประชาชน ย้ำ โครงการหมอหนี้ เป็นช่องทางให้คำแนะนำความรู้ และข้อมูลต่อการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร
วันนี้ (3 ธ.ค.) ณ ห้องประชุม สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดมุกดาหาร นายศรัณย์ ธำรงรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) พร้อมด้วยนางทัศนีย์ ตั้งพัฒนาศิริ ผู้อำนวยการ, นายรักศักดิ์ ธรรมแสง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ, นางพรนิภา สินโพธิ์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส, นางวันทา ศรีทา เจ้าหน้าที่งานอาวุโส, นายวัชรพงศ์ รัชตเวชกุล เศรษฐกรอาวุโส ลงพื้นที่พบปะสื่อมวลชนในจังหวัดมุกดาหาร แลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาทางการเงินแก่ประชาชน
โดยมี ว่าที่ ร.ต.กิติวรรณ มณีล้ำ ผอ.สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดมุกดาหาร และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม จำนวน 20 คน
นายศรัณย์ ธำรงรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ทำให้รายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการหายไปหรือลดลงเป็นอย่างมาก ลูกหนี้มีความยากลำบากในการชำระหนี้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ธปท. และผู้ให้บริการทางการเงินได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการออกมาตรการเพื่อให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน
ล่าสุด ธปท. กระทรวงการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (GFA) และสมาคมธนาคารไทย (TBA) ได้ร่วมกันจัดตั้ง “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน” เพื่อเป็นช่องทางให้คำแนะนำ ความรู้ และข้อมูลต่อการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การวิเคราะห์สถานะหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ การเตรียมตัวเจรจาแก้ไขหนี้ การเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องหรือลงทุน ปรับปรุงธุรกิจกลุ่มต่างๆ พร้อมการแนะนำเชิงลึกที่ตรงจุดผ่าน ธปท.สภอ.
ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ธปท.ได้เริ่มนำร่อง “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน” ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอี จัดให้ความรู้และคำปรึกษาเป็นรายกลุ่มไปแล้วจำนวน 940 ราย ซึ่งมีหลากหลายธุรกิจที่เข้ามารับคำปรึกษา เช่น กลุ่มการค้า บริการ ขนส่ง ภาคการผลิต และโรงแรม เป็นต้น
สำหรับโครงการ “หมอหนี้เพื่อประชาชน” จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. จะให้ความรู้เพื่อแก้ไขหนี้ผ่านเว็บไซต์ 1213 โดยลูกหนี้รายย่อยสามารถศึกษาข้อมูลด้วยตัวเอง ซึ่ง ธปท.ได้รวบรวมมาตรการและแนวทางต่างๆ แล้ว ไม่ว่าการแก้ไขหนี้ วางแผนด้านการเงิน และยังสามารถตรวจสุขภาพทางการเงินโดยสามารถได้รับการแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จไม่ต้องพบหมอหนี้ และ 2. ให้คำปรึกษาเชิงลึกสำหรับเอสเอ็มอี โดยสามารถลงทะเบียน กรอกข้อมูลเพื่อนัดพบหมอหนี้เพื่อขอคำแนะนำการวางแผน ทั้งแผนปรับโมเดลธุรกิจ แผนเพิ่มรายได้ แผนชำระหนี้
กรณีต้องการสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งมีช่องทางติดต่อทั้ง ธปท.สำนักงานใหญ่ และสำนักงานภาคอีก 3 แห่ง และสถาบันการเงินอีก 13 แห่ง แบ่งเป็น ธนาคารรัฐ 7 แห่ง และธนาคาพาณิชย์ 8 แห่ง และหลังจากนี้คาดว่าจะมีสถาบันการเงินเข้าร่วมมากขึ้น โดยปัจจุบันมี “หมอหนี้” คอยให้คำปรึกษากว่า 200 คน