“ไบเดน-ปูติน” ต่างเตรียมเข้าประชุมสุดยอดแบบเสมือนจริงกันด้วยการวางเดิมพันเอาไว้สูงมาก ผู้นำสหรัฐฯ ระบุจะโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีรัสเซียงดเว้นการบุกยูเครน โดยที่ตัวเขารีบเร่งหารือกับเหล่าพันธมิตรเกี่ยวกับแผนการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หากรัสเซียไม่ฟังคำทัดทาน
ในวันจันทร์ (6 ธ.ค.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ หารือกับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี นายกรัฐมนตรีมาริโอ ดรากี ของอิตาลี และนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ
ทำเนียบขาวแถลงว่า บรรดาผู้นำของกลุ่มพันธมิตรตะวันตกเหล่านี้เรียกร้องให้รัสเซียผ่อนคลายสถานการณ์และกลับสู่กระบวนการทางการทูต และย้ำว่า กลุ่มพันธมิตรของพวกเขาจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหารือกับพันธมิตรอื่นๆ ในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และกับพวกหุ้นส่วนในสหภาพยุโรป (อียู) เกี่ยวกับแนวทางการร่วมมือกันอย่างครอบคลุมทั่วด้าน
เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งในคณะบริหารของสหรัฐฯ เผยว่า ทีมงานของไบเดนยังระบุมาตรการที่จะใช้ลงโทษทางเศรษฐกิจชุดใหญ่ หากรัสเซียบุกยูเครน รวมถึงยังจะมีการส่งกำลังทหารไปเพิ่มในยุโรปตะวันออก อย่างไรก็ดี ไม่ได้ระบุว่าอเมริกาจะเข้าแทรกแซงทางทหารโดยตรง
แหล่งข่าววงในอีกคนสำทับว่า มีการหารือเกี่ยวกับมาตรการลงโทษซึ่งพุ่งเป้าที่พวกคนใกล้ชิดประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย แต่ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ขณะที่แหล่งข่าวอีกคนเสริมว่า คณะบริหารยังพิจารณามาตรการแซงก์ชันต่อบรรดาธนาคารใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ตลอดจนความสามารถในการแปลงเงินรูเบิลเป็นดอลลาร์และสกุลเงินอื่นๆ
ทางด้านเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า ปูตินตัดสินใจขั้นสุดท้ายเรื่องการบุกยูเครนหรือยัง
ทั้งนี้ การประชุมทางไกลผ่านจอภาพระหว่างไบเดนกับปูตินคราวนี้ คาดว่าจะเริ่มต้นในวันอังคาร เวลา 15.00 น. ตามเวลามาตรฐานเมืองกรีนิช (22.00 น. ตามเวลาไทย)
ยูเครนและพวกมหาอำนาจในนาโตกล่าวหารัสเซียสะสมกำลังทหารใกล้ชายแดนติดต่อกับยูเครน โดยที่ฝ่ายยูเครนประเมินว่า มีจำนวนถึงราว 100,000 นาย ทำให้เกิดความกังวลว่า อาจมีการบุกโจมตียูเครน ทว่า มอสโกปฏิเสธและกล่าวหาเคียฟว่า เป็นฝ่ายระดมกำลังไปที่ชายแดนด้านตะวันออก ซึ่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียเป็นผู้ควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่เอาไว้
รัสเซียยังกล่าวหาว่าตะวันตกพยายามยั่วยุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการซ้อมรบในทะเลดำ ซึ่งรัสเซียถือเป็นเขตอิทธิพลของตน
เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งในคณะบริหารของสหรัฐฯ เผยว่า ไบเดนจะเตือนปูตินว่า จะต้องเผชิญบทลงโทษทางเศรษฐกิจสถานหนักถ้าเปิดสงคราม
อเมริกานั้นพยายามเรียกร้องให้รัสเซียและยูเครนฟื้นข้อตกลงที่ลงนามในปี 2014 และ 2015 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยุติสงครามแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มติดอาวุธที่พูดภาษารัสเซียในยูเครนตะวันออก
อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียเข้าสู่การหารือท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปรองดองมากนัก
ที่มอสโก ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกวังเครมลิน กล่าวว่า การเจรจาจะมุ่งเน้นสิ่งที่รัสเซียมองว่า เป็นความพยายามของนาโตในการแผ่ขยายอิทธิพลประชิดพรมแดนรัสเซีย รวมทั้งในเรื่องการรับประกันความมั่นคงระยะยาวว่า นาโตจะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก และไม่ใช้อาวุธบางประเภทในประเทศที่อยู่ใกล้รัสเซีย ซึ่งรวมถึงยูเครน
นอกจากนั้น ยังคาดว่า ปูตินจะพูดถึงความเป็นไปได้ในการประชุมสุดยอดกับไบเดนอีกรอบ หลังจากพูดคุยโทรศัพท์กันครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม และพบปะกันจริงๆ ในการประชุมสุดยอดที่เจนีวาในเดือนมิถุนายน
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังกังวลกับสถานการณ์ในยูเครนและทะเลดำ โดยเมื่อวันศุกร์ (3) กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่า เครื่องบินขับไล่ของรัสเซียได้เข้าประกบเครื่องบินสอดแนมทางทหาร 2 ลำของอเมริกาเหนือทะเลดำ
ต่อมาในวันจันทร์ พลเอกไมค์ มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ได้ประชุมแบบเสมือนจริงกับผู้บัญชาการด้านกลาโหมทั้งหมดของนาโตเกี่ยวกับ “พัฒนาการด้านความมั่นคงที่สำคัญทั่วภาคพื้นยุโรป”
ขณะที่ สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกสหประชาชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ว่า การหารือระหว่างไบเดนกับปูตินมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากบริบทปัจจุบันของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)