xs
xsm
sm
md
lg

เยอรมนี-อิตาลีด่านแตกพบ“โอไมครอน” หลายชาติสั่งแบนเที่ยวบินจากแอฟริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - ยุโรปผวา พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ในหลายประเทศ ล่าสุดคือเยอรมนีและอิตาลี ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยกการ์ดป้องกันการระบาดครั้งใหม่ เช่น อังกฤษฟื้นคำสั่งสวมหน้ากากและตรวจเข้มนักเดินทางจากต่างประเทศหลังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ 2 คน ด้านหมอใหญ่ฟาวซีรับไม่แปลกใจถ้าโอไมครอนบุกอเมริกาแล้ว

ดร.แอนโทนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์เครือข่ายเอ็นบีซีเมื่อวันเสาร์ (27 พ.ย.) ว่า อเมริกายังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอไมครอน แต่ถ้าดูจากระดับความสามารถในการแพร่ระบาด เกือบจะเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์นี้แพร่ไปทั่วแล้ว

จากความกังวลว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีศักยภาพในการต้านทานประสิทธิภาพของวัคซีน ทั่วโลกจึงเริ่มวิตกมากขึ้นว่า โควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์อาจคงอยู่นานกว่าที่คาดไว้

ขณะนี้หลายประเทศเริ่มจำกัดเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้เพื่อซื้อเวลาสำหรับการประเมินว่า โอไมครอนจะมีความสามารถแพร่เชื้อสูงกว่าสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้หรือไม่

ที่อังกฤษ นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน กล่าวว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการระวังไว้ก่อนแบบกำหนดเป้าหมาย หลังพบผู้ติดโควิดสายพันธุ์ใหม่ 2 คน ซึ่งเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับการเดินทางจากแอฟริกาตอนใต้ โดยขณะนี้ผู้ติดเชื้อทั้งคู่รวมถึงครอบครัวเริ่มกักตัวที่บ้าน และเจ้าหน้าที่กำลังติดตามผู้สัมผัสโรคและเริ่มตรวจหาเชื้อแบบกำหนดเป้าหมาย

มาตรการใหม่ที่ผู้นำอังกฤษประกาศรวมถึงการกำหนดให้นักเดินทางทุกคนต้องรับการตรวจแบบพีซีอาร์ในวันที่ 2 หลังจากเดินทางถึงและต้องกักตัวจนกว่าจะได้ผลตรวจเป็นลบ สำหรับผู้ที่ตรวจพบติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ผู้สัมผัสใกล้ชิดต้องกักตัวด้วยนาน 10 วันไม่ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ก็ตาม จากเดิมที่ผู้สัมผัสใกล้ชิดที่ฉีดวัคซีนครบไม่จำเป็นต้องกักตัว

นอกจากนั้นรัฐบาลอังกฤษยังกำหนดให้สวมหน้ากากในร้านค้าและระบบขนส่งสาธารณะ จอห์นสันสำทับว่า ได้ขอให้กลุ่มนักวิจัยอิสระที่ให้คำปรึกษารัฐบาลอังกฤษเกี่ยวกับวัคซีนโควิดเร่งรัดโปรแกรมการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจรวมถึงการขยายโปรแกรมฉีดกระตุ้น และการลดช่วงห่างระหว่างเข็ม 2 กับเข็มกระตุ้น

นอกจากนั้นในวันอาทิตย์ (28 พ.ย.) อังกฤษยังเพิ่มแองโกลา มาลี โมซัมบิก และแซมเบีย ในบัญชีรายชื่อประเทศที่นักเดินทางต้องกักตัว เพิ่มเติมจาก 6 ประเทศที่ประกาศเมื่อวันศุกร์ (26 พ.ย.) ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี (ชื่อเดิมคือสวาซิแลนด์) เลโซโธ นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว

หลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา สหราชอาณาจักร (อียู) อิหร่าน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ไทย และอเมริกา เริ่มจำกัดการเดินทางจากประเทศต่างๆ ในแอฟริกาตอนใต้ โดยไม่ฟังคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เตือนว่า ไม่ควรตื่นตระหนกเกินไปจนกว่าจะมีการศึกษาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างละเอียด

อย่างไรก็ตาม แม้มีการแบนเที่ยวบิน แต่ยังคงมีความกังวลกันมากขึ้นว่า โอไมครอนแพร่ไปทั่วโลกแล้ว โดยอิตาลีและเยอรมนีคือสองประเทศล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อ

เคสในอิตาลีนั้นเป็นผู้ที่เดินทางจากโมซัมบิกถึงโรมเมื่อวันที่ 11 ที่ผ่านมา และเดินทางกลับบ้านในเนเปิลส์ ซึ่งอาศัยอยู่กับสมาชิกครอบครัว 5 คน รวมถึงลูกสาววัยเรียน 2 คนที่ตรวจพบติดเชื้อแล้ว คนทั้งหมดนี้กักตัวอยู่และมีอาการเพียงเล็กน้อย

นอกจากนั้นยังพบผู้ได้รับการยืนยันติดเชื้อในมิลาน ซึ่งฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว และกระทรวงสาธารณสุขอิตาลีสั่งให้ยกระดับการตรวจหาผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของโอไมครอนที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้

ที่เยอรมนี ผู้โดยสาร 2 คนบนเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้ที่มาถึงเมื่อวันที่ 24 ที่ผ่านมาได้รับการยืนยันติดเชื้อโอไมครอน

ขณะเดียวกัน สถาบันสุขภาพเนเธอร์แลนด์เผยว่า อาจพบไวรัสโอไมครอนในผู้เข้ารับการตรวจจำนวน 61 คนที่กักตัวหลังเดินทางถึงอัมสเตอร์ดัมเมื่อวันศุกร์จาก 2 เที่ยวบินจากแอฟริกาใต้ คาดว่า ผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมจะออกมาในวันอาทิตย์

ด้านอิสราเอลเผยว่า ตรวจพบนักเดินทางคนหนึ่งที่เพิ่งกลับจากมาลาวีติดโควิดสายพันธุ์โอไมครอน และกำลังติดตามนักเดินทาง 800 คนที่กลับจากประเทศในแถบแอฟริกาตอนใต้เมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่ออสเตรเลียแถลงเมื่อเช้าวันอาทิตย์ว่า กำลังตรวจว่า ผู้ติดโควิด 2 คนหลังกลับจากแอฟริกาตอนใต้ติดไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่

การระบาดของโอไมครอนอย่างรวดเร็วในกลุ่มคนหนุ่มสาวในแอฟริกาใต้เป็นสัญญาณเตือนภัยในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ แม้ยังไม่พบสิ่งบ่งชี้ว่า สายพันธุ์นี้ทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยรุนแรงขึ้นหรือไม่ก็ตาม

บริษัทยาซึ่งรวมถึงแอสตราเซเนกา โมเดอร์นา โนวาแว็กซ์ และไฟเซอร์ ต่างเปิดเผยว่า มีแผนปรับวัคซีนเพื่อรับมือโอไมครอน โดยไบโอเอ็นเทคที่เป็นพันธมิตรกับไฟเซอร์ คาดว่า จะสามารถปรับวัคซีนได้ภายใน 100 วัน

แอนดรูว์ พอลลาร์ด ผู้อำนวยการออกซ์ฟอร์ด วัคซีน กรุ๊ป ที่พัฒนาวัคซีนแอสตราเซเนกา แสดงความเห็นแง่บวกว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาควรมีประสิทธิภาพต่อต้านโอไมครอน แต่จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายสัปดาห์จึงจะยืนยันได้

ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่า การอุบัติของไวรัสสายพันธุ์ใหม่สะท้อนว่า การที่ชาติรวยกักตุนวัคซีนอาจทำให้วิกฤตโรคระบาดยิ่งยืดเยื้อ โดยขณะนี้มีประชากรไม่ถึง 6% ในแอฟริกาฉีดวัคซีนครบโดส แต่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว ซึ่งสถานการณ์นี้จะเพิ่มความเสี่ยงให้ไวรัสกลายพันธุ์และอันตรายยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น