เอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เองระบุ ปฏิบัติการทางอากาศของอเมริกาในตะวันออกกลางมี “ข้อผิดพลาดร้ายแรงด้านข่าวกรอง” ส่งผลให้พลเรือนหลายพันคน ซึ่งรวมถึงเด็กมากมายต้องสังเวยชีวิต
รายงานของสื่อดัง “นิวยอร์กไทมส์” เมื่อวันเสาร์ (18 ธ.ค.) โดยอ้างอิงเอกสารลับของเพนตากอนกองใหญ่ที่ครอบคลุมการเสียชีวิตของพลเรือนกว่า 1,300 คน เป็นการบ่อนทำลายคำกล่าวอ้างเรื่อยมาของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ว่า อเมริกาทำสงครามด้วยระเบิดที่มีความแม่นยำ
นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า บันทึกเหล่านี้ไม่มีแม้แต่ฉบับเดียวที่ระบุถึงการตรวจสอบพบการกระทำผิดหรือการดำเนินการทางวินัยกับผู้รับผิดชอบ
แม้หลายกรณีที่นิวยอร์กไทมส์กล่าวถึงในรายงานชุดแรกจากทั้งหมดสองชุดที่เตรียมเผยแพร่นั้นเคยเป็นข่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่จากการตรวจสอบของหนังสือพิมพ์ดังฉบับนี้พบว่า จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตซึ่งมีการบันทึกไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างน้อยหลายร้อยคน
รายงานข่าวในวันเสาร์ของนิวยอร์กไทมส์ พูดถึง 3 กรณี โดยที่ 1 ในนั้นคือเหตุการณ์การทิ้งระเบิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2016 ที่หน่วยรบพิเศษของอเมริกาเชื่อว่า เป็นจุดรวมพล 3 แห่งของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ทางเหนือของซีเรีย มีการรายงานเบื้องต้นว่า นักรบไอเอสถูกสังหาร 85 คน แต่แท้จริงผู้เสียชีวิตคือเกษตรกรและชาวบ้านรวม 120 คน
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือการโจมตีในเมืองเราะมาดีของอิรักเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 หลังจากมีภาพชายคนหนึ่งลาก “วัตถุหนักที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร” เข้าไปในที่ตั้งของไอเอส ซึ่งผลการตรวจสอบในภายหลังพบว่า วัตถุดังกล่าวคือเด็กที่เสียชีวิตจากการโจมตี
รายงานระบุว่า ภาพจากการสอดแนมคุณภาพต่ำมักเป็นสาเหตุความล้มเหลวในการล็อกเป้าที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต
เมื่อไม่นานมานี้เอง อเมริกาต้องถอนคำอวดอ้างที่ว่า รถยนต์ซึ่งถูกโดรนของตนทำลายบนถนนในกรุงคาบูลของอัฟกานิสถานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีระเบิดซุกซ่อนอยู่ เพราะกลายเป็นว่า เหยื่อในการโจมตีดังกล่าวเป็นครอบครัวที่มีสมาชิก 10 คน และมีเด็กอยู่ด้วย
รายงานเสริมว่า พลเรือนที่รอดชีวิตจำนวนมากกลายเป็นคนพิการที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง แต่ผู้ที่ได้รับเงินชดเชยจริงมีแค่หลักสิบรายเท่านั้น
ทางด้าน บิลล์ เออร์บัน โฆษกกองบัญชาการทหารด้านกลาง (CENTCOM) ของสหรัฐฯ ตอบข้อซักถามของนิวยอร์กไทมส์เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยยอมรับว่า แม้แต่เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลกยังเกิดข้อผิดพลาดได้ ไม่ว่าจะโดยข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หรือการตีความข้อมูลผิดพลาดก็ตาม และอเมริกาพยายามเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้น รวมถึงพยายามป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย สืบสวนทุกเหตุการณ์ และเสียใจกับทุกชีวิตผู้บริสุทธิ์
อเมริกาเพิ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในตะวันออกกลางอย่างรวดเร็วในช่วงปีท้ายๆ ของคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ขณะที่การสนับสนุนจากชาวอเมริกันสำหรับสงครามภาคพื้นดินที่ไม่รู้จบเริ่มเหือดแห้งลง
โอบามา ระบุว่า แนวทางใหม่ที่มักมีการใช้โดรนจากพื้นที่ห่างไกลมากเข้าปฏิบัติการโจมตีนั้นถือเป็นปฏิบัติการโจมตีทางอากาศที่แม่นยำที่สุดในประวัติศาสตร์ และสามารถลดการเสียชีวิตของพลเรือนให้เหลือน้อยที่สุด
ด้านเพนตากอนขานรับว่า เทคโนโลยีใหม่ทำให้สามารถทำลายเฉพาะบางส่วนของบ้านหรืออาคารที่มีนักรบต่างชาติซ่องสุมอยู่ ขณะที่โครงสร้างที่เหลือยังปลอดภัย
ทว่า ในระยะเวลา 5 ปี กองกำลังอเมริกันทำการโจมตีทางอากาศในอัฟกานิสถาน อิรัก และซีเรียมากกว่า 50,000 ครั้ง โดยมีความแม่นยำน้อยกว่าที่โฆษณาชวนเชื่อไว้
ในการเก็บข้อมูลเพื่อทำรายงานชิ้นนี้ ผู้สื่อข่าวของนิวยอร์กไทมส์เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่ที่ถูกโจมตีกว่า 100 แห่ง และสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจำนวนมาก รวมถึงเจ้าหน้าที่อเมริกันทั้งในปัจจุบันและอดีต
นิวยอร์กไทมส์ได้รับเอกสารของเพนตากอนจากการร้องขอภายใต้กฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารตั้งแต่เดือนมีนาคม 2017 รวมทั้งจากการฟ้องร้องเพื่อให้ส่งมอบเอกสารจากกระทรวงกลาโหม และจากกองบัญชาการด้านกลาง
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มโจมตีทางอากาศ กองทัพต้องศึกษาเกณฑ์วิธีเพื่อประเมินและลดการเสียชีวิตของพลเรือนให้เหลือน้อยที่สุด กระนั้นมีโอกาสอย่างมากที่ข้อมูลข่าวกรองจะทำให้เกิดการเข้าใจผิด ไม่เพียงพอ หรือหลายครั้งนำไปสู่ความผิดพลาดร้ายแรง
นิวยอร์กไทมส์ยกตัวอย่างวิดีโอที่ถ่ายจากอากาศซึ่งไม่ได้แสดงภาพคนในอาคาร ใต้ร่มไม้ ผ้าใบ หรือวัสดุอะลูมิเนียม
นอกจากนั้น ยังอาจมีการตีความข้อมูลผิดพลาด เช่น คนที่วิ่งไปยังสถานที่ที่เพิ่งถูกทิ้งระเบิดอาจถูกสันนิษฐานว่า เป็นข้าศึก ไม่ใช่หน่วยกู้ภัย
โฆษกกองบัญชาการด้านกลางของสหรัฐฯ ยืนยันว่า ทีมวางแผนการโจมตีทางอากาศทำดีที่สุดแล้วภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่ง และเสริมว่า ในสถานการณ์สู้รบมากมายที่ทีมวางแผนพบภัยคุกคามที่น่าเชื่อถือและไม่มีเวลามากนัก ความสับสนอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่เป็นอันตรายต่อพลเรือนได้
(ที่มา : เอเอฟพี)