(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Russia stepping up its Pacific military presence
By SCOTT FOSTER
14/12/2021
รัสเซียกำลังเพิ่มความสำคัญให้แก่การสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ และการป้องกันชายฝั่ง ในอาณาบริเวณทางทะเลใกล้ๆ กับญี่ปุ่น อันเป็นพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวสุดๆ
โตเกียว - ช่างเป็นช่วงปลายปีที่งานยุ่งจริงๆ สำหรับกองทหารรัสเซียในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งมุ่งมั่นทำให้ตนเองกลายเป็นปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ปัจจัยหนึ่งที่สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และประดาพันธมิตรในแปซิฟิกของพวกเขา ไม่กล้าละเลยมองข้าม
ตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 17 ตุลาคม รัสเซียกับจีนเปิดการซ้อมรบทางนาวีร่วมกันในทะเลญี่ปุ่น
จากนั้นในวันที่ 18 ตุลาคม เรือรบของรัสเซียและของจีน แล่นผ่านช่องแคบซึงารุ (Tsugaru Strait) ที่อยู่ระหว่างเกาะฮอนชู กับเกาะฮอกไกโด แล้วลงมาตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกของญี่ปุ่น ผ่านช่องแคบโอซุมิ (Osumi Strait) ระหว่างพื้นที่ใต้สุดของเกาะกิวชู กับเกาะทาเนงาชิมะ (Tanegashima) อันเป็นที่ตั้งของสถานที่ยิงจรวดสู่อวกาศของญี่ปุ่น และเข้าสู่ทะเลจีนใต้ซึ่งหลายๆ ประเทศพิพาทช่วงชิงกันอยู่
รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น โยชิฮิโกะ อิโซซากิ (Yoshihiko Isozaki) บอกกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่น “เฝ้าจับตามองกิจกรรมต่างๆ ของเรือรบจีนและเรือรบรัสเซียที่แล่นรอบญี่ปุ่นเช่นนี้ด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เราจะไม่มีการปล่อยปละ แต่จะส่งคำเตือนและออกปฏิบัติการตรวจการณ์ทั้งทางอากาศและทางทะเลรอบๆ ญี่ปุ่น”
อีก 1 สัปดาห์ถัดมา ขณะไปพูดที่ฐานทัพนาวี ณ กองบัญชาการโยโกสุกะ (Yokosuka headquarters) ของกองเรือที่ 7 (Seventh Fleet) บริเวณฟากตะวันตกของอ่าวโตเกียว รัฐมนตรีทบวงทหารเรือสหรัฐฯ (US Navy Secretary) คาร์ลอส เดล โทโร (Carlos Del Toro) กล่าวเอาไว้ดังนี้:
ผมเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียนั้น --บางทีอาจจะเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ – มีการวิวัฒนาการไปในหนทางซึ่งพวกเขากำลังพยายามข่มขู่คุกคามชาติอื่นๆ ด้วยการกระทำต่างๆ ของพวกเขาที่ไม่ได้เป็นการทำตามระเบียบระหว่างประเทศซึ่งอิงอยู่กับกฎเกณฑ์ ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องป้องปรามพวกเขาอย่างเต็มที่ ไม่ให้ข่มเหงรังแกประเทศอื่นๆ และทำตัวเป็นผู้ก้าวร้าวรุกรานไม่ว่าจะในลักษณะใดก็ตามที
เดล โทโร กล่าวอีกว่า เสรีภาพในการเดินเรือในน่านน้ำระหว่างประเทศ คือ “สิ่งอัศจรรย์อย่างแท้จริง” – ทว่ามีหลักฐานยืนยันด้วยเช่นกันว่า ไม่ใช่ว่าเสรีภาพในการเดินเรือในที่ต่างๆ จะมีความอัศจรรย์เสมอหน้าเท่าเทียมกันไปเสียทั้งหมด
เราควรต้องตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์แบบที่เรือรบรัสเซียกับเรือรบจีนกระทำรอบๆ ญี่ปุ่น เป็นสิ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นมาได้ เนื่องจากเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 ญี่ปุ่นถูกโน้มน้าวให้ลดการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตทะเลในช่องแคบทั้ง 2 แห่ง จากปกติ 12 ไมล์ทะเล ลงมาเหลือแค่ 3 ไมล์ทะเล ทั้งนี้เพื่อเปิดช่องให้พวกเรือรบอเมริกันที่กำลังบรรทุกอาวุธนิวเคลียร์อยู่ สามารถแล่นผ่านไปมาได้โดยไม่เป็นการล่วงละเมิดหลักการข้อที่ 3 ใน “3 หลักการไม่เอานิวเคลียร์” (Three Non-Nuclear Principles) ของญี่ปุ่น –ซึ่งประกอบด้วย การไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์, การไม่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์, และการไม่ให้อาวุธนิวเคลียร์เข้ามาในดินแดนของตน
ผลลัพธ์ก็คือ ช่องตรงกลางๆ ของช่องแคบทั้งสองถูกจัดชั้นให้เป็นน่านน้ำระหว่างประเทศ
ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น จึงต้องบอกกับสื่อมวลชนเรื่องการแล่นเข้ามาใกล้ของเรือรบจีนและรัสเซียคราวนี้ว่า “ไม่มีการละเมิดน่านน้ำอาณาเขต และไม่มีการละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ”
การฝึกร่วมระหว่างอาเซียน-รัสเซีย
ต่อมาในวันที่ 28 ตุลาคม มีการจัดประชุมซัมมิตอาเซียน-รัสเซียครั้งที่ 4 โดยผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเป็นการรำลึกวาระครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างอาเซียนกับสหพันธรัฐรัสเซีย
ตามคำแถลงร่วมที่ออกมาภายหลังการประชุมซัมมิตครั้งนี้ ทั้งสองฝ่าย:
ย้ำยืนยันความสนับสนุนอย่างไม่คลอนแคลนในเรื่องการรักษาความเป็นแกนกลาง (centrality) ของอาเซียน ในสถาปัตยกรรมของภูมิภาคที่กำลังมีการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งย้ำยืนยันพันธะผูกพันที่จะเพิ่มความเข้มแข็งและสร้างโมเมนตัมใหม่ๆ ให้ก่บรรดากลไกที่นำโดยอาเซียน เพื่อให้สามารถเผชิญความท้าทายต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น และหยิบคว้าโอกาสต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมในภูมิภาคและในทั่วโลกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
จากนั้นในวันที่ 1 ธันวาคม การเอ็กเซอร์ไซส์ทางนาวีระหว่างอาเซียน-รัสเซียครั้งแรกก็เริ่มต้นขึ้น ที่บริเวณนอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ของอินโดนีเซีย โดยที่มีเรือ 8 ลำและเครื่องบิน 4 ลำจากอินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไทย, พม่า, เวียดนาม, บรูไน, และรัสเซีย ร่วมการฝึกเป็นเวลา 3 วันคราวนี้ ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็เข้าร่วมด้วยการส่งผู้สังเกตการณ์
การเอ็กเซอร์ไซส์ทางนาวีครั้งนี้ --ซึ่งประกอบด้วยการเคลื่อนพล, การติดต่อสื่อสาร, การค้นหาและกู้ภัย, และการรับมือจัดการกับพวกเรือต้องสงสัย— มุ่งหมายให้เป็นการสนับสนุนพันธะผูกพันร่วมกันประการหนึ่ง ที่ได้รับการยืนยัน ณ การประชุมซัมมิต ซึ่งได้แก่ “การรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล, เสรีภาพในการเดินเรือและในการบินเหนือน่านฟ้า, และการพาณิชย์ที่ไม่ถูกรบกวนก่ออุปสรรค”
รัสเซียนั้น ส่งเรือพิฆาต “แอดมิรัล ปันเทเลเยฟ” (Admiral Panteleyev ที่ได้รับการจัดชั้นว่าเป็น “เรือต่อสู้เรือดำน้ำขนาดใหญ่) ของกองเรือแปซิฟิกของรัสเซีย เป็นตัวแทนเข้าร่วม โดยที่ อเล็กเซ โบลอตนิคอฟ (Aleksei Bolotnikov) ผู้บังคับการเรือพิฆาตลำนี้ กล่าวในการแถลงข่าวสื่อมวลชนว่า เขาหวังว่าในการเอ็กเซอร์ไซส์ทางนาวีอาเซียน-รัสเซียครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่วลาดิวอลสต็อก เมืองใหญ่ในดินแดนตะวันออกไกลของรัสเซีย
การฝึกซ้อมทางนาวีเหล่านี้เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการที่รัสเซียมีความสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มันไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงยุทธศาสตร์
อาเซียนนั้นมีการจัดเอ็กเซอร์ไซส์ทางนาวีร่วมกับจีนและสหรัฐฯเช่นกัน เห็นได้ชัดว่า อาเซียนวาดหวังที่จะประคับประคองรักษา “ความเป็นแกนกลาง” ของตนเอาไว้
การป้องกันหมู่เกาะคูริล
ในวันที่ 2 ธันวาคม อาร์ที (RT เมื่อก่อนเคยใช้ชื่อว่า รัสเซียทูเดย์ เป็นเครือขายโทรทัศน์ระหว่างประเทศที่ควบคุมโดยรัฐของรัสเซีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/RT_(TV_network) –ผู้แปล) รายงานว่า สหพันธรัฐรัสเซียได้นำเอาระบบป้องกันขีปนาวุธแบบเคลื่อนที่ได้เข้าประจำบนเกาะมาตูอา (Matua) มาตูอา ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของกลุ่มเครือข่ายหมู่เกาะคูริล (Kuril Island Chain) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่คาบสมุทรคัมชัตกา (Kamchatka) ในดินแดนตะวันออกไกลของรัสเซีย ลงมาจนถึงเกาะฮอกไกโด ดินแดน “แนวคูริล” (Kuril Ridge) ที่เรียกกันในภาษารัสเซียนี้ ถือเป็นกำแพงด้านนอกของทะเลโอค็อตสค์ (Okhotsk)
สภาพแวดล้อมที่นี่ไม่ได้มีความสบายเอาเสียเลย หมู่เกาะคูริลซึ่งเป็นหมู่เกาะภูเขาไฟนั้น ทั้งอากาศหนาว, ลมแรง, เต็มไปด้วยหมอก, และเปียกชื้น ภูเขาไฟ ซารีเชวา (Sarycheva) ที่พ่นควันโขมงออกมาไม่ขาดสาย และเป็นพื้นที่หลักของเกาะมาตูอา ยังคงระเบิดปะทุขึ้นแทบทุกๆ 2-3 ปี โดยครั้งล่าสุดคือในเดือนมกราคม 2021 นี่เอง ในภาษาไอนุ (Ainu) ที่เป็นประชากรดั้งเดิมของหมู่เกาะคูริลและฮอกไกโด มาตูอา แปลว่า “ปากนรก”
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทหารญี่ปุ่นสร้างฐานทัพขนาดใหญ่ขึ้นบนเกาะมาตูอา โดยมีทั้งสนามบินและค่ายทหารสำหรับทหารจำนวนหลายพันคน เครื่องบินอเมริกันได้ทิ้งระเบิดโจมตีฐานทัพแห่งนี้ ส่วนกองทัพเรือสหรัฐฯก็ซัลโวถล่มเช่นกัน และหน่วยปราบเรือดำน้ำที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งหน่วยหนึ่งของญี่ปุ่น สามารถจมเรือดำน้ำอเมริกัน “ยูเอสเอส เฮอร์ริง” (USS Herring) ได้สำเร็จ หลังจากเรือดำน้ำลำนี้จมเรือญี่ปุ่นไปหลายลำในบริเวณน่านน้ำใกล้เคียง
ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แฮร์รี เอส.) ทรูแมน (Harry S. Truman) ได้ถาม (โจเซฟ) สตาลิน (Joseph Stalin ผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียต) ว่า เขาจะโอนอำนาจควบคุมเหนือมาตูอาให้แก่สหรัฐฯหรือไม่ ครั้นเมื่อ สตาลิน เสนอแลกเปลี่ยนเกาะแห่งนี้กับเกาะแห่งหนึ่งในกลุ่มเครือข่ายหมู่เกาะอะลูเชียน (Aleutian chain กลุ่มเครือข่ายหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ระหว่างรัฐอะแลสกา ของสหรัฐฯ กับคาบสมุทรคัมชัตกา ของรัสเซีย) การสนทนาก็เลยจบลงตรงนั้น
ญี่ปุ่นเคยใช้หมู่เกาะคูริลในการควบคุมทางเข้าออกทะเลโอค็อตสค์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่รัสเซียทำอยู่ในทุกวันนี้ รัสเซียยังมีหน่วยขีปนาวุธและสนามบินตั้งอยู่ในหมู่เกาะปารามูเชียร์ (Paramushir) นอกปลายแหลมตอนใต้ของหมู่เกาะคัมชัตกา และที่ อิตูรัป (Iturup ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า อีโตโรฟุ Etorofu) และที่ คุนาเชียร์ (Kunashir ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า คุนาชิริ Kunashiri) ใกล้ๆ เกาะฮ็อกไกโด ซึ่งต่างเป็นดินแดนที่ญี่ปุ่นอ้างกรรมสิทธิ์อยู่
ในภาษาไอนุ คูนาเชียร์แปลว่า “เกาะสีดำ” ส่วน อิตูรัป แปลว่า “ปลาแซลมอนตัวใหญ่” ชาวไอนุ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่น้อยเหลือเกินแล้ว ไม่ได้มีปากมีเสียงอะไรนักในกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นที่ว่าใครกันแน่เป็นเจ้าของผู้ทรงสิทธิเหนือหมู่เกาะเหล่านี้
ในภาษาญี่ปุ่น คุนาชิริ เขียนเลียนเสียงโดยใช้ตัวอักษรซึ่งหมายถึง “ประเทศ” และ “ข้างหลัง” หรือ “ด้านหลัง” – ซึ่งเมื่อนึกย้อนกลับไป บางทีอาจจะเป็นการเลือกที่โชคไม่ดีเลย สำหรับ อิโตโรฟุ เขียนเลียนเสียงโดยใช้ตัวอักษรที่หมายถึง “เลือก” และ “จับ” –โดยอาจจะหมายถึงการจับปลาแซลมอนตัวใหญ่กระมัง?
การเผชิญหน้าใกล้ๆ วลาดิวอลสต็อก
เพียงเมื่อสัก 1 ปีเศษๆ ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการของกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ได้ออกคำแถลงดังต่อไปนี้:
อ่าวปีเตอร์มหาราช (PETER THE GREAT BAY) - ในวันที่ 24 พฤศจิกายน (เวลาท้องถิ่น) เรือ ยูเอสเอส จอห์น เอส แมคเคน (USS John S. McCain เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี เลขรหัสประจำเรือคือ DDG56) ยืนยันในสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือในบริเวณใกล้เคียงกับอ่าวปีเตอร์มหาราช ในทะเลญี่ปุ่น การปฏิบัติการเพื่อสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation operation หรือ “FONOP”) ครั้งนี้ เป็นการยึดมั่นในสิทธิ, เสรีภาพ, และการใช้ทะเลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามที่รับรองเอาไดว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการท้าทายการกล่าวอ้างสิทธิทางทะเลอย่างเกินเลยของรัสเซีย
ทางด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้แถลงตอบโต้ดังต่อไปนี้: เรือพิฆาตต่อสู้เรือดำน้ำ “แอดมิรัล วิโนกราดอฟ” (Admiral Vinogradov) ของกองเรือแปซิฟิก (ของรัสเซีย) ใช้ช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ เพื่อเตือนเรือต่างชาติลำนี้ว่า การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และผู้ล่วงละเมิดอาจถูกขับไล่ให้ออกไปจากน่านน้ำอาณาเขตของประเทศ (รัสเซีย) ด้วยการเคลื่อนกำลังออกมาไล่ชน หลังจากออกคำเตือนดังกล่าว เรือแอดมิรัล วิโนกราดอฟ ก็เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือของตน และเรือพิฆาต ยูเอสเอส จอห์น เอส แมคเคน ก็หวนกลับเข้าสู่น่านน้ำระหว่างประเทศ
ตามรายงานข่าวหลายกระแสซึ่งพูดถึงเหตุการณ์คราวนี้ระบุว่า เรือจอห์น เอส. แมคเคน ได้แล่นเข้าไปในอ่าวปีเตอร์มหาราช เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร โดยที่พื้นที่นี้อยู่ใกล้ๆ กับกองบัญชาการของกองเรือแปซิฟิกของรัสเซีย และปากทางเข้าออกอ่าววลาดิวอลสต็อก
ในเดือนต่อมา สื่อ นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) ของญี่ปุ่น อ้างคำพูดของ ศาสตราจารย์ อาร์ตีโอม ลูคิน (Artyom Lukin) แห่ง มหาวิทยาลัยสหพันธ์ตะวันออกไกล (Far Eastern Federal University) ของรัสเซีย ซึ่งกล่าวว่า: “ถ้าคุณดูที่พวกระบบอาวุธซึ่งกระทรวงกลาโหมรัสเซียนำเข้าประจำการในภาคตะวันออกไกลในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ คุณย่อมสังเกตเห็นได้ว่า ระบบอาวุธเหล่านี้มุ่งหมายที่จะขจัดปัดเป่าภัยคุกคามจากทางทะเลและทางอากาศ ไม่ใช่ภัยคุกคามจากจีนที่ยึดโยงอยู่กับภาคพื้นดิน ... จุดเน้นหนักในการวางแผนทางทหารในภาคตะวันออกไกลนั้นมุ่งหมายที่การควบคุมจำกัดภัยคุกคามของสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น”
ยังมีกรณีการเผชิญหน้ากันใกล้ๆ ระหว่างเรือของกองทัพเรืออเมริกันและของกองทัพเรือรัสเซียในทะเลญี่ปุ่น กรณีอื่นๆ มากกว่านี้อีก และบางทีในเวลาต่อจากนี้ไปก็อาจจะมีเพิ่มขึ้นๆ
สกอตต์ ฟอสเตอร์เป็นนักวิเคราะห์อยู่กับ ไลต์สตรีท รีเสิร์ช (Lightstream Research) กรุงโตเกียว